‘สุรินทร์’ จัดใหญ่อุปสมบทหมู่ อลังการแห่นาคบนหลังช้าง เฉลิมพระเกียรติ ร.10

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่บริเวณลานพระครูปะกำ โครงการคชอาณาจักร องค์การสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ บ้านภูดิน ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ พระครู ดร.สมุห์หาญ ปัญญาธโร เจ้าอาวาสวัดป่าอาเจียง พร้อมด้วย ผู้จัดการโครงการคชอาณาจักร (คต-ชะ-อา-นา-จัก) องค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประชาชนชุมชนชาวกูยคนเลี้ยงช้าง กว่า 200 คน ได้จัดพิธี เซ่นไหว้ บวงสรวงอนุสาวรีย์ รูปเหมือนพระครู ปะกำ ที่ชาวกูย ชุมชนคนเลี้ยงช้าง ให้ความเคารพกราบไหว้ ก่อนที่จะนำช้างเข้าร่วมกิจกรรม ช้าง 50 เชือก เข้าร่วมขบวนแห่นาค บนหลังช้าง

โดยครูบาใหญ่ บุญมา แสนดี อายุ 91 ปี  ซึ่งเป็นหมอช้างรุ่นแรกอายุมาก ของชาวกูย คนเลี้ยงช้าง ได้นำประกอบพิธี นำอาหารเครื่องคาว หวาน น้ำดื่ม เซ่นไหว้ บวงสรวง รูปเหมือนพระครู ปะกำ พร้อมเป่าเสนงเกล หรือแตรทำจากเขาควาย ใช้เป่าเมื่อจะออกคล้องช้างในอดีต เสร็จจากพิธีเซ่นไหว้

หลังจากนั้นนาค ทั้ง 80 นาค ได้ขึ้นนั่งบนหลังช้าง 50 เชือก ได้ตั้งริ้วขบวนแห่นาค บนหลังจาก 50 เชือก อย่างยิ่งใหญ่อลังการ เริ่มจากริ้วขบวนของนักเรียน อัญเชิญ พระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาล ที่ 10 ริ้วขบวนแห่เทียนพรรษา ขบวนปะเพณีวัฒนธรรม ของชุมชนชาวกูย และตามด้วย ขบวนช้าง โดยช้างเชือกแรก อันเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ ในหลวงรัชกาล ที่ 10 เดินนำหน้าอย่างสง่างาม ตามด้วยขบวนนาค ที่นั่งบนหลังช้าง อย่างสวยงาม

การแต่ตัวนาคของชุมชนชาวกูย จะแต่งตัวไม่เหมือนนาค จากพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย นาคชุมชนชาวกูยจะแต่งตัวนาคแบบแต่งหน้าทาปาก นุ่งโสร่งสวมเสื้อขาวสว่าง คลุมผ้าสี และสวมกระโจมนาคหรือชฎานาค ซึ่งแต่ละชิ้นนั้นก็จะมีความหมายที่แตกต่างกันออกไป อาทิ “ผ้าหลากสี” เปรียบดังแสงรุ้ง 7 สีของผู้มีบุญวาสนา “เสื้อสีขาวสว่าง” คือการไม่หมกมุ่นในที่มืด และ “กระโจมนาค” หรือ “ชฎานาค” ที่ทำจากไม้ไผ่และตกแต่งด้วยกระดาษสี ห้อยนุ่นไว้ด้านข้างนั้น มีความหมายว่า ยอดที่แหลมเปรียบดั่งสมองอันหลักแหลมในการศึกษาพระธรรม กระดาษสีเปรียบดั่งความเปลี่ยนแปลงของแสงสี ไม่ให้เราหลงละเลิงไปกับมันเพราะทุกอย่างมีทั้งดีและไม่ดี มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และ “นุ่น” ที่ห้อยไว้ด้านข้างของกระโจมนาค ถูกใช้แทนต่างหู เปรียบได้ว่าอย่าได้เป็นคนหูเบา อีกทั้งยังมีเครื่องประดับอื่นๆ อีกเช่น สังวาล, ตรึม, กำไล (เครื่องประดับโบราณ) ซึ่งปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นได้สูญหายไปหมดแล้ว จึงมีการใส่สร้อยทองแทน

Advertisement

ขบวนแห่นาคบนหลังช้าง เดินด้วยเท้า เป็นระยะทาง 4 กิโลเมตร เข้ามายังบริเวณวัดและศาลาเอราวัณ ภายในวัดป่าอาเจียง บ้านหนองบัว ต.กระโพ เพื่อเข้าอุโบสถ และประกอบพิธีอุปสมบทเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และจะปฏิบัติกิจของสงฆ์ ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในช่วงเข้าพรรษา ต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image