เร่งช่วย “นกอ้ายงั่ว” นกหายากใกล้สูญพันธุ์ ถูกเศษผ้ามัดปากหากินไม่ได้ ที่บ่อบำบัดชะอำ

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 17 กันยายน ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายเกียรติศักดิ์ กล่อมสกุล ผู้ประสานงานกลุ่มดูนกจังหวัดเพชรบุรี ว่าขณะที่พานักท่องเที่ยวดูนกที่บริเวณทุ่งตะกาดพลี อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของ เทศกาล “กินหอย ดูนก ตกหมึก ครั้งที่ 19 ของ อ.ชะอำ ได้พบ “นกอ้ายงั่ว” ซึ่งเป็นนกหายาก และอยู่ในสถานะหายากมากใกล้สูญพันธ์ หากินอยู่ในบริเวณ บ่อปรับปรุงคุณภาพน้ำของเทศบาลเมืองชะอำ ติดกับทุ่งตะกาดพลี อ.ชะอำ ซึ่งเป็นแหล่งดูนกที่สำคัญและเป็นที่รู้จักของนักดูนก นกดังกล่าวเป็นนกขนาดโตเต็มวัย แต่มีลักษณะผิดปกติเนื่องจากที่บริเวณปลายปากพบมีเศษผ้า หรือถุงพลาสติกสีขาว หนาและยาว ติดอยู่อย่างแน่นหนาจนไม่สามารถเปิดปากได้ จากการสอบถามชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงพบเห็นนกตัวดังกล่าวมีเศษผ้าติดปลายปากมานานกว่า 2 วัน ชาวบ้านพยายามช่วยเหลือแต่ไม่สามารถจับได้

นายเกียรติศักดิ์ได้ประสานแจ้งไปยัง สพ.ญ. กชพร พิมพ์สิน นายสัตวแพทย์ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ห้วยทราย สังกัด สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เข้ามาตรวจสอบและทำการช่วยเหลือ เบื้องต้นสังเกตนกมีอาการอ่อนเพลีย บินได้เพียงระยะทางสั้นๆ ดำน้ำไม่ได้นานเท่าที่ควร เนื่องจากอาจไม่ได้กินอาหารมาหลายวัน ทั้งนี้บริเวณข้างเคียงยังพบนกอ้ายงั่วลักษณะตัวโตเต็มวัยอีก 2 ตัวบินวนเวียนหากินอยู่ใกล้ๆกันด้วย

เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ นำโดย สพ.ญ. กชพร ได้พยายามเข้าไปช่วยเหลือ วางแผนหาวิธีจับ เพื่อนำนกอ้ายงั่วตัวดังกล่าวไปดูเเลฟื้นฟู แต่ด้วยสภาพพื้นที่บ่อบำบัดซึ่งเป็นบ่อน้ำลึก และกว้างกว่า 2 ไร่ ทำการจับนกทำได้ยาก เมื่อเจ้าหน้าที่ไล่ต้อนนกจะหนีลงน้ำ เจ้าหน้าที่ พยายามใช้เรือพายเข้าไปบริเวณใกล้ตัวนก เพื่อจะใช้สวิงช้อนตัก แต่นกดังกล่าวก็ดำน้ำหลบหนีตลอดทำให้ไม่สามารถจับกุมได้ เจ้าหน้าที่ใช้เวลาในการพยายามจับกุมนานกว่า 3 ชั่วโมง กระทั่งเวลา กระทั่งเวลา 12.00 น . ระหว่างหาทางจับนก พบว่านกอ้ายงั่วตัวดังกล่าวได้ดำน้ำลงและผุดขึ้นผิวน้ำก่อนสบัดผ้าที่ติดปลายปากหลุดออกเอง

Advertisement

นายเกียรติศักดิ์กล่าวว่า นกอ้ายงั่วเป็นนกพันธุ์หายาก ปัจจุบันถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง และถูกจัดให้ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ตามการจัดสถานภาพทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย และจัดเป็นสัตว์ที่ถูกคุกคามตามสมุดปกแดงของ IUCN (1996) แม้นกอ้ายงั่วจะถูกจัดเป็นนกประจำถิ่นในประเทศไทย แต่พบเห็นได้ยากมากในพื้นที่บริเวณภาคกลาง และภาคใต้ ก่อนหน้านี้เคยทราบข่าวว่าพบเพียงที่ จ.สระแก้ว และอีกไม่กี่จังหวัดเท่านั้น

ส่วนในพื้นที่ จ.เพชรบุรี เคยพบเห็นมาแล้วหนึ่งครั้งเมื่อปี 2554 โดยครั้งนั้นพบจำนวน 3 ตัวบริเวณพื้นที่ บ่อบำบัดแห่งนี้เช่นกัน จึงนับเป็นเรื่องดี เพราะนกอ้ายงั่ว จัดเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ดีอย่างหนึ่ง เพราะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้งปริมาณของอาหาร และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ แสดงว่าพื้นที่ อ.ชะอำ นี้อุดมสมบูรณ์

สำหรับลักษณะ และการหากิน ตลอดจนสถานะทางธรรมชาติของ นกอ้ายงั่ว อยู่ในวงศ์นกอ้ายงั่ว(Anhingidae) ในอันดับนกกระทุง (Pelecaniformes) (แต่บางข้อมูลจัดให้อยู่ในอันดับ Suliformes) ในประเทศไทยพบเพียงชนิดเดียวเท่านั้นขนาดลำตัวยาวประมาณ 90-95 เซนติเมตร ปากตรง ปลายปากแหลม หัวเล็กคอยาวมาก ปีกยาว ปลายปีกค่อนข้างมน ขนปลายปีกเส้นที่ 2 และ 3 นับจากด้านนอกยาวที่สุด หางยาวแข็ง ปลายหางเป็นหางพลั่ว มีขนหาง 12 เส้น ขาค่อนข้างสั้นแต่ใหญ่ มีพังผืดนิ้วเป็นแบบตีนพัดเติม ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีเหมือนกัน ตัวเต็มวัยหัวและคอสีน้ำตาล มีลายสีขาวคาดจากคางจนถึงข้างคอ ลำตัวสีดำ ช่วงไหล่ คอด้านบน และลำตัวด้านบนมีลายขีดสีเทาแกมสีเงินตัวไม่เต็มวัยสีจางกว่าตัวเต็มวัย หัวและคอสีขาว ลำตัวสีน้ำตาล มีลักษณะเด่น คือ มีลำคอยาวเรียวดูคล้ายงู จนได้อีกชื่อหนึ่งว่า “นกคองู” เพราะขณะว่ายน้ำ ลำตัวทั้งหมดจะจมลงใต้น้ำ ชูเฉพาะคอและหัวขึ้นเหนือน้ำ ดูคล้ายกับงูที่อยู่ในน้ำมาก

ทั้งนี้ สพ.ญ. กชพร และเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จะได้ติดตามอาการนกอ้ายงั่วตัวดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image