ชาวสวนยาง 3 จังหวัดใต้ รุดยื่นหนังสือร้อง รมว.เกษตรฯ แก้ปัญหายางตกต่ำ

เมื่อวันที่ 10 กันยายน ตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จากจังหวัดตรัง พัทลุง และกระบี่ นำโดยนายประทบ สุขสนาน รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย, นายถนอมเกียรติ ยิ่งฉ้วน ที่ปรึกษาประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ, นายไพรัช เจ้ยชุม กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์เครือข่ายสถาบันเกษตรกร, นายสมบัติ บุญสนิท ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรฯ จ.พัทลุง, นายสมปอง นวลสมศรี ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดกระบี่ และนายชาญชัย ทองแก้ว เกษตรกรชาวสวนยาง เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และความล้มเหลวของการบริหารงานของ กยท.ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหายางพาราได้ แต่กลับสร้างวิกฤตด้านราคาซ้ำ

นายประทบกล่าวว่า ทั้งโครงการส่งเสริมใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐของรัฐบาลที่ล้มเหลวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าถ้าเดินหน้าตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้จะสามารถกระตุ้นการใช้ยางในประเทศ จะผลักดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน และให้ทบทวนการทำงานของนายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย

นายไพรัชกล่าวว่า ปัญหาความล้มเหลวในการบริหารของรักษาการผู้ว่าการ กยท. การที่ไม่สามารถแก้ปัญหาราคายางตกต่ำได้ แต่กลับสร้างวิกฤตด้านราคาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลกับ กยท.ไม่มีความจริงใจ และไม่สามัคคีกัน แต่ทำงานไปคนละทิศคนละทาง ขณะที่ กยท. ก็แบ่งออกเป็น 2-3 ฝ่าย ทำให้ปัญหามาตกกับเกษตรกรชาวสวนยางที่ราคาตกต่ำลงทุกวัน ส่วนที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 500 บาท รายละไม่เกิน 6 ไร่ ฟังแล้วไม่มีใครเห็นด้วยกับนโยบายนี้ ที่ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเคยพยายามทุ่มใช้งบประมาณเพื่อนโยบายนี้ แต่สุดท้ายไม่สามารถจะแก้ปัญหาให้มั่นคงและยั่งยืนแก่เกษตรกรได้ และชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิก็ไม่สามารถจะเข้าถึงความช่วยเหลือนี้ได้ จึงมองว่าการที่รัฐบาลทำแบบนี้ก็สร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลเองอีก แต่รัฐบาลควรจะนำงบประมาณมหาศาลเหล่านั้น มาส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียน เพื่อนำมาแปรรูปต่อยอดผลิตภัณฑ์จากยางพารา ทั้งผ่านโรงงานของสถาบัน ของสหกรณ์ รวมทั้งโรงงานของ กยท.เอง จะทำให้เห็นเป็นผลงานของรัฐบาลและแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมให้เกษตรกรมากกว่านี้ รวมทั้งการก่อสร้างโรงงานน้ำยางข้นให้เกิดขึ้นกระจายไปทุกภูมิภาคที่มีการผลิตยาง

“ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า ทางรัฐบาลจะเอายางที่ค้างอยู่ในสต๊อกออกมาใช้ ทางเครือข่ายและชาวสวนยางไม่เห็นด้วย เพราะสภาวะราคายางขณะนี้ตกต่ำอยู่แล้ว หากนำยางในสต๊อกออกมาใช้อีกจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมตลาด พร้อมเรียกร้องไปยังผู้นำเกษตรกรชาวสวนยางพาราทุกกลุ่มที่แยกกันอยู่ขณะนี้ ถึงเวลาแล้วที่ทุกกลุ่มทุกองค์กรที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องการแก้ปัญหาราคายาง ควรจะหันหน้ามาจับมือกันสร้างความสามัคคี รวมกันให้เกิดความเป็นเอกภาพ เพราะถ้าไม่รวมกันจะไม่มีพลังที่จะต่อรองกับรัฐบาลได้” นายไพรัชกล่าว

Advertisement

นายถนอมเกียรติกล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อช่วยพยุงราคาให้สูงขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรโดยด่วน คือ การพัฒนาตลาดกลางยางพาราที่มีทั้ง 6 แห่ง เกี่ยวกับระเบียบ วิธีการปฏิบัติ ให้ใช้ตลาดกลางยางพาราเป็นเครื่องมือในการผลักดันราคาให้สูงขึ้น และรัฐบาลควรเข้ามาดูแลตลาดกลางใกล้ชิด ป้องกันการฮั้วประมูลของบริษัทใหญ่ที่กดดันราคา ซึ่งจะทำให้ราคายางปรับตัวขึ้นได้แน่นอน รวมทั้งตั้งกองทุนซื้อรวบรวมยางให้ตลาดเครือข่ายรายย่อยก่อนส่งต่อตลาดกลาง รวมทั้งเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีไฟเขียวเรื่องการแก้ผังเมืองรวมให้เกิดประโยชน์กับการพัฒนายาง เช่น การก่อสร้างโรงงานน้ำยางข้นในทุกภูมิภาค เพื่อเอื้อให้เกิดการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image