ชมรมเภสัชกรใต้ผนึก 8 เครือข่ายวิชาชีพฯ ไขว้อกค้านพรบ.ยา ชี้ทำคนไทยเสี่ยง

เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 2 กันยายน ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 8 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม รวมเป็น 9 องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรม อันได้แก่ ชมรมเภสัชกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดสงขลา, ชมรมเภสัชกรชุมชนจังหวัดภูเก็ต, สมาคมศิษย์เก่าคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักวิชาเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ , ชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย และสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) ร่วมกับสโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นัดหมายแสดงออกซึ่งการคัดค้าน (ร่าง) พรบ.ยา และออกแถลงการณ์คัดค้าน (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ…… (ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 : ฉบับ ลับ ลวง พราง) โดยมีเภสัชกรจากหลายพื้นที่ในภาคใต้รวมตัวใส่ชุดฟอร์มเภสัชกรรวมตัวกันแสดงออกถึงการคัดค้านกว่า 200 คน ร่วมกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการใช้มือไขว้กันเป็นเครื่องหมายกากบาทบริเวณหน้าอก

ภญ.สุจิตา กุลถวายพร ประธานชมรมเภสัชกรภาคใต้ ตัวแทน 9 องค์กรวิชาชีพเภสัชกรรมในภาคใต้อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืน โดยสาระสำคัญในแถลงการณ์ได้ระบุเหตุผลที่จำเป็นต้องมีการคัดค้านดังนี้

“เนื่องจาก (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ…..ดังกล่าวมีข้อบกพร่องร้ายแรงขัดกับหลักการของร่างกฎหมาย อันได้แก่ การขาดหลักความเป็นสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดประเภทยา ขาดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ อันได้แก่ การยกเว้นให้ผู้ไม่เชี่ยวชาญ ผลิต แบ่งบรรจุ และจ่ายยา โดยไม่ต้องขออนุญาต การไม่ทบทวนทะเบียนตำรับยา ขาดหลักความยุติธรรมจากบทลงโทษผู้รับอนุญาตสูงกว่าผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตในลักษณะความผิดเดียวกัน ขาดหลักการตรวจสอบความผิดพลาดจากการใช้ยาระหว่างวิชาชีพ มุ่งเน้นการจัดการเบ็ดเสร็จในตัวเอง โดยคำนึงถึงเพียงประนีประนอมผลประโยชน์ระหว่างวิชาชีพ ไม่คำนึงว่าจะทำลายระบบยาและเพิ่มความไม่ปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชนอย่างร้ายแรงที่สุด”

Advertisement

และทางชมรมเภสัชกรภาคใต้และ 8 เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมร่วมกับสโมสรนักศึกษา 2 สถาบัน ได้เรียกร้องต่อเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา “ให้ถอนร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ…… (ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 :ฉบับ ลับ ลวง พราง) ออกไป ไม่เสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ภายใน 15 วัน กรณีจำเป็นอย่างยิ่งยวดต้องเสนอโดยไม่สามารถชักช้าได้ ก็ให้นำ (ร่าง) พระราชบัญญัติยา พ.ศ…..ที่ผ่านการพิจารณาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ซึ่งเป็นฉบับที่มี อาจารย์นายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นประธานการยกร่างร่วมกับองค์กรสหวิชาชีพต่าง ๆ จนได้เสร็จสิ้นและได้เสนอต่อทาง อย.แล้ว แต่ทาง อย.ได้เก็บดองเอาไว้ ซึ่งเป็นร่างได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ประชาชนได้รับความคุ้มครองและปลอดภัยจากการใช้ยา มาเป็นร่างหลักเสนอแทน

ทั้งนี้ หากไม่มีการตอบสนองอย่างเป็นรูปธรรมใด ๆ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทั้ง 9 องค์กรในภาคใต้และสโมสรนักศึกษาจะยกระดับการแสดงจุดยืนร่วมกับเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมทุกภาคของประเทศไทย เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ…… (ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2561 :ฉบับ ลับ ลวง พราง) อย่างถึงที่สุด”

Advertisement

ภญ.วิไลวรรณ สาครินทร์ ตัวแทนชมรมเภสัชสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ว่า หากไม่แก้ไข (ร่าง) พรบ.ยา ให้ทุกวิชาชีพสามารถจ่ายยาได้ จะทำให้วิชาชีพพยาบาลไม่สามารถจ่ายยาใน รพ.สต.ได้นั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะภายใต้ พรบ.ยา ปี 2510 และกฎหมายอื่น ๆ นั้น ทุกวิชาชีพในสถานพยาบาลของรัฐ ทั้งโรงพยาบาลและรพ.สต.สามารถจัดยา เตรียมยา และจ่ายยาได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด เพราะ พรบ.ยาฉบับ 2510 ไม่บังคับใช้ต่อการผลิตและจ่ายยาของกระทรวง ทบวง กรม ที่มีหน้าที่บำบัดรักษาโรคอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในหน่วยงานของรัฐมีระบบการทำงานเป็นทีมของสหวิชาชีพ และมีการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบอยู่แล้ว ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่เหตุอ้างที่จะแก้ พรบ.ยา ในทางกลับกัน หากเปิดกว้างให้ทุกวิชาชีพจ่ายยาได้ในสถานประกอบการภาคเอกชน จะยิ่งผิดหลักสากลเรื่องความปลอดภัยทางยาและหลักการคุ้มครองผู้บริโภค และส่งผลเสียต่อประชาชนในระยะยาว”

ด้านภก.จรัญวิทย์ แซ่พัว กรรมการสมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย) และกรรมการชมรมเภสัชกรภาคใต้ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความพยายามที่จะแก้ไข พรบ.ยา ภายใต้หลักการที่ไม่ถูกต้องมาหลายปีแล้ว ในปี 2557 มีการเคลื่อนไหวใหญ่ในการคัดค้านการแก้ไขในประเด็นที่ไม่ถูกต้อง การคัดค้านในครั้งนั้น นำมาสู่การจัดทำ (ร่าง) แก้ไข พรบ.ยา ร่วมกันจากสภาวิชาชีพด้านสุขภาพทุกสภา ซึ่งมีอาจารย์นายแพทย์มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน มีการจัดกระบวนการยกร่างจนสำเร็จ เป็นร่างที่ทุกวิชาชีพยอมรับว่าต้องเสียสละเพื่อเดินสู่ระบบสากลดั่งเช่นอารยะประเทศ แต่ร่างดังกล่าวเมื่อร่างเสร็จ ทาง อย.ก็ได้เก็บดองไว้ไม่เสนอผลักดันต่อ จนมาวันนี้ อย.ก็นำ (ร่าง) พรบ.ยา ที่ไม่มีความชอบธรรมมาผลักดันอีกครั้ง ทำให้วิชาชีพเภสัชกรรมและวิชาชีพสุขภาพหลายวิชาชีพต้องลุกขึ้นมาคัดค้านอีกครั้ง และ หาก อย.จะแก้ไขร่าง พรบ.ให้จงได้ ก็ขอให้ถอนร่างปัจจุบันฉบับลับลวงพรางออกไป แล้วนำร่าง พรบ.ยาฉบับที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธานเสนอเข้า ครม.แทน มิเช่นนั้น เราก็คงต้องยกระดับการคัดค้านให้ถึงที่สุด

ภก.นิมิตร วรกุล คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวสรุปว่า ขอให้ อย.และกระทรวงสาธารณสุขซึ่งเป็นเจ้าของร่าง ได้ไตร่ตรองด้วยความรอบคอบ การที่มีการคัดค้านโดยวิชาชีพเภสัชกรและคณะเภสัชศาสตร์ทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง ย่อมแสดงว่า ร่างดังกล่าวมีปัญหาจริง มีความไม่ถูกต้องอยู่จริง การแก้ไข พรบ.ยา หากยืนบนหลักการสากลด้านความปลอดภัยทางยาและหลักการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแน่วแน่แล้ว ทุกคนยินดีสนับสนุน แต่หากไม่ยืนบนสองหลักการนี้ ก็ไม่อาจสนับสนุนได้ ควรต้องถอนร่างที่มีปัญหานี้ออกไปเพื่อนำกลับมาพิจารณาให้รอบคอบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image