ศธจ.มหาสารคาม ชี้กลุ่มครูพักหนี้ ช.พ.ค.ส่วนใหญ่ ‘ครูเกษียณ’ บำนาญไม่พอรายจ่าย แนะหาทางออกร่วมกัน

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม ที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม ดร.ครรชิต วรรณชา ศึกษาธิการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า กรณีครูที่ออกมาประกาศปฏิญญาขอยุติการชำระหนี้ ช.พ.ค. ให้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป ตนมองว่า การที่กลุ่มครูออกมาเคลื่อนไหวนั้นถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ แต่ไม่เหมาะสม ซึ่งกลุ่มครูที่ออกมาเคลื่อนไหวส่วนใหญ่พบว่าเป็นข้าราชการเกษียณ ซึ่งรายได้จากเงินบำนาญอาจไม่พอกับค่าใช้จ่าย ซึ่งตนเองเป็นแค่ผู้รับผิดชอบพื้นที่ ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชา แต่ภายหลังจากทราบข่าวได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบ ทั้ง ผอ.กลุ่มและนิติกรตรวจสอบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และจะได้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบ

“ผมเคยรับตำแหน่ง ผอ.เขตการศึกษามาก่อนที่จะมารับตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด ที่ผ่านมาเคยทำบันทึกข้อตกลงหรือ MOU กับทางธนาคารออมสินและ สกสค.ในแต่ละจังหวัดว่า หลังจากได้ยื่นกู้และได้รับเงินตามสิทธิแล้ว พันธะที่ต้องดำเนินการคือเรื่องหนี้สิน ซึ่งก่อนหน้านั้นพี่น้องครูอาจยังไม่เดือดร้อน แต่หลังจากที่เกษียณแล้ว เงินที่หักจ่ายในแต่ละเดือน อาจจะมากจนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่ทราบมาว่าทางผู้บังคับบัญชาในระดับสูงสุดของแต่ละกระทรวง แต่ละกรม ได้ช่วยประนีประนอมไกล่เกลี่ยเรื่องนี้มาโดยตลอด ที่ผ่านมาเคยมีการพูดคุยกัน ทราบว่า 1.จะมีการคืนส่วนต่างที่เคยให้กับหน่วยงานที่หัก ให้กับสมาชิกที่มีประวัติการส่งเงินดี 2.เรื่องดอกเบี้ยก็ได้มีการพูดคุยกัน มีการปรับโครงสร้างหนี้ แต่รายละเอียดต่างๆ ก็ออกมาเป็นข่าวได้ไม่นานก็เงียบหายไป” ดร.ครรชิตกล่าว

ดร.ครรชิตกล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของจังหวัดมหาสารคาม ถือว่าพี่น้องเพื่อนครูให้ความร่วมมือดี ยินยอมให้หักเงิน ปัญหาเช่นนี้ถามว่าผิดวินัยหรือไม่ ในเชิงกฎหมายถือว่ายังไม่ผิด เพราะจากข่าวที่ปรากฏออกไปถือว่าเป็นปฏิญญาเฉยๆ แต่หากไม่ส่งเงิน ซึ่งทางธนาคารออมสิน หรือ สกสค.มีข้อกฎหมายระบุไว้ในสัญญาอยู่แล้ว หากผู้กู้ไม่ส่งเงินต่อ จนเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย จนศาลสูงสุดพิพากษาว่าเป็นบุคคลล้มละลาย ตรงนั้นถือจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัย ว่าด้วย พ.ร.บ.ระเบียบครูฉบับปัจจุบัน แก้ไขเพิ่มเติมคือ คุณสมบัติของครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น จะต้องไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ตรงนั้นถือจะเข้าสู่กระบวนการทางวินัย ซึ่งมาถึงจุดนี้เราจะต้องช่วยกันหาทางออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพลักษณ์ของครูที่ออกไป เราเป็นพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ของชาติ ตนมองว่ายังมีอีกหลายทางออก ในส่วนของจังหวัดมหาสารคาม หากดูจากข้อมูลข้าราชการครูที่มีหนี้อยู่ในภาวะวิกฤต ถือว่ามีไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณ เพราะเงินบำนาญอาจจะน้อย คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่น่าจะถึง 5%

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image