“พินิจ”ชวนดูแข่งกรีดยางนานาชาติ ผอ.อุตฯ หนุนแปรรูปส่งตลาดจีน หมอนยางพาราขายดี

@ งานยางบึงกาฬวันที่คนแน่น

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559 ซึ่งจัดขึ้น โดยความร่วมมือของ จ.บึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ เหล่ากาชาดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และองค์การหน่วยงานราชการ-เอกชน โดยบรรยากาศในวันที่ 3 ของการจัดงาน เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการ ทำให้บรรยากาศคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า มีประชาชนทั้งใน จ.บึงกาฬ และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจาก สปป.ลาวมาร่วมชมงานและเลือกซื้อสินค้าอย่างเนืองแน่น แม้จะมีฝนตกลงมาเล็กน้อยในช่วงเช้า ขณะที่ในช่วงเย็นจนถึงหัวค่ำอากาศเย็นลงจนต้องสวมเสื้อกันหนาว ทำให้มีผู้เข้าชมงานมากยิ่งขึ้นอีก

@ ผอ.อุตฯหนุนทำหมอนส่งจีน

นางนพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อานวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การมาร่วมงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ ปีที่แล้วที่มาก็เหมือนเพิ่งมาเริ่ม เพิ่งมาคุยกับกลุ่มเกษตรกรว่าน่าจะทำการแปรรูปยางพารา แล้วก็เห็นว่าหมอนยางพาราน่าจะไปได้ดีเพราะยังมีศักยภาพดีกว่าอย่างอื่นเยอะ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ แล้วก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ชาวสวนยางบึงกาฬเลยเริ่มรวมกลุ่มเป็นชุมชนสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ แล้วก็เริ่มขอเงินกู้เพื่อตั้งโรงงานผ่านโครงการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตอนนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติ

Advertisement

“วันนี้หมอนยางพารามีตลาดที่ประเทศจีนรองรับเพราะเป็นที่นิยม มีความต้องการในตลาดสูงอยู่ แล้วก็สร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรด้วยการแปรรูป และบังเอิญตอนนี้เป็นช่วงที่ราคายางพาราตกต่ำ พอยางราคาตกเกษตรกรก็สนใจหันมาแปรรูปมากขึ้น อย่างเมื่อก่อนตอนยางราคาแพงก็ไม่ค่อยเกิดการแปรรูป ส่วนใหญ่พอใจแล้วกับเงินที่ได้เพราะไม่มีอะไรมาบีบบังคับ แต่ตอนนี้มันเหมือนมีวิกฤต แต่เป็นการสร้างโอกาสในวิกฤตนั้น มันเป็นโอกาสที่เขาจะปรับเปลี่ยน” นางนพรัตน์กล่าว

@ เผยศักยภาพบึงกาฬทำได้

นางนพรัตน์กล่าวอีกว่า สาเหตุที่เริ่มทำที่ จ.บึงกาฬ เพราะมีศักยภาพด้านการตลาดที่แข็งแรงมากและยังมีผู้นำที่เข้มแข็ง ทำให้การพัฒนาไปได้เร็วกว่าที่อื่น อย่างเคยไปทำที่ภาคใต้ก็ทำผลผลิตออกมาได้ดี เพียงแต่ไม่มีตลาด ไม่มีคนช่วย เคยเอาไปเสนอที่จีนแต่เนื่องจากทำการตลาดไม่ได้ แต่ที่บึงกาฬเขามีศักยภาพตรงนี้ มีความสามารถที่ได้เปรียบ ทั้งมีที่ตั้งอยู่ห่างจากประเทศจีนไม่ไกลมากนัก และมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีน จึงสามารถเข้าถึงตลาดได้

“มองว่าตอนนี้ชาวบึงกาฬสบายแล้ว มีตลาด มีผู้นำที่เข้มแข็ง มีศักยภาพ ตอนนี้เหลือแค่ตั้งโรงงานเพื่อผลิตอย่างเป็นรูปธรรม แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำแต่หมอนอย่างเดียวแล้วจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องยางได้ทั้งหมด เพราะปริมาณยางเยอะ ต้องมีการจัดการอย่างอื่นด้วย เช่น การแปรรูปขั้นกลางเข้ามาบ้าง ตั้งแต่ระดับเกษตรกร เช่น แทนที่จะขายเป็นยางก้อนถ้วย ก็แปรรูปเป็นยางแผ่นหรือทำเป็นน้ำยางข้น ยางก้อนถ้วยก็จะมีปริมาณน้อยลง แล้วยางที่แปรรูปขั้นกลางก็สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่าขายยางก้อนถ้วยอยู่แล้ว” นางนพรัตน์กล่าว

@ แห่ซื้อหมอนยางพาราเนืองแน่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่บูธจำหน่ายหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ จำกัด ที่นำหมอนยางพารามาจำหน่าย ได้รับความสนใจจากประชาชนที่มาร่วมชมงานเลือกซื้อหมอนยางพาราอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

นางรุจิรา หล้าซุย อายุ 53 ปี เจ้าหน้าที่ประจำบูธ กล่าวว่า ปกติแล้วหมอนยางพาราหากไม่ได้จำหน่ายในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ ตามท้องตลาดแล้วจะตกที่ใบละพันกว่าบาท แต่งานนี้เพื่อให้ประชาชนและพี่น้องทั่วไปที่มาเดินชมงานได้จับจ่ายในราคาเพียงใบละ 500 บาท ตลอด 2 วันที่ผ่านมาจำหน่ายได้จำนวนมาก มีประชาชนสนใจเข้ามาสอบถามเยอะมาก ทั้งสั่งจองไปใช้เองและเป็นของฝาก เนื่องจากหมอนยางพารามีคุณสมบัติยืดหยุ่น มวลเนื้อแน่นสูง สามารถรองรับสรีระเวลานอน ทำให้ไม่ปวดเมื่อย กระจายแรงกดทับ และเนื้อหมอนก็ไม่แข็ง คืนรูปเร็วทันทีหลังการกดทับ ช่วยกระจายการไหลเวียนของเลือดได้

น.ส.ปฐมา สุวรรณไตร ประชาชนที่มาเลือกซื้อหมอนยางพารา กล่าวว่า เคยใช้มาก่อนหน้านี้แล้วรู้สึกว่า ดีต่อสุขภาพมากๆ จึงมาเลือกซื้ออีก เนื่องจากมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป และถือว่าเป็นการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของคนบึงกาฬ อยากให้ยกระดับเป็นสินค้าโอท็อปของจังหวัดเลยด้วยซ้ำ

@ ผู้ว่าฯชวนอบรมอาชีพมติชน

นายพงษ์ศักดิ์ ปรีชาวิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า การฝึกอาชีพเป็นหนึ่งในการจัดกิจกรรมสำคัญของมติชนอคาเดมี และเป็นกิจกรรมหลักของการจัดงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ ประจำปี 2559 เป็นการอบรมวิชาชีพซึ่งได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนชาว จ.บึงกาฬ และจังหวัดใกล้เคียง เรียนเชิญพี่น้องที่สนใจมาเข้าร่วมฝึกอบรมอาชีพกับมติชนอคาเดมี ที่ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานระดับชาติ เมื่อเราได้มาอบรมแล้วก็สามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดในการที่จะเปิดร้านทำมาหากินได้ ถือว่าเป็นความมั่นคง

นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวว่า ปกติแล้วหมอนยางพาราหากไม่ได้จำหน่ายในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ ตามท้องตลาดแล้วจะตกที่ใบละ 1,900 บาท แต่งานนี้เพื่อให้ประชาชนและพี่น้องทั่วไปที่มาเดินชมงานได้จับจ่ายในราคาเพียงใบละ 500 บาท ซึ่งตลอด 2 วันที่ผ่านมาจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก

@ แนะเทคนิคโค่นไม้ยางได้ราคา

เวลา 14.30 น. ที่เวทีปราชญ์ชาวบ้าน มีการเสวนาในหัวข้อ “เทคนิคการตัดไม้ยางพาราเพื่อการค้าและการแปรรูป” โดยนายเกษตร แนบสนิท นักวิชาการเกษตรชำนาญ ศูนย์วิจัยยางหนองคาย สถาบันวิจัยยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมไม้ยางพาราเฟื่องฟูมากระยะหลัง ในปีที่ผ่านมาสร้างผลผลิตในระบบทั้งประเทศ 70,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ส่งออก 39,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเฟอร์นิเจอร์ส่งออกตลาด จีน เกาหลี ยุโรป อเมริกา หรือกล่าวได้ว่าทั่วโลก เพราะไม่ค่อยโดนกีดกันทางการค้าเหมือนไม้อื่นๆ ที่มาจากการตัดป่า เพราะไม้ยางนั้นเป็นประโยชน์ที่ได้ทางอ้อมจากการปลูกเพื่อกรีดยาง มองว่าอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางค่อนข้างมีอนาคต

“การซื้อขายไม้ยางพาราแบ่งเป็น 3 ขนาด คือ 1.ไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 8 นิ้ว ราคา 2.50 บาทต่อกิโลกรัม นิยมนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ 2.ไม้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-8 นิ้ว ราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ขนาดรองลงมา และ 3.เส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่า 6 นิ้ว ราคากิโลกรัมละบาท ใช้ทำไม้ฟืนในอุตสาหกรรมยางพารา สำหรับเทคนิคในการตัดยาง เกษตรกรต้องรู้ปริมาณไม้ของตัวเองว่าอยู่ขนาดไหน ต่อมาเรื่องสิทธิประโยชน์การขอทุนสงเคราะห์เมื่อทำการโค่นต้นยางแล้ว ต่อมาเรื่องกฎหมาย การต้องขออนุญาตกรมป่าไม้ก่อนตัด และสุดท้ายต้องรับข่าวสารข้อมูลว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ราคาไม้ในตลาดเท่าไหร่ อย่างเช่น โค่นต้นยางในหน้าฝนจะได้ราคาสูงกว่าเพราะไม่มีใครโค่น อย่างนี้เป็นต้น” นายเกษตรกล่าว

@ ‘พินิจ’เยี่ยมชมบูธงานยาง

เวลา 15.20 น. ที่เวทีปราชญ์ชาวบ้าน นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ได้เดินทางมาร่วมชมงาน และขึ้นกล่าวบนเวที เชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ พร้อมระบุว่างานในปีนี้จัดยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง เป็นเวลายาวนานถึง 7 วัน 7 คืน อัดแน่นด้วยกิจกรรมความรู้และความบันเทิง รวมทั้งยังได้ร่วมลุ้นรับโชคจากเหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายพินิจได้เดินเยี่ยมชมการทำงานของเครื่องกรีดยางอัตโนมัติที่บูธของบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งบูธของมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ โซนสินค้าโอท็อปพร้อมทั้งอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนมากมาย โดยมีนายชัยธวัช เนียมศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ และ น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) นำเยี่ยมชม ขณะที่ประชาชนจำนวนมากต่างเข้ามาขอถ่ายรูปตลอดทาง

@ ชวนดูแข่งกรีดยางนานาชาติ

นายพินิจกล่าวว่า งานปีนี้มีเนื้อหาที่เข้มข้นเป็นประโยชน์มากด้านองค์ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะความรู้เกี่ยวกับยางพารา เรื่องการแปรรูปยางพารา โดยมีส่วนที่เด่นสามส่วนคือ เครื่องมือกรีดยาง หมอนยางพารา และถนนยางพาราของ มจพ. ทั้ง 3 ส่วนนี้ถ้าสามารถทำสู่ตลาดในประเทศได้ จะช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมาก

“ปีนี้งานยางพาราครบครันมาก มีความเข้มข้นทุกอย่างโดยเฉพาะเรื่องการกรีดยาง ในวันที่ 27 มกราคมนี้ จะเป็นวันชิงแชมป์ รางวัลที่ 1 มูลค่า 100,000 บาท รางวัลที่ 2 มูลค่า 50,000 บาท แล้วก็มีรางวัลต่างๆ อีกมากมาย และได้ทราบมาว่ามีนักกรีดยางมาจากทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสานมีมาจากทุกจังหวัด และมีนักกรีดยางจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนาม กัมพูชา ลาว จึงจัดรางวัลให้เป็นการกรีดของนานาชาติ โดยแบ่งเป็นการชิงแชมป์ในประเทศ และชิงแชมป์ต่างประเทศ กิจกรรมนี้พลาดไม่ได้” นายพินิจกล่าว

@ เพิ่มทีมเข้าชิง’บึงกาฬคอนเทสต์’

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งบึงกาฬคอนเทสต์ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก บรรยากาศในวันแรกได้รับความสนใจจากประชาชนมาร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดและคณะกรรมการจัดงานจึงมีมติเพิ่มทีมที่จะเข้ารอบเพื่อแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศจากเดิม 4 ทีม เป็น 5 ทีม โดยจะเป็นผู้ชนะในการแข่งขันรอบคัดเลือกแต่ละวันจำนวน 4 ทีม และทีมที่แพ้ในรอบคัดเลือกที่มีคะแนนดีที่สุดอีกหนึ่งทีม ดังนั้นในวันที่ 27 มกราคม ที่เป็นการประกวดรอบชิงชนะเลิศ จะมีรางวัลชนะเลิศ, รองชนะเลิศอันดับ 1, รองชนะเลิศอันดับ 2 และชมเชย 2 รางวัล สำหรับบรรยากาศการประกวดรอบคัดเลือกในวันที่ 2 เป็นการเจอกันระหว่างทีม อ.ปากคาด กับ อ.โซ่พิสัย ยังคงมีผู้ให้ความสนใจร่วมชมและเชียร์อย่างเนืองแน่นเช่นเดิม

@ ครูคุมวงอยากให้จัดทุกปี

น.ส.สุดา ศาลาแก้ว ครูผู้ควบคุมวง โรงเรียนปากคาดวิทยาคม อ.ปากคาด กล่าวว่า ดีใจที่จังหวัดจัดกิจกรรมประกวดวงดนตรีของจังหวัดขึ้น วงดนตรีปากคาดวิทยาคมเป็นวงน้องใหม่เพิ่งก่อตั้ง ปกติก็มีออกงานเล็กๆ น้อยๆ บ้าง งานนี้รู้สึกตื่นเต้นเพราะถือเป็นอีกงานที่ใหญ่ระดับจังหวัด เลยเตรียมการแสดงที่จะเชื่อมโยงทั้ง 3 เพลงให้เป็นเรื่องเดียวกัน คือ เพลงครั้งหนึ่งที่บึงกาฬ เพลงผู้ชายในฝัน และเพลงจูบแล้วลา งานนี้ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ต่างๆ อยากให้ทางจังหวัดจัดงานนี้ต่อไปเรื่อยๆ

นางจินตนา อึ้งตระกูล ผู้ควบคุมวงโรงเรียนโซ่พิสัยพิทยาคม อ.โซ่พิสัย กล่าวว่า เยาวชนบึงกาฬมีความสามารถเยอะ งานนี้เป็นเหมือนเวทีให้เขาได้แสดงออก โดยเฉพาะเด็กหลายคนไม่ได้เก่งเรื่องวิชาการ โดยเฉพาะเด็กต่างจังหวัดไม่ค่อยเก่งด้านวิชาการเท่าไหร่ ถ้ามุ่งเน้นแต่แข่งขันทางวิชาการ เด็กกลุ่มนี้ก็ไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ

@ คอนเสิร์ต’ลาบานูน’ท้าหนาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการประกวดวงดนตรีลูกทุ่งบึงกาฬคอนเทสต์ มีการแสดงคอนเสิร์ตของวงดนตรี “ลาบานูน” โดยมีประชาชนร่วมชมเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางอากาศที่ค่อนข้างหนาวเย็น อย่างไรก็ตาม สำหรับงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559 จะจัดขึ้นจนถึงวันที่ 27 มกราคม ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ ภายในงานมีนวัตกรรมยางพาราจัดแสดง นิทรรศการฝากไทย ครั้งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเสวนาให้ความรู้ จำหน่ายสินค้าโอท็อป รวมถึงลุ้นรับโชคกับเหล่ากาชาด จ.บึงกาฬ

รายชื่อผู้สนับสนุนงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559 ยังรวมถึงบริษัท โรงงานน้ำตาลทราย เริ่มอุดม จำกัด บริษัท อุทัยโปรดิวส์ จำกัด บริษัท มิลคอน จำกัด (มหาชน) บริษัท Gel จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอเจน จำกัด มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดย ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง, ดร.ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บริษัท บีฟิท จำกัด (มหาชน) บริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง บริษัท Sany จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เซาท์แลนด์ จำกัด บริษัท ไทยฮั้วรับเบอร์ จำกัด (มหาชน) และนายวิชัช ไตรรัตน์ นายก อบต.กะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image