‘เขื่อนศรีนครินทร์’ ปรับเพิ่มการระบายน้ำสูงสุดในรอบ37ปี เฝ้าระวังลุ่มน้ำแควใหญ่-แม่กลอง

เขื่อนศรีนครินทร์ ปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดอีก 4 ล้าน ลบ.ม. รวม 32 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันแรก สูงสุดในรอบ 37 ปี เฝ้าระวังลุ่มน้ำแควใหญ่-แม่กลอง ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ และลุ่มน้ำแควน้อย ลดลงต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. เขื่อนศรีนครินทร์ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนท่าทุ่งนาอีกวันละ 4 ล้าน ลบ.ม. จากเดิมระบายวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 32 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันแรก ซึ่งถือเป็นการระบายน้ำที่สูงที่สุดในรอบ 37 ปี ที่เขื่อนศรีนครินทร์เปิดใช้งานมา โดยได้เริ่มทำการระบายน้ำเพิ่มขึ้นตามแผนตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันนี้ ซึ่งจะเพิ่มการระบายแบบขั้นบันได โดยวันนี้มีแผนการระบายน้ำ 29 ล้าน ลบ.ม. จากนั้นก็จะปรับเพิ่มวันละ 1 ล้าน ลบ.ม. จนไปอยู่ที่ 32 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ไปจนถึง 30 กันยายน 2561 ซึ่งปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นอาจมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำแควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลองบางแห่งได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เอ่อสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันอีกประมาณ 30-40 เซนติเมตร

สำหรับเขื่อนท่าทุ่งนาตั้งอยู่บ้านท่าทุ่งนา หมู่ที่ 1 ตำบลช่องสะเดา อำเภอเมืองกาญจนบุรี ซึ่งมีระยะทางทางน้ำห่างจากเขื่อนศรีนครินทร์ประมาณ 27 กม. ต้องระบายน้ำสอดคล้องกับแผนระบายน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ โดยเริ่มระบายน้ำเวลา 09.00 น. ผ่าน Sand Flush Gate (ตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับทางระบายน้ำล้น (Spillway) ด้วยการยกประตูดังกล่าวขึ้นอีกประมาณ 10 เซนติเมตร จากเดิมยกไว้อยู่ที่ 50 เซนติเมตร เป็น 60 เซนติเมตร ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 10 ซม. และจะมวลน้ำก้อนแรกจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชม. ถึงจุดวัดระดับน้ำที่บ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี เวลาประมาณ 14.00 น. และจะใช้เวลาเดินทางจากเขื่อนท่าทุ่งนาถึงบริเวณหน้าเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 9 ชม. ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสองสี คือ แควน้อย และแควใหญ่ ไหลมาบรรจบกันเป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำแม่กลอง

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำที่จะเพิ่มสูงขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำหลาก (Side flow) จากลำน้ำสาขาไหลลงมาสู่แม่น้ำแควใหญ่ และการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนแม่กลองด้วย ซึ่งวานนี้จะพบว่า ในช่วงที่เขื่อนแม่กลองระบายน้ำอยู่ที่ 1,029 ลบ.ม./วินาที จะทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำแควใหญ่ลดระดับลง แต่เมื่อปรับลดลงเหลือ 966 ลบ.ม./วินาที ก็จะส่งผลให้ปริมาณน้ำเอ่อขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้น การระบายน้ำของเขื่อนทั้งสองแห่งจะต้องสอดรับกัน เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด

Advertisement

ส่วนที่สถานี K.35 A บ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่น้ำจะล้นตลิ่ง ประกอบกับมีลำน้ำสาขาจากลำห้วยลำตะเพิน ไหลมาสมทบ ปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 5.16 เมตร (ระดับตลิ่ง 5.50 เมตร) ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง -0.34 เมตร อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังเรื่องระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ นายปกรณ์ กรรณวัลลี นายอำเภอสังขละบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมและให้กำลังใจชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยเดินทางทางเรือ จากสังขละบุรีไปยังชุมชนบ้านเรดาร์และชุมชนบ้านดงขนุน หมู่ที่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี เพื่อเยี่ยมและให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพ ของกาชาดจังหวัดกาญจนบุรี แก่ชาวบ้านที่บ้านเรือนถูกน้ำท่วมเนื่องจากปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ในพื้นที่เขตน้ำท่วมของเขื่อนวชิราลงกรณ โดยพบว่าในพื้นที่ตำบลปรังเผล มีบ้านที่ถูกน้ำท่วมกว่า 100 หลังคาเรือน ชาวบ้านได้ย้ายไปอาศัยอยู่กับญาติและเพื่อนบ้านและอาศัยอยู่ในบ้านแพชั่วคราว จนกว่าน้ำจะลดลงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ส่วนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ อ.สังขละบุรี หลังจากฝนได้ทิ้งช่วง ส่งผลให้น้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบว่าน้ำบริเวณสะพานไม้ ลดลงกว่า 50 ซม. ซึ่งส่งผลดีต่อสภาพบ้านเรือนของชาวบ้าน ในชุมชนวังกะที่อยู่ริมเขื่อน อย่างไรก็ตาม เขื่อนวชิราลงกรณยังคงระบายน้ำอยู่ที่วันละ 58 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน (โดยจะระบายผ่านช่องทางปกติ วันละ 43 ล้าน ลบ.ม. และผ่านทางน้ำล้น (Spillway) วันละ 15 ล้าน ลบ.ม.) ซึ่งพบว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและท้ายน้ำในลุ่มน้ำแควน้อยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายประเสริฐ อินทับ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ (อขศ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับน้ำ 176.44 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ปริมาณที่กักเก็บ 16,290.50 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็น 91.80% ของปริมาณกักเก็บปกติ มากกว่าเกณฑ์ควบคุม (URC) 0.02 ม.โดยวันนี้มีแผนการระบายน้ำ 29 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งวานนี้ (13 ก.ย.) มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ 36.52 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ระดับ 176.44 ม.รทก. ซึ่งเท่ากับวันที่ 12 กันยายน (176.44 ม.รทก.) โดยมีการระบายน้ำตามแผนการระบายน้ำ 35.53 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเขื่อนศรีนครินทร์ยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีก 1,454.59 ล้าน ลบ.ม. (8.20%) สำหรับเขื่อนท่าทุ่งนา ระบายน้ำสอดคล้องกับแผนระบายน้ำของเขื่อนศรีนครินทร์ จากวันละ 28 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 32 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 14-30 กันยายน โดยจะมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้น วันละ 1 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ในช่วงวันเวลาดังกล่าว จะมีการประเมินสถานการณ์น้ำและผลกระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำ หากมีการปรับแผนการระบายน้ำ จะประชาสัมพันธ์ให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน

ด้าน นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ (อขว.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 153.58 ม.รทก. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในเขื่อน 8,318 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 94% มากกว่าเกณฑ์ควบคุม (URC) 1.02 เมตร โดยวานนี้ (13 ก.ย.) มีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ 28.57 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ระดับ 153.70 ม.รทก. ซึ่งเมื่อเทียบกับวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมา พบว่าระดับน้ำในอ่างลดลง 0.08 ม.รทก. ซึ่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณยังสามารถรับน้ำได้อีก 542 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 6% และได้มีการระบายน้ำออกตามแผนการระบายน้ำ 57.72 ล้าน ลบ.ม. (รวมระบายน้ำผ่านสปิลเวย์ 15.77 ล้าน ลบ.ม.แล้ว)

Advertisement

ส่วนนายไพรัตน์ ทับประเสริฐ ผอ.ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 13 อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า วันนี้เขื่อนแม่กลองได้ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำแม่กลองในเวลา 09.00 น.จำนวน 741 ลบ.ม.ต่อวินาที (CMS.) ระบายผ่านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 110 ลบ.ม.ต่อวินาที (CMS.) รวมเป็น 851 ลบ.ม.ต่อวินาที (CMS.) หรือเท่ากับระบายน้ำ 73.53 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

โดยระดับน้ำเหนือเขื่อนแม่กลอง +22.37 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง โดยการเพิ่มระดับเก็บกักน้ำด้านหน้าเขื่อนแม่กลองเพิ่มขึ้นอีก 0.50 เมตร แต่ก็ยังต่ำกว่าระดับที่เคยเก็บกัก อีก 0.20 เมตร การลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนแม่กลองครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมในเขตอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เนื่องจากน้ำในแม่น้ำแม่กลองไหลเข้าพื้นที่นา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image