ขรก.บำนาญคลังประจวบฯ เดือด! ท้าอธิบดีบัญชีกลางใช้เดือนละ ‘9พัน’ พอไหม

เมื่อวันที่ 22 กันยายน นายวิรัช หิรัญญะเวช อายุ 76 ปี อดีตหัวหน้าสำนักงานคลัง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยถึงกรณีที่น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลางให้ข่าวทำนองว่าไม่เห็นด้วยกับกรณีที่สหพันธ์ข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย เสนอให้มีการปรับขึ้นเงินบำเหน็จเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ โดยอธิบดีกรมบัญชีกลางเห็นว่าข้าราชการบำนาญไม่ได้ทำงาน แต่ได้เงินมากกว่าคนจนเยอะ แล้วจะเรียกร้องให้มีการเพิ่มเงินบำนาญไปทำไม ว่า เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้เพิ่มเงินบำนาญให้กับผู้เกษียณอายุราชการเพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน แต่คาดว่าคงมีปัญหาจากผู้บริหารกระทรวงการคลัง โดยอ้างว่าการเพิ่มเงินบำนาญจะต้องสอดคล้องกับการเพิ่มเงินเดือนให้กับข้าราชการ ซึ่งอาจมีผลกระทบกับสถานะการเงินการคลังของประเทศ ขณะเดียวกันยอมรับว่าเพื่อนข้าราชการบำนาญทั่วประเทศไม่พอใจการให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นของอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นอย่างมาก หลังจากเปรียบเทียบข้าราชการบำนาญมีรายได้เดือนละ 2 หมื่นบาท กับผู้ใช้แรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำเดือนละ 9,000 บาท ล่าสุดได้เสนอความเห็นผ่านไลน์แอพพลิเคชั่นถึงเพื่อนข้าราชการกรมบัญชีกลาง เพื่อส่งให้ถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งปัจจุบันไม่มีสามีไม่มีบุตร ไม่มีภาระที่ต้องรับผิดชอบกับบุคคลในครอบครัวเช่นเดียวกับข้าราชการบำนาญจำนวนมาก

“ผมขอแนะนำให้อธิบดีกรมบัญชีกลาง นำเงินเดือนรวมค่าตำแหน่งเกือบแสนบาทที่ได้รับประจำทุกเดือน บริจาคให้กาชาด แล้วเหลือใช้จ่ายแค่ 9,000 บาท จากนั้นไม่ควรอยู่รวมกับพ่อแม่ ให้หาลูกมาเลี้ยง 3 คน เป็นการพิสูจน์ด้วยตนเองก่อนว่าเงิน 9,000 บาท พอใช้จ่ายรายเดือนหรือไม่ หรือเห็นว่าเงินบำนาญ 20,000 บาท พอใช้จ่ายตามที่แสดงความเห็น ดังนั้นถ้าไม่มีประสบการณ์ด้วยตนเอง ก็ไม่น่ามีแนวคิดแบบนี้ วันนี้ผมแจ้งผ่านไลน์ถึงเพื่อนๆ ถ้ามีโอกาสได้พบกับอธิบดีกรมบัญชีกลางช่วยนำข้อความในไลน์ของผมให้ท่านอ่านด้วย” นายวิรัช กล่าวและว่า ขณะนี้ข้าราชการระดับกลางและระดับล่างที่เกษียณส่วนใหญ่ยังมีชีวิตวามเป็นอยู่ที่ยากลำบาก บางรายต้องจ่ายเงินค่าเช่าบ้านเพื่อพักอาศัย เนื่องจากไม่มีฐานะจากมรดกตกทอด หรือมีฐานะร่ำรวยที่ผิดปกติมาจากการประกอบอาชีพรับราชการ

นายวิรัช กล่าวว่า ขณะนี้ได้เสนอแนวคิดในการช่วยเหลือเพื่อนข้าราชการบำนาญทั่วประเทศ โดยเรียกร้องให้นำเงินบำเหน็จดำรงชีพที่จะจ่ายให้กับทายาทจำนวน 30 เท่าของเงินบำนาญ เมื่อข้าราชการบำนาญเสียชีวิต ขณะที่ปัจจุบันข้าราชการบำนาญจะได้รับครั้งละไม่เกิน 2 แสนบาท เมื่ออายุ 60 ปี และ 65 ปี นั้น ควรกำหนดใหม่โดยได้รับเพิ่มเมื่อมีอายุ 70 ปี และอายุ 75 ปี ตามหลักเกณฑ์ที่นำเสนอโดยจ่ายให้ในวงเงินไม่เกินร้อยละ 80 โดยรัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงินเพิ่ม เนื่องจากเงินก้อนนี้รัฐจะต้องจ่ายให้ทายาทเมื่อข้าราชการบำนาญเสียชีวิต แต่หากใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ทายาทจะได้รับเงินเพียง 20 % จากการจ่ายเพิ่มตามสัดส่วนของอายุข้าราชการบำนาญที่มากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะการรักษาอาการเจ็บป่วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image