“กรมเจ้าท่า”เตรียมกู้เรือฟีนิกซ์ขึ้นจากใต้ทะเล เล็งฟ้องเรียก10ล้านจากเจ้าของเรือ

เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 5 สิงหาคม 2561 ที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการติดตั้งอุปกรณ์ใต้น้ำ เพื่อเตรียมการกู้เรือ CC Phoenix Diving ที่ประสบอุบัติเหตุล่มเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตถึง 47 คนและบาดเจ็บ ขณะนี้มีคืบหน้าแล้วร้อยละ 80-90 โดยวางแผนจะกู้เรือในสัปดาห์หน้านายจิรุตม์ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.เดินเรือในน่านน้ำไทย กรมเจ้าท่าได้ออกคำสั่งให้เจ้าของเรือ CC Phoenix Diving เป็นผู้กู้เรือ ตั้งแต่หลังวันที่เรือจม ซึ่งเจ้าของเรือรับทราบคำสั่งตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าให้เวลากับเจ้าของเรือ 20 วันในการกู้เรือ แต่เจ้าของเรือตั้งตัวแทนมาแจ้งว่าจะไม่ดำเนินการกู้เรือ เมื่อครบกำหนด กรมเจ้าท่าจะกู้เรือขึ้นมาให้ได้ โดยวางแผนดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม เป็นต้นมา โดยเตรียมอุปกรณ์ ส่งนักประดาน้ำ และทีมงานประมาณ 20 คน ลงไปติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆใต้น้ำ และสำรวจเรือใต้น้ำ พบขณะนี้มีทรายเข้าไปในเรือประมาณร้อยละ 10 ของตัวเรือ สภาพเรือด้านท้ายยุบเสียหาย ความลึกของน้ำประมาณ 45 เมตร ซึ่งเป็นระดับน้ำลึกมาก ความยาก คือ การลงไปทำงานใต้น้ำ จะต้องใช้นักประดาน้ำที่มีความชำนาญ ล่าสุด มีการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ใต้น้ำได้ประมาณ ร้อยละ80 – 90 แล้ว คาดว่าวันนี้จะไปติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม จะแล้วเสร็จในงานใต้น้ำทั้งหมดตามเป้าหมาย“งานส่วนต่อไป คือง ต้องนำอุปกรณ์ต่างๆเข้าไปเกี่ยวคล้องกับงานใต้น้ำ ในการยกเรือขึ้น ต้องใช้อุปกรณ์หลักๆ 3 ชนิด คือ บอลลูนความจุ 10,000 ลิตร นำลงไปยกเรือใต้น้ำ และกว้าน เป็นString ที่ยกผูกติดเรือและยกขึ้น พร้อมทั้งเครนตัวใหญ่จะค่อยๆยกเรือขึ้น ในแผนการที่กำหนดไว้ คาดว่าสุดสัปดาห์นี้จะสามารถนำเรือขึ้นได้ และนำเรือไปขึ้นคาน เพื่อตรวจสอบต่อไปว่าเรือมีความสมบูรณ์ หรือไม่ อย่างไร มีการดัดแปลงเรือหรือไม่ โดยจะขึ้นคานไว้ 30 วัน ที่บริษัท รัตนชัยคานเรือ จำกัดเลขที่ 60/58 หมู่ 7 ถนนท่าเรือใหม่ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต เพื่อตรวจสอบร่วมกัน ระหว่างกรมเจ้าท่า ตำรวจเจ้าของคดี และผู้เชี่ยวชาญ
กรณีเจ้าของเรือที่ไม่ดำเนินการกู้เรือ และขัดคำสั่งกรมเจ้าท่า ที่ให้ดำเนินการกู้เรือขึ้นมา เนื่องจากเรือที่จมอาจกีดขวางการเดินเรือในอนาคต และอาจเป็นมลภาวะอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากในระยะใกล้ๆที่เรือจมอยู่ประมาณ 100 กว่าเมตร มีแนวโขดหินปะการัง เมื่อกรมเจ้าท่ากู้เรือแล้วเสร็จ จะฟ้องร้องเรียกค่าใช้จ่าย ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากเจ้าของเรือต่อไปและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกู้เรือครั้งนี้ประมาณ 10 ล้านบาทที่ว่าจ้างบริษัทเอกชนรับผิดชอบดำเนินการ” นายจิรุตม์ กล่าวและว่าสำหรับการตรวจสอบเรือในจังหวัดภูเก็ตประมาณ 400 ลำ ขณะนี้กรมเจ้าท่า ร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว ตรวจสอบเรือขนาดใหญ่ ไปแล้ว ประมาณ 100 ลำ ไม่ว่าจะเป็นเรือท่องเที่ยวดำน้ำหรือ Diving ที่บรรทุกผู้โดยสารขนาด 100 คน จากการตรวจสอบพบข้อบกพร่องของเรือ และกรมเจ้าท่า สั่งให้หยุดเดินเรือและให้ขึ้นคานเพื่อปรับปรุงโครงสร้างแล้ว 2 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบเรือขนาดเล็ก เนื่องจากปกติจะตรวจสอบเรือปีละ 1 ครั้งเท่านั้น แต่หากเจ้าของเรือไม่บำรุงดูแลรักษาให้ดี จำเป็นต้องตรวจในช่วงระหว่างปีด้วย เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยกรมเจ้าท่าพร้อมใช้ แนวทางการบริหารจัดการท่าเรือของจังหวัดภูเก็ตเป็นต้นแบบ นำร่องเป็น phuket model ให้จังหวัดชายฝั่งทะเลอื่นๆทั่วประเทศต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image