ผู้ว่าฯกาฬสินธุ์ฮึ่ม! ลุยสางปัญหา ‘ขยะ’ ชาวบ้านขอเตาเผาเป็นสิบปี เรื่องไม่คืบ

จากกรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาทางแก้ไข สั่งระงับการนำเข้าขยะพิษอย่างเข้มงวด กระทั่ง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ประกาศว่า ขยะพิษต้องหมดภายใน 2 ปี ขณะที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์มานานกว่า 20 ปี โดยนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องคุมเข้มการนำเข้าขยะดังกล่าว พร้อมหามาตรการควบคุมไม่ให้ทำการเผาขยะ อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่บ้านหนองบัว หมู่ 3 และหมู่ 11 ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายธนูสินธุ์ ไชยสิริ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายพิชิต สมบัติมาก ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายประสูตร หอมบันเทิง นายอำเภอฆ้องชัย และคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (คสจ.) ซึ่งเป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วน ได้ลงพื้นที่สอบถามปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน รวมทั้งผู้ประกอบการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาข้อมูลประกอบการแก้ไขปัญหา และดำเนินการจัดสร้างเตาเผาขยะที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพสานต่อ ขณะที่ชาวบ้านที่เฝ้ารอคอยเตาเผาขยะในฝันตลอดระยะเวลา 20 ปี

นายไกรสรกล่าวว่า กรณีนำเข้าขยะพิษจากต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสภาพแวดล้อมในบางจังหวัดแถบภาคกลาง ซึ่ง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาประกาศคุมเข้มขยะพิษดังกล่าว ส่วน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งคัดแยกขยะที่ได้จากการตระเวนหาซื้อมาจากบ้านเรือนประชาชนทั่วประเทศ เพื่อทำการคัดแยก และเลือกเอาส่วนที่มีมูลค่าไปจำหน่ายนำรายได้เข้าครัวเรือนนั้น ไม่ได้เป็นขยะนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ที่ จ.กาฬสินธุ์มีชื่อเป็นประเด็นพ่วงเนื่องจากแหล่งรับซื้อชิ้นส่วนที่คัดแยกอยู่ในแถบจังหวัดที่นำเข้าขยะพิษจากต่างประเทศ มีพื้นฐานและสภาพที่แตกต่างกัน

“แต่ที่เป็นปัญหาและหลายฝ่ายวิตกกังวลคือ การบริหารจัดการขยะ ทั้งขั้นตอน วิธีการคัดแยกที่ไม่ถูกต้อง และการกำจัดขยะที่ไม่มีค่า โดยการนำไปทิ้งที่บ่อกำจัดขยะ ซึ่งพบว่ามีการลักลอบเผา ทำให้เกิดมลพิษ และหวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทั้งนี้ ทราบว่าที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาเข้ามาทำการศึกษาวิจัย เพื่อหาทางแก้ไข โดยเฉพาะการสร้างเตาเผาที่ถูกสุขาภิบาล แต่กลับเงียบหายไป” นายไกรสรกล่าว

Advertisement

นายไกรสรกล่าวอีกว่า ตนลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากบ่อกำจัดขยะ และอยากทราบรายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับโครงการสร้างเตาเผาขยะที่พูดถึงกันมานานหลายปี แต่ไม่มีความคืบหน้าว่าติดขัดตรงไหน ขณะที่ชาวบ้านตำบลโคกสะอาดยังคงมีพฤติกรรมคัดแยกขยะโดยขาดการระมัดระวัง เพราะทำกันจนเกิดเป็นความเคยชิน ไม่กลัวเจ็บป่วย หรือได้รับผลข้างเคียง จากการสอบถามไม่หวั่นเกิดผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตรวจเช็กร่างกายกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นระยะ ไม่พบสารตะกั่วในกระแสเลือด จึงมั่นใจว่าตนเองปลอดภัย และรู้แต่ว่าสิ่งที่ลงมือทำนั้นมีมูลค่า เป็นรายได้จุนเจือครอบครัว สร้างฐานะ มีเงินส่งเสียบุตรหลานเล่าเรียน ส่วนที่ชาวบ้านผู้ประกอบการคัดแยกขยะต้องการคือ เตาเผาขยะ เพื่อจัดการกับขยะที่ไม่ถูกวิธี ไม่เกิดมลพิษ และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ นายไกรสรได้เข้าไปสำรวจสภาพบ่อกำจัดขยะของ อบต.โคกสะอาด บนเนื้อที่ 23 ไร่ ซึ่งพบว่ายังไม่ถูกหลักสุขาภิบาล เนื่องจากมีกลิ่นการเผาไหม้ เกิดน้ำขังตามผิวดิน และไหลซึมลงสู่นาข้าวของชาวบ้าน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบคือใบเหลืองจากการดูดซึมสารพิษ เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงคือ เมื่อเป็นเม็ดข้าวเปลือกและเก็บเกี่ยวไปรับประทาน อาจมีสารเคมีปนเปื้อนและตกค้างในร่างกายผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ ปู ปลา สัตว์น้ำ หรือแม้กระทั่งคนที่สัมผัสกับน้ำหรือดินก็อาจได้รับสารพิษนั้นเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน

Advertisement

“เมื่อพบปัญหาในพื้นที่และความต้องการของชาวบ้านดังกล่าว ได้มอบหมายให้สาธารณสุขจังหวัด อบจ. อบต. ท้องถิ่น และคณะกรรมการทุกฝ่ายเร่งหาแนวทางแก้ไขที่จะลดปริมาณการนำเข้าขยะ และกำจัดขยะอย่างถูกวิธี รวมทั้งติดตามเรื่องเตาเผาขยะที่เคยมีการออกแบบไว้ โดยจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกแบบถึง 1,700,000 บาท มูลค่าก่อสร้าง 50 ล้านบาท เบื้องต้นนี้ได้ให้แนวทาง อบต.โคกสะอาด ลงทะเบียนผู้ประกอบการคัดแยกขยะ และเป็นผู้รับซื้อชิ้นส่วนที่คัดแยกได้ ก่อนนำไปรวบรวมที่ อบจ. เพื่อเป็นการตัดวงจรนายทุนหรือพ่อค้าคนกลาง หรือเอกชนที่จะขนย้ายชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากพื้นที่ไปเกินขอบเขตการควบคุม ซึ่งหากทุก อบต.โคกสะอาดทำได้ หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศนำหลักการนี้ไปทำ ก็จะลดปริมาณขยะและจะไม่เกิดปัญหาเผาขยะ หรือเกิดการหมักหมมของขยะสิ่งปฏิกูล ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณขยะทั้งเศษแก้ว โฟม กากที่เกิดจากการเผายางและพลาสติกในบ่อบำบัดกว่า 300 กว่าตัน จึงต้องมองหาวิธีการแก้ไขร่วมกันให้เกิดความยั่งยืนคือให้ชาวบ้านอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ ด้วยการลดปริมาณขยะ ไม่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” นายไกรสรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image