สสจ.ยะลาเตือน พ่อแม่เฝ้าระวังโรคหัด หลังเด็กยะลาป่วยโรคหัด 156 ราย

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 นพ.สงกรานต์ ไหมชุม นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.)ยะลา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคหัดในจังหวัดยะลา มีการเกิดโรคหัดอย่างต่อเนื่อง และมีการระบาดจากพื้นที่ที่มีการควบคุมวัคซีนต่ำ พบสัดส่วนการเกิดโรคหัดระบาดในกลุ่มเด็ก จากรายงานจำนวนผู้ป่วยโรคหัดในจังหวัดยะลาจากฐานข้อมูลกำจัดโรคหัด เว็บไซต์สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ข้อมูลในช่วงวันที่ 1 -29 กันยายน 2561 พบมีผู้ป่วยจำนวน 156 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอายุ 1-4 ปี (ร้อยละ 45.51) อายุต่ำกว่า 1 ปี (ร้อยละ 29.49) ครอบคลุมทุกอำเภอโดยอำเภอที่มีผู้ป่วยสูงสุดคืออำเภอยะหา (62 ราย) รองลงมาอ.กาบัง (25ราย) เมืองยะลา(23ราย) บันนังสตา(18ราย) กรงปีนัง(10ราย) รามัน/ธารโต(8ราย) และอ.เบตง(2ราย) ตามลำดับ

“โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่น พบได้ทุกวัย และพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 1-6 ปี เกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด เชื้อไวรัสจะกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และเข้าสู่ร่างกายโดยทางการหายใจ บางครั้งเชื้ออยู่ในอากาศเมื่อหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป ก็ทำให้เป็นโรคได้ ถ้าไม่มีภูมิต้านทาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นอกจากนี้โรคหัดยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้” นพ.สงกรานต์ กล่าว

นพ.สงกรานต์ กล่าวต่อว่า ส่วนอาการของโรคหัด เริ่มด้วยมีไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะและกลัวแสง อาการต่างๆ จะมากขึ้นพร้อมกับไข้สูงขึ้ง และจะสูงขึ้นเต็มที่เมื่อมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ลักษณะผื่นนูนแดงติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่หน้า บริเวณชิดขอบผม แผ่กระจายไปตามลำตัว แขน ขา เมื่อผื่นแพร่กระจายไปทั่วตัว ซึ่งกินเวลาประมาณ 2-3 วัน ไข้ก็จะเริ่มลดลง ผื่นระยะแรกมีสีแดงจะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีแดงคล้ำ หรือน้ำตาลแดง บางครั้งจะพบผิวหนังลอกเป็นขุย การตรวจในระยะ 1-2 วัน ก่อนผื่นขึ้น จะพบจุดขาวๆ เล็กๆ มีขอบสีแดงๆ อยู่ในกระพุ้งแก้ม จะช่วยให้วินิจฉัยโรคได้ก่อนที่จะมีผื่นขึ้น อาการแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะในเด็กเล็ก คือ หูส่วนกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ อุจจาระร่วง สมองอักเสบ พบได้ประมาณ 1 ใน 1,000 ราย ซึ่งจะทำให้มีความพิการเหลืออยู่ ถ้าไม่เสียชีวิต

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยะลา กล่าวอีกว่า สำหรับการป้องกันโรคหัด ทำได้โดยการแยกผู้ป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคหัดจนถึง 4 วันหลังผื่นขึ้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขให้วัคซีนป้องกันโรคหัด 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุ 9-12 เดือน ครั้งที่ 2 เมื่อเด็กอายุ 2 ปีครึ่ง โดยให้ในรูปของวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด คางทูม หัดเยอรมัน (MMR) จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำบุตรหลานไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ และช่วงนี้ขอให้มีการเฝ้าระวังป้องกันโรคหัดตามคำแนะนำเบื้องต้น ทั้งนี้ในช่วงที่มีการเกิดโรคหัดในพื้นที่จังหวัดยะลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลาและเครือข่ายบริการทุกแห่งมีการดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคหัดอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เน้นย้ำให้ผู้ปกครองนำบุตรหลานอายุ 0-5 ปี รับวัคซีนตามเกณฑ์ และเด็กที่ยังไม่ได้รับวัคซีน /ผู้ใหญ่ที่ไม่มีประวัติวัคซีน ให้ได้รับวัคซีนด้วย หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัดสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image