เตือน! ‘เพชรบุรี’ เตรียมรับมวลน้ำขนาดใหญ่ คาดไหลท่วมเขตเมืองช่วงเที่ยงพรุ่งนี้

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 21 สิงหาคม ที่ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบุรี นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย นายสันต์ จรเจริญ ผอ.โครงการชลประทานเพชรบุรี พ.อ.พงษ์สวัสดิ์ ภาชนะทิพย์ รองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 15 พ.อ.สนอง ธัญญานนท์ รองหัวหน้าชุดประสานกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเพชรบุรี ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์น้ำจังหวัดเพชรบุรี พร้อมสรุปสถานการณ์น้ำวันนี้ เวลา 06.00 น. ว่าเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำ 777.031 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 109.44% ของความจุเต็มอ่าง ปริมาณน้ำเข้า 25.609 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน มีปริมาณน้ำไหลล้นสปิลเวย์และไหลสู่เขื่อนเพชรรวม 282.00 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 24.36 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน เขื่อนเพชรปล่อยระบายน้ำลงคลองชลประทาน 4 สาย รวม 112.52 ลบ.ม.ต่อวินาที ปล่อยน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี 148.74 ลบ.ม.ต่อวินาที

“ปริมาณน้ำดังกล่าวเริ่มไหลล้นตลิ่งบริเวณคลองสาย 1 สาย 2 ส่วนปริมาณน้ำที่ปล่อยลงในแม่น้ำเพชรบุรีน้ำเดินทางถึงเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี ส่งผลให้ระดับริมตลิ่งแม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มสูงขึ้น บริเวณหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีต่ำกว่าตลิ่งเพียง 5 เซนติเมตร และเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรี บริเวณชุมชนนามอญซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำกว่าแล้ว”

นายสันต์เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์เหนือเขื่อนแก่งกระจานมีฝนตกลดลง แต่ยังมีปริมาณน้ำที่ค้างในเขื่อนแก่งกระจานปริมาณสูง และคาดว่าจะไหลล้นสปิลเวย์ในอัตราประมาณ 286 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้เขื่อนเพชรต้องเพิ่มการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเพชรบุรีเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 140-160 ลบ.ม.ต่อวินาที มวลน้ำดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ท้ายเขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำในเขตเทศบาลเมืองเพชรบุรีจะสูงสุดตั้งแต่เวลา 12.00 น.วันที่ 22 สิงหาคม 2561 และอาจไหลล้นตลิ่งท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร และอาจท่วมขัง 5-7 วัน

“ขณะนี้ชลประทานเพชรบุรีได้เพิ่มการบริหารจัดการน้ำโดยขุดเชื่อมคลองห้วยยางซึ่งรับน้ำจากตำบลท่าไม้รวก อำเภอท่ายาง กับคลองสาย 1 เพื่อระบายน้ำบางส่วนจากคลองสาย 1 ลงทะเลที่ ต.บางเก่า อ.ชะอำ โดยลำห้วยยางสามารถช่วยระบายน้ำจากคลองสาย 1 ได้ประมาณ 10 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเมื่อขุดเสร็จแล้ว ลำห้วยยางและคลองชลประทานหลักทั้ง 4 สายจะช่วยลดปริมาณน้ำจากเขื่อนเพชรได้รวมประมาณ 100 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้การบริหารจัดการน้ำทำได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้กำลังเร่งสำรวจพื้นที่ท้ายเขื่อนเพชร บริเวณวัดขลุบสุทธาราม ตำบลถ้ำรงค์ อำเภอบ้านลาด เพื่อหาทางนำน้ำผ่านคลองยอ ไหลลงคลองกะลาตาย ผ่านห้วยกาหลง ก่อนลงคลอง D 18 ซึ่งต้องนำเครื่องจักรเข้าไปขุดขยายคลองและนำเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟล์วขนาดใหญ่ไปติดตั้งเพื่อเร่งระบายน้ำเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีบางจุดที่แคบและตื้นเขิน หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำได้ในอัตรา 20 ลบ.ม.ต่อวินาที” นายสันต์กล่าว

Advertisement

พ.อ.พงษ์สวัสดิ์กล่าวว่า จากสถานการณ์ในจังหวัดเพชรบุรีที่ผ่านมา บริเวณท้ายเขื่อนแก่งกระจาน มณฑลทหารบกที่ 15 ได้นำกำลังพลเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับกระทบแล้วบางส่วน และจัดกำลังพลอีก 2 ชุด นำกระสอบทรายไปเสริมแนวคันตลิ่งมณฑลทหารบกที่ 15 บริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำเพชรบุรีให้สูงขึ้น เพื่อเตรียมรับสถานการณ์

ด้านนายณัฐวุฒิกล่าวเสริมว่า จังหวัดเพชรบุรีได้ประสานกับชลประทานเพชรบุรี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการในการบริหารจัดการน้ำตามหลักวิชาการอย่างเต็มที่ เพื่อส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ลุ่มต่ำและบริเวณสองฝั่งแม่น้ำเพชรบุรียกของขึ้นที่สูง และรับฟังข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำที่ถูกต้องเป็นจริงจากหน่วยงานราชการ พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

Advertisement

พ.อ.สนองกล่าวว่า ประชาชนสามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ที่ ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินโทร 191, สายด่วนนิรภัยโทร 1784, สาธารณสุขจังหวัดโทร 1669, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดโทร 0-3242-6230, มณฑลทหารบกที่ 15 โทร 0-3242-8506-10

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image