‘เชียงใหม่’ อัพเดต เมืองวัฒนธรรมยื่นเป็นมรดกโลก

หลัง “เชียงใหม่” ได้รับการประกาศให้เป็นหนึ่งในรายชื่อเบื้องต้น หรือ Tentative List ของแหล่งมรดกโลก โดยยูเนสโก ในปี 2557 โดยมีการจัดตั้งโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ตามแนวทางมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ เอกชน ภาคประชาชน นักวิชาการ และเครือข่ายต่างๆ เพื่อศึกษา ค้นคว้า หาหลักฐาน และประจักษ์พยานที่แสดงออกถึงคุณค่าอันโดดเด่นของเมืองเชียงใหม่ ที่เก่าแก่กว่า 722 ปี พร้อมจัดทำร่างเขตพื้นที่ที่จะยื่นขอเสนอเป็นมรดกโลกและการจัดทำร่างเอกสารข้อเสนอ

ล่าสุด รศ.ดร.อาวรณ์ โอภาสพัฒนกิจ รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการและรับใช้สังคม และยุทธศาสตร์บริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นประธานการประชุมนานาชาติด้านมรดกโลก – Integration of Historic and their Natural Settings for Sustainable Development ระหว่างวันที่ 11-14 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีนักวชิาการและผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณสถานและวัฒนธรรม จากหลากหลายประเทศ อาทิ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เกาหลี และเยอรมนี ร่วมประชุม

ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น คุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาคนเล็กในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเชียงใหม่สู่มรดกโลก นำคณะลงพื้นที่จริง เพื่อสำรวจความเป็นมาที่ยาวนานของนครล้านนา อาทิ อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ บรรพชนผู้ร่วมกันก่อสร้างร่างเมืองเชียงใหม่ วัดเชียงมั่น วัดแรกของเมืองเชียงใหม่ ตามด้วยวัดปราสาท วัดสวนดอก และวัดผาลาด (สกทาคามี)

ทั้งหมดได้พบกับศิลปะที่น่าทึ่ง ทั้งลายปูนปั้น และกระจกจืน (แก้วจืน) หน้าบันวิหาร เจดีย์ เมืองเก่าเชียงใหม่ หลักฐานสำคัญที่แสดงออกถึงคุณค่าโดดเด่นเป็นสากล (Outstanding Universal Values) ในระดับสูงสุดของแหล่งมรดกเชียงใหม่ ซึ่งกำลังจะถูกนำเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก”

Advertisement

จากนั้น คุณสิริกิติยา เจนเซน กล่าวนำเปิดการประชุมครั้งสำคัญนี้ว่า “มีคำถามมากมายว่าเชียงใหม่พร้อมขึ้นเป็นมรดกโลกหรือไม่ ต้องบอกว่าเชียงใหม่มีความหลากหลายด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่และยาวนาน มีความโดดเด่นทั้งในแง่โบราณสถานและวัฒนธรรมที่ดีงาม และที่สำคัญคือมีธรรมชาติ มีดอยสุเทพเป็นประหนึ่งป่าศักดิ์สิทธิ์ของผู้คน”

Advertisement

“ดังนั้น การจะบูรณาการประวัติศาสตร์และการตั้งค่าตามธรรมชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันให้เชียงใหม่ก้าวสู่เมืองมรดกโลกที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และรักษาไว้ให้เกิดความยั่งยืน ก้าวไปพร้อมกับแผนการพัฒนาเมืองที่มีความเจริญเติบโตทันสมัยแต่มีคุณค่าสูงทางด้านจิตใจและจิตวิญญาณของโลก”

“การทำงานเป็นทีมโดยการผสานสหวิทยาการร่วมกัน เพื่อสร้างกระบวนการจัดการแหล่งมรดกที่ต่างๆ โดยเฉพาะในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นแหล่งมรดกผสมผสานระหว่างธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรม รวมไปถึงคุณค่าที่จับต้องได้ (tangible) และคุณค่าที่เป็นนามธรรม (intangible) ถึงแม้ว่าคณะทำงานต่างตระหนักได้ว่าแหล่งมรดกนี้คือพื้นที่ผสมผสานระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรมในพื้นที่เดียว แต่ด้วยความที่เราในฐานะนักวิชาการต่างมีองค์ความรู้พื้นฐานการวิจัย และกรอบการมองที่ค่อนข้างเฉพาะทาง ซึ่งแยกระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเน้นย้ำให้เกิดการประสานความร่วมมือเข้าด้วยกัน เพื่อกระบวนการจัดการที่ยั่งยืนทั้งต่อธรรมชาติและคุณค่าทางวัฒนธรรม” คุณสิริกิติยาสรุป

ขณะที่ ดร.กามินี่ วิจิสุริยะ รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียใต้ สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites : ICOMOS) หรืออิโคโมส องค์การวิชาชีพทางมรดกวัฒนธรรมในระดับสากล ซึ่งมีเป้าหมายการทำงานเพื่อการอนุรักษ์และปกป้องคุ้มครองโบราณสถานในลักษณะขององค์การนอกรัฐบาล เป็นที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการของยูเนสโก และคณะกรรมการมรดกโลก เดินทางเข้าร่วมให้ข้อมูลและชี้แนะแนวทางว่าในเมื่อมนุษย์เราสร้างวัฒนธรรม มรดกทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นก็เพราะมนุษย์ การอนุรักษ์ที่ไม่ได้พิจารณาให้ผู้คนเป็นศูนย์กลาง หรือไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้คนในวัฒนธรรมนั้นๆ จะมีประโยชน์อันใด

กระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนไปนี้ ยังมีผลต่อการมองแหล่งมรดกโลกในเชิงรูปธรรม เช่น จากเดิมที่เรานำเสนอแหล่งมรดกโลกเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวของคนทั่วโลก หากเราเริ่มมองเห็นแล้วว่าแหล่งมรดกโลกเองยังเป็นสถานที่สำหรับแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและองค์ความรู้ ทั้งการจัดการและการอนุรักษ์ โดยความรับผิดชอบของผู้คนที่อาศัยและผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญ นักอนุรักษ์ หรือนักวิชาการ แต่หมายถึงผู้คนทุกภาคส่วนในสังคมที่มีบทบาทสำคัญทั้งต่อการอนุรักษ์หรือการทำลายแหล่งมรดกนั้นๆ

“เช่นนั้นแล้ว อำนาจของการอนุรักษ์หรือการทำลายจึงไม่ได้สำคัญอยู่ที่นโยบายหรือระเบียบราชการใดๆ แต่เป็นพวกเราทุกคนนี่แหละที่จะกำหนดทิศทางของแหล่งมรดกที่เราอาศัยอยู่ต่อไปอย่างไรในอนาคต” ดร.กามินี่กล่าวทิ้งท้าย

รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มช. ในฐานะประธานโครงการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่สู่มรดกโลก ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ล่าสุดทีมงานเราทำเอกสารสำหรับการเสนอต่อยูเนสโก เสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งภายในเดือนกันยายนนี้

ความสำคัญของเมืองเชียงใหม่คือ มีวัฒนธรรมในเขตคูเมือง มีธรรมชาติที่เราต้องดูแลและปกป้อง เราจะทำอย่างไร ในขณะที่เชียงใหม่กำลังพัฒนาไปข้างหน้ามากมาย เมื่อเรามาทำเรื่องมรดกโลกก็เกิดคำถามว่าจะทำให้เชียงใหม่ล้าหลัง หรือฉุดเชียงใหม่ให้ถอยหลังไปสู่อดีตหรือเปล่า ต้องบอกว่าไม่ใช่ เรามองเห็นคุณค่าที่ควรส่งเสริมและพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน

ทุกวันนี้โจทย์ของโลกคือวัฒนธรรมและธรรมชาติ แล้วเราจะช่วยกันดูแลและจัดการอย่างไร ซึ่งต้องทำในลักษณะการบูรณาการไม่ใช่แยกส่วนกันทำ สิ่งที่มุ่งหวังคือช่วยให้ประชาชนอยู่ดีกินดีและมีความสุขร่วมกันในอนาคต ต่างประเทศเขามีภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เมืองเชียงใหม่มีดอยสุเทพ ที่ญี่ปุ่นมีภูเขาไฟฟูจิ เขามี 5 เมืองร่วมกันดูแลภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเขา แล้วเราล่ะเราทำอะไรกันบ้าง หรือเพราะว่าองค์ความรู้เราไปไม่ถึงจุดที่ต้องตระหนักว่าธรรมชาติและวัฒนธรรมคือสิ่งสำคัญของโลก

“ประเด็นที่ท้าทายคือการสร้างความเข้าใจของคนเชียงใหม่ในเรื่องการยื่นเสนอพื้นที่เป็นมรดกโลก และผลลัพธ์ของการเป็นมรดกโลก รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ทั้งในเรื่องการสร้างแผนบริหารจัดการพื้นที่มรดก และการดูแลพื้นที่อย่างจริงจังในอนาคต เนื่องจากเชียงใหม่เป็นทั้งเมืองที่มีมรดกทางวัฒนธรรม และเป็นเมืองที่มีความเติบโตทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป” รศ.ดร.วรลัญจก์สรุป

วันสุดท้ายของการประชุม มีข้อสรุปว่า 1.เมืองเชียงใหม่ สามารถเป็นประจักษ์พยานหนึ่งเดียว ของการก่อตั้งเมือง และสร้างสรรค์เมือง ภายใต้แนวคิดการสร้างพันธมิตรระหว่างกษัตริย์สามพระองค์ เพื่อตั้งรับการแผ่อำนาจของมองโกล

2.เมืองเชียงใหม่ เป็นตัวแทนของเมืองที่มีความโดดเด่น และสะท้อนพัฒนาการสูงสุดของรัฐในหุบเขาของชาติพันธุ์ไต (Tai-Dai Culture) และ 3.เมืองเชียงใหม่ สะท้อนแนวคิดเมืองที่มีชีวิต (Living City) ผ่านการสืบต่อและส่งทอดวิถีวัฒนธรรม และจิตวิญญาณของความเป็นเมือง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ผ่านการหลอมรวมความเชื่อ ผี พุทธ และพราหมณ์

คุณค่ามรดกทางวัฒนธรรม (Cultural Heritage) ข้างต้น ได้สะท้อนผ่านองค์ประกอบสำคัญของเมือง 3 ประการ คือ 1.โครงสร้างของการออกแบบผังเมือง (Town’s Planning) อันได้แก่ แนวคิดของการสร้างเมือง การจัดวางองค์ประกอบเมือง ทิศทาง ตำแหน่ง แนวแกน ถนน และความเชื่อมต่อของเมืองที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบทางธรรมชาติ เช่น ดอยสุเทพ พื้นที่ราบเชิงเขา พื้นที่ลุ่ม แหล่งน้ำ และแม่น้ำปิง

2.อาคารสถาปัตยกรรม และองค์ประกอบของสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนแนวคิดของการสร้างเมือง (Town’s Architecture) อันได้แก่ ป้อม ประตู คูเมือง เสาหลักเมือง วัด อาคาร แหล่งโบราณสถาน ที่สะท้อนแนวคิดการสร้างเมือง และไม้หมายเมือง

3.วัฒนธรรม ระบบความเชื่อ ประเพณี และจารีต ของผู้คนที่ทำให้เมืองยังคงความสืบเนื่องและมีชีวิต (Town’s Culture)

นี่คือ…”เชียงใหม่” เมืองที่มีเสน่ห์ เพียบพร้อมในทุกมิติ ที่จะก้าวสู่การเป็น “เมืองมรดกโลก” ในอนาคต แต่จะได้หรือไม่นั้น อยู่ที่ความร่วมมือร่วมใจไม่เฉพาะคนเชียงใหม่ แต่รวมถึงคนไทยทั้งประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image