‘ราชบุรี’ ยังไม่กระทบ สั่งเฝ้าระวังน้ำแม่กลอง-พร้อมรับมือ 2 เขื่อนกาญจน์พร่องน้ำ

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ที่ห้องประชุมโครงการชลประทานราชบุรี อ.เมือง จ.ราชบุรี นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ร่วมประชุมกับ นายรณภพ เวียงสิมมา นายอำเภอเมือง นายนพรัตน์ รัตนพานิช นายอำเภอโพธาราม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานราชบุรี เจ้าหน้าที่สถานีอุตุนิยมวิทยาราชบุรี ผู้แทนจากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เทศบาลเมืองราชบุรี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและรับมือกับอุทกภัย หลังเขื่อนวชิราลงกรณพร่องน้ำลงมาที่เขื่อนแม่กลอง 39.25 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนศรีนครินทร์ปล่อยน้ำลงมาประมาณ 18.86 ล้าน ลบ.ม. ลงมาที่เขื่อนท่าทุ่งนา มีปริมาณน้ำระบายอยู่ที่ ประมาณ 20.07 ล้าน ลบ.ม. ทำให้พื้นที่ จ.ราชบุรี ตั้งแต่เขต อ.บ้านโป่ง อ.โพธาราม และ อ.เมือง ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะริมเขื่อนหาดทรายโพธาราม ซึ่งมีเกาะกลางน้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยว พบระดับน้ำสูงขึ้น และล้นทางเดินริมเขื่อน แต่ไม่มีรายงานความเสียหาย

นายวีรัสกล่าวว่า ปริมาณน้ำแม่กลอง ขึ้นอยู่กับการปล่อยน้ำของเขื่อนหลักใน จ.กาญจนบุรี เพื่อรักษาปริมาณน้ำของเขื่อนและพร่องน้ำเพื่อรองรับฝนที่ตกลงมาอีก เมื่อ 2 เขื่อนหลักปล่อยน้ำลงมาเขื่อนแม่กลองลงมาพื้นที่ราชบุรี ซึ่งมีโครงการชลประทานราชบุรีดูแล หากมีฝนตกซ้ำ บางจุดต้องเฝ้าติดตาม เช่น ริมฝั่งน้ำแม่กลอง พื้นที่เมืองโพธาราม แต่ยังไม่มีปัญหา โดยระดับน้ำที่น่าเป็นห่วงต้องสูงอีกประมาณครึ่งเมตร
“จากนี้ไป ค่อนข้างน่าเป็นห่วง ถ้าระบายน้ำลงไปไม่ทันตามคลองสาขาต่างๆ บางส่วนอาจเกิดน้ำทะเลหนุนขึ้นมา และเกิดผลกระทบในสถานที่สำคัญ เช่น แหล่งโบราณสถานต่างๆ วัดเก่าที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งได้เตรียมพร้อมรับมือ โดยอุดช่องระบายน้ำ แยกน้ำออกจากคลองส่งน้ำ ไปยังทุ่งรับน้ำ ซึ่งมีคลองซอยแยกเข้าไปแถว อ.ดำเนินสะดวก แยกไปตามคลองซอยสวนของชาวบ้าน เพื่อให้น้ำไหลสะดวกเร็วขึ้น
ทั้งนี้ พยายามขอข้อมูลจากกรมชลประทาน กรมอุตุนิยมวิทยา และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งพยายามแจ้งเตือนประชาชนให้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันข่าวลือ ส่วนหน่วยงานด้านทางหลวงและทางหลวงชนบท จะทำร่องน้ำเพื่อเร่งระบายได้ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งสถานีอุตุนิยมวิทยาราชบุรีแจ้งว่า เพิ่งย่างเข้าต้นฤดูฝนเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือน ที่ต้องดูแลสถานการณ์ การแก้ปัญหาขณะนี้ พยายามหน่วงน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กๆ ก่อน เพื่อไม่ให้ไปซ้ำเติมพื้นที่ใกล้เคียงให้มากที่สุด “

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image