นักวิชาการชี้ โลกร้อนกระทบห่วงโซ่อาหารของวาฬบลูด้ารอบอ่าวไทย-อันดามัน

วันที่ 19 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธเนศ พุ่มทอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์  เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การพบซากวาฬบลูด้าขนาดใหญ่หลายตัวในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา ทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนกลางและตอนบน  รวมทั้งฝั่งทะเลอันดามัน เบื้องต้นมีการประเมินว่าเกิดจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งล่าสุดมีรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่ามีปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่  โดยเฉพาะในบริเวณแนวปะการังใกล้เกาะทะเลในเขต อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์  ปัญหานี้มีผลทำให้ห่วงโซ่อาหารของวาฬบลูด้ามีความเปลี่ยนแปลงจากการกินปลาขนาดเล็ก ประกอบกับบางตัวมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอทำให้มีอาการป่วยสะสม มีภูมิต้านทานน้อยลง เนื่องจากการผ่าพิสูจน์ซากวาฬพบว่ามีพยาธิจำนวนมาก

ทั้งนี้ นายธเนศกล่าวยืนยันว่า ผลกระทบที่ทำให้วาฬบลูด้าป่วย เกิดจากสิ่งแวดล้อมที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องไม่ได้เกิดจากผลกระทบจากการทำประมง นอกจากนั้นปัญหาจากผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมของระบบนิเวศวิทยาทางทะเลที่มีอุณหภูมิโลกสูงขึ้น พบว่าปีนี้ช่วงฤดูปิดอ่าวในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร และ จ.สุราษฎร์ธานี ฝูงปลาทูในอ่าวไทยไม่ได้ว่ายน้ำกลับไปที่ จ.สมุทรสงคราม ตามวงรอบที่นักวิชาการได้ทำการสำรวจและวิจัยช่วงปลาทูวางไข่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image