คืนนี้ถึงเช้า! ชม 3 ปรากฎการณ์ใหญ่ ดาวอังคารตรงข้ามดวงอาทิตย์-จันทรุปราคาเต็มดวง-ดวงจันทร์ไกลโลกสุด

นักดาราศาสตร์ชวน วันอาสาฬหบูชาต่อเนื่องถึงวันเข้าพรรษาและวันเฉลิมพระชนมพรรษานี้ เกิด 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ตลอดคืน 27 จรดจนถึงรุ่งเช้า 28 ก.ค. ดาวอังคารอยู่ตรงข้ามดวงอาทิตย์ ก่อนโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี ทำให้สว่างมากและมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ คืนเดียวกันยังเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่ 2 ในรอบปี คราสเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที นานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี เชิญชวนคนไทยชม 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ระบุจะมองเห็นดาวอังคารสีแดง เคียงดวงจันทร์สีแดงบนฟากฟ้าเห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดเจนเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

วันที่ 26 กรกฎาคม นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ และที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า “ในค่ำคืนวันที่ 27 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 จะมีปรากฏการณ์สำคัญ ทางดาราศาสตร์ รวม 3 ปรากฏการณ์ ประกอบด้วย

***ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ที่ระยะห่าง 57.8 ล้านกิโลเมตร เราจะมองเห็นดาวอังคารสีส้มแดงสุกสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้และมีขนาดใหญ่กว่าปกติ สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ตลอดคืน

***จันทรุปราคาเต็มดวง ในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 27 กรกฎาคม คราสเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที เวลา 02.30 – 04.13 น. นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21

Advertisement

และ ***ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่าง 406,086 กิโลเมตร ในขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ยังตรงกับช่วงดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี ดังนั้นในคืนดังกล่าว เราจึงจะเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงในช่วงที่ดวงจันทร์มีขนาดเล็กที่สุดในรอบปี และยังจะเห็น “ดาวอังคารสีแดง เคียงดวงจันทร์สีแดง” อีกด้วย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าชัดเจน

ทั้งนี้การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง เริ่มหลังจากเที่ยงคืนวันที่ 27 กรกฎาคม 2561 เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ครั้งที่ 2 ในรอบปี 2561 คราสเต็มดวง จะพาดผ่านทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา บางส่วนของทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และขั้วโลกใต้ สำหรับประเทศไทยสามารถสังเกตการณ์ได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ สังเกตได้ด้วยตาเปล่า ตั้งแต่เวลา 00.14 – 06:10 น.

“ในประเทศไทยสามารถเห็นคราสเต็มดวง ตั้งแต่เวลา 02.30 – 04.13 น. นานถึง 1 ชั่วโมง 43 นาที นับเป็นจันทรุปราคาที่เต็มดวงยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และยังเป็นจันทรุปราคาในช่วงที่ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี ที่ระยะทาง 406,086 กิโลเมตร นับเป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่ดวงจันทร์สีแดงอิฐมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย” นายวรวิทย์ กล่าว

Advertisement

และกล่าวต่อไปว่า “หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบเฉลิมพระชนมพรรษาฉะเชิงเทรา เป็นหอดูดาวภูมิภาคตะวันออก ที่ใกล้กรุงเทพฯที่สุด ได้จัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวอังคารใกล้โลก และจันทรุปราคาเต็มดวง ในคืนวันที่ 27 ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึงรุ่งเช้าเวลา 04.30 น.

นอกจากนี้ คืนดังกล่าวยังมีวัตถุท้องฟ้าดาวเคราะห์มากมายให้สังเกตการณ์ อาทิ ดาวศุกร์ในช่วงเวลาหัวค่ำปรากฏทางทิศตะวันตก ตามประกอบด้วยดาวพฤหัสบดีปรากฏทางทิศใต้ในมุมสูงบริเวณกลุ่มดาวคันชั่ง และดาวเสาร์ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ตลอดจนจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์อื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น แนะนำการดูดาวเบื้องต้น เรียนรู้ท้องฟ้าและกลุ่มดาวต่างๆ รวมทั้งปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงอีกด้วย”นายวรวิทย์ กล่าว

และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ ในคืนวันที่ 27 กรกฎาคม 2561 ในการสังเกตการณ์ดาวอังคาร ที่จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นดาวอังคารจะโคจรเข้าใกล้โลกเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใกล้โลกที่สุด ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่ระยะห่าง 57.6 ล้านกิโลเมตร จากระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 225 ล้านกิโลเมตร เป็นการโคจรใกล้โลกที่สุดในรอบ 15 ปี นับตั้งแต่ปี 2546 ดาวอังคารจะสว่างมาก และมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติ สังเกตเห็นได้หลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดทั้งคืนไปจนถึงรุ่งเช้าในวันถัดไป ซึ่งในวันดังกล่าวทางหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบเฉลิมพระชนมพรรษาฉะเชิงเทรา ได้จัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์เช่นเคย”นายวรวิทย์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image