เตือนเกษตรกรไทย ระวัง ‘โรคใบด่างมันสำปะหลัง’ หลังกัมพูชา-เวียดนาม ระบาดหนัก! 

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นางธิดารัตน์ รอดอนันต์ อุปนายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยภายหลังร่วมกับสมาชิกสมาคมฯ และนักวิชาการเกษตร ร่วมกันประชุมอบรมการเฝ้าระวังโรคใบด่างมันสำปะหลัง และแนวทางป้องกัน และกำจัดใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งขณะนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ออกมาเตือนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้เฝ้าระวัง เนื่องจากพบการระบาดของโรคเกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา และเวียดนาม) ว่า ขณะนี้พบมีการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอตะเบียงปราสาท จังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ห่างจากเขตชายแดนประเทศไทย อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งโรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคที่มีความรุนแรงมาก หากพบเกิดขึ้นในแปลงมันสำปะหลังแล้วจะทำให้ผลผลิตเสียหายร้อยละ 80-100 เกษตรกรไม่สามารถเก็บผลผลิตได้

นางธิดารัตน์ กล่าวว่า โรคใบด่างมีเชื้อไวรัสเป็นสาเหตุ จะติดมากับท่อนพันธุ์และมีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นแมลงพาหะ มีโอกาสเสี่ยงที่เชื้อไวรัสนี้จะแพร่เข้ามาในประเทศไทยได้ สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงต้องเฝ้าระวัง และหาทางป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาระบาดทำความเสียหายให้กับผลผลิตมันสำปะหลัง และเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุดของประเทศ มีการปลูกมันสำปะหลังประมาณ 1,800,000 ไร่ และให้ผลผลิตออกสู่ตลาดปีละมากกว่า 7 ล้านตัน จากผลผลิตภาพรวมทั้งประเทศประมาณ 30 ล้านตัน

“อยากฝากเตือนไปยังพี่น้องเกษตรกร อย่าไปเอาพันธุ์มันสำปะหลังจากพื้นที่อื่น โดยเฉพาะพันธุ์มันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเกษตรกรควรมั่นใจในแหล่งที่มาของพันธุ์มันสำปะหลังที่ตนเองนำมาปลูกและหากเกษตรกรพบแปลงมันสำปะหลังมีลักษณะคล้ายโรคใบด่าง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตรทันที เพื่อเข้าทำลายแปลงมันสำปะหลังที่พบอาการต้องสงสัยทั้งหมดทันที โดยการถอน และราดด้วยสารกำจัดวัชพืชก่อนขุดหลุมฝังกลบต้นมันสำปะหลัง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น” นางธิดารัตน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image