สมาคมประมงแม่กลองขีดเส้น 1 ส.ค.รัฐบาลแก้8 ปม ไม่เช่นนั้นหยุดเรือทั่วประเทศ

ภาคประมงในจังหวัดสมุทรสงครามเตรียมวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ประกาศลั่นหากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน จะหยุดเรือออกหาปลาพร้อมกันทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล หากรัฐบาลเพิกเฉยเดินหน้าถวายฎีกา

ที่ห้องประชุมสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด ต.บางจะเกร็ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม และผู้บริหารภาคประมงในสมุทรสงครามร่วมประชุมสมาชิก 4 องค์กร คือ สมาคมการประมงสมุทรสงคราม, สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม,สหกรณ์ประมงแม่กลอง และสหกรณ์ประมงบางจะเกร็งบางแก้ว เพื่อหารือถึงแนวทางการขับเคลื่อนภาคประมงในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดจากภาครัฐ และอียู โดยเฉพาะประเด็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมงทั่วประเทศ กว่า 40,000 คน ที่ยื่นหนังสือไปหลายหน่วยงานให้แก้ปัญหาแต่ก็ยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน, ปัญหากฎหมายของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, ปัญหากฎหมายของกรมเจ้าท่า, ปัญหากฎหมายของกรมประมง, ปัญหาการแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO, ปัญหา VMS และ ปัญหากระทรวงแรงงานจะดันไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เป็นต้น

ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันถึงความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสมานานกว่า 3 ปีจากการที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายการประมง ระเบียบวิธีปฏิบัติของชาวประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU ภายหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ ใบเหลืองไทยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 แม้ภาคประมงจะหารือถึงแนวทางแก้ไขความเดือดร้อนกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ได้รับการแก้ไขปัญหาน้อยมาก ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้นายกสมาคมประมงทุกสมาคมในจังหวัดสมุทรสงครามเดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องความเดือดร้อนต่อรัฐบาลรวม 8 ประเด็นที่ทำเนียบรัฐบาลแก้ปัญหาในวันพุธที่ 1 สิงหาคมนี้ เวลา 10 นาฬิกา ส่วนในวันเดียวกันชาวประมงในพื้นที่จะยื่นหนังสือเรียกร้องปัญหาความเดือดร้อนที่ศาลากลางจังหวัด พร้อมกับ 22 จังหวัดชายทะเล อย่างไรก็ตามหากไม่ได้รับคำตอบภายใน 7 วัน ในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง ชาวประมงทั่วประเทศจะพร้อมใจกันหยุดเรือออกหาปลาอย่างน้อย 7 วัน และหากยังไม่แก้ปัญหาอีกชาวประมงจะเดินทางไปยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อไป

นายมงคลกล่าวว่า การแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาล 3 ปีที่ผ่านมาชาวประมงเดือดร้อนหนักมากขึ้นทุกวัน ชาวประมงจำนวนมากต้องเลิกอาชีพการทำประมง โดยในอดีตมีเรือประมงพาณิชย์ขนาด 10 ตันกรอสส์ขึ้นไป กว่า 20,000 ลำ แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 10,600 ลำ และก็ยังไม่สามารถออกเรือทำประมงอีกกว่า 2,000 ลำ เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน แม้เดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมาอธิบดีกรมประมงจะใช้อำนาจตามมาตรา 83 พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ขึ้นทะเบียนแรงงานประมงต่างด้าวได้ประมาณ 13,000 ราย นอกเหนือจากการจับคู่ระหว่างนายจ้างเจ้าของเรือประมงกับลูกจ้างต่างด้าวได้ 30,000 คนก่อนหน้านั้น แต่ก็ไม่เพียงพอ ล่าสุดยังขาดแคลนแรงงานประมงอีก 40,000 คน จึงเสนอให้อธิบดีกรมประมงใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าว ขึ้นทะเบียนแรงงานประมง เพื่อนำแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายมาเป็นแรงงานประมงโดยเฉพาะอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังมีปัญหา อีก 7 ประเด็น คือ ปัญหาเรื่องการรับซื้อเรือคืน ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลอนุมัติให้ซื้อเรือคืน แต่ชาวประมงรอมานานกว่า 7 เดือนยังไม่มีความคืบหน้าจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเรื่องการซื้อเรือคืนโดยเร็ว, ส่วนปัญหากฎหมายและกฎระเบียบต่างๆของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมเจ้าท่าและกรมประมง ที่ออกมาบังคับใช้กับชาวประมงระยะหลัง ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ และเกินข้อกำหนดของอนุสัญญาต่างๆ เช่น ประกาศของกรมประมงวันที่ 17 มี.ค. 2560 ที่ให้เจ้าของเรือประมงต้องดำเนินการ 12 ข้อให้ครบถ้วน อาทิ ต้องมีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตการทำประมง ใบอนุญาตนายท้ายเรือ มิเช่นนั้นจะมีความผิดที่มีบทลงโทษรุนแรงตาม พ.ร.ก.การประมง ซึ่งกรมประมงควรดำเนินการในขอบเขตหน้าที่ที่กรมประมงทำก็พอ ไม่ควรไปก้าวล่วงหน้าที่ของกรมเจ้าท่าหรือกรมอื่น ๆ ที่มีบทบัญญัติลงโทษอยู่แล้วหากทำผิด นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินไปในวิธีการปฏิบัติ เช่น การลืมกรอกรายละเอียดในล็อกบุ๊กการจับปลาในบางวัน ก็มีการปรับสูงเป็นเงินกว่า 100,000 บาท ขึ้นไป รวมทั้งกักเรือไว้ก่อน แต่ควรที่จะมีการเตือนก่อนเหมือนที่อียูดำเนินการ เป็นต้น จึงขอให้แก้ปัญหากฎหมายให้เป็นธรรมกับชาวประมง

Advertisement

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการแจ้งเข้าแจ้งออก เนื่องจากแต่ละหน่วยงานและเจ้าหน้าที่แต่ละศูนย์ปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เหมือนกันตามคู่มือการปฏิบัติ ตลอดจนปัญหาค่าบริการรายเดือนของอุปกรณ์ VMS ที่ชาวประมงต้องรับภาระในช่วงที่จอดเรือหยุดทำประมงตามที่รัฐกำหนดอีกด้วย

นายมงคลกล่าวว่าอีกปัญหาที่กำลังจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวประมงภายใน 1-5 ปีข้างหน้า คือ การที่กระทรวงแรงงานจะนำไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา C188 เรือประมงต้องรื้อเก๋งเรือเพื่อทำห้องน้ำ ห้องนอน ห้องครัว ความสูงเพดานเก๋งเรือใหม่ต้องใช้เงินอีกนับล้านบาทต่อลำ ซึ่งเรื่องนี้กลุ่มประเทศอียูมีผู้รับรองภาคีนี้เพียง 3 ประเทศเท่านั้น ทั้งที่มีการรณรงค์มานานถึง 8 ปี แต่ในเอเชียก็ยังไม่มีประเทศใดได้รับการรับรอง หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกา แคนาดา สเปน จีน ญี่ปุ่น ก็ยังไม่รับรอง ชาวประมงจึงขอคัดค้านการที่รัฐบาลจะไปลงนามในสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ.2560 อีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image