เปิดโปงเส้นทางอมเงินค่าแรงผู้ดูแลคนพิการ โครงการจ้างเหมา

ผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญากาฬสินธุ์ เปิดโปงเส้นทางอมเงินค่าแรงผู้ดูแลคนพิการ ในโครงการจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 คนละ 1 แสนบาทต่อปี เป็นเงินบริจาคจากบริษัทเอกชนที่เข้ามาร่วมดูแลคนพิการผ่านชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา แต่กลับถูกหักหัวคิวไม่จ่ายเต็ม ยักยอกเดือนละกว่า 5 พัน ด้านประธานชมรมฯ ยันความโปร่งใส

จากกรณีตัวแทนผู้ปกครองคนพิการใน จ.กาฬสินธุ์ ออกมาร้องเรียนเรื่องเงินค่าแรงผู้ดูแลคนพิการ ในโครงการจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 คนละ 1 แสนบาทต่อปี หรือเดือนละเกือบหมื่นบาท ถูกชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา จ.กาฬสินธุ์ยักยอก ด้วยวิธีให้เปิดบัญชีทำงาน จากนั้นเก็บบัตรเอทีเอ็มและสมุดบัญชีก่อนจ่ายให้รายเดือนแค่คนละ 2,000-4,000 บาท ขณะที่มีการโอนเงินเข้าจริงเกือบหมื่นบาท เชื่อมีขบวนการสูบเลือดคนพิการแฝงในระดับชมรมถึงระดับสูง เรียกร้องเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตรวจสอบตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมผู้สื่อข่าว จ.กาฬสินธุ์ ติดตามความคืบหน้าหลังการร้องเรียน จากนางฐานิดา อนุอัน อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 24 หมู่ 1 บ้านเสริมชัยศรี ต.นิคม อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นผู้ปกครอง น.ส.น้องอี๊ฟ อายุ 17 ปี โดยมีความพิการทางสติปัญญา สมองมีการพัฒนาล่าช้าอ่อนกว่าวัย 5 ปี

นางฐานิดากล่าวว่า หลังจากที่ตนได้ไปร้องเรียนกับเครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการที่สำนักงานใหญ่แล้ว ทราบจากผู้ปกครองคนพิการที่ร่วมโครงการจ้างเหมาบริการ ตามมาตรา 35 ด้วยกันว่า มีเจ้าหน้าที่ของชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา จ.กาฬสินธุ์ ออกมาพบที่บ้านในตอนเย็น พร้อมนำเอกสารมาให้เซ็นรับรอง ว่ายอมรับกับข้อเสนอของทางชมรม ที่ให้หักค่าจ้างตามสัญญาเดือนละ 9,125 บาท จำนวน 5,125 เหลือ 4,000 บาท โดยอ้างว่าเป็นค่าดำเนินการต่างๆของทางชมรม ซึ่งเป็นการเซ็นยินยอมภายหลัง ตนถือว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสาร และแสดงถึงเจตนาที่ไม่โปร่งใส

Advertisement

นางฐานิดากล่าวอีกว่า สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ก็เพราะว่ามีคนพิการในการดูแลในครัวเรือนถึง 3 คน คือน้องอี๊ฟลูกสาว อายุ 17 ปี ที่มีความพิการทางสติปัญญา ส่วนที่เป็นภาระหนัก นอนติดเตียงคือนายประเคน มะลัยจันทร์ ซึ่งเป็นบิดา อายุ 71 ปี ป่วยเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกมา 4 ปี ส่วนอีกคนคือนางทองดี มะลัยจันทร์ อายุ 70 ปี ซึ่งเป็นมารดา ตาบอดทั้ง 2 ข้างมา 8 ปี ทั้ง 2 คนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยรายได้ที่นำมาจุนเจือครอบครัวนั้น ได้จากเบี้ยยังชีพผู้พิการและผู้สูงอายุรวมกัน 3 คนเดือนละ 3,600 บาท และรายได้จากการไปรับจ้างกรีดยางของนายธวัชชัย อนุอัน สามีซึ่งมีรายได้เพียงเดือนละ 5,000-7,000 บาทเท่านั้น ส่วนตนจะไปหาทำงานรับจ้างที่ไหนไม่ได้เลย เพราะต้องดูแลลูกและพ่อแม่ที่พิการถึง 3 คนดังกล่าว

“หลังไปร้องเรียนไปที่เครือข่ายพิทักษ์สิทธิ์คนพิการ(สำนักงานใหญ่)จึงได้ทราบรายละเอียดว่าโครงการจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 นั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มีสัญญา 1 ปี ซึ่งผู้ปกครองที่เข้าร่วมโครงการจะทำหน้าที่ดูแลเด็กพิการทั้งลูกของตนเองและลูกคนอื่น นอกจากนี้ยังเข้าร่วมกิจกรรมที่ชมรมจัดขึ้น เช่น อบรมอาชีพ กิจกรรมบำบัดผู้พิการโดยจะได้รับค่าจ้างเดือนละ 9,125 บาท จบโครงการรวมค่าแรง 109,500 บาท ซึ่งตนเองก็เคยพาลูกเข้าร่วมกิจกรรม ตามที่ชมรมกำหนด แต่บางครั้งก็ไม่ได้ไป เพราะต้องดูแลพ่อกับแม่ที่พิการ ประกอบกับพบพิรุธถูกยักยอกค่าแรง จึงออกมาเรียกร้องสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ และเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบเส้นทางทุจริตด้วย”

ผู้สื่อข่าว ได้สอบถามข้อเท็จจริงกับนางสาวพูลสุข อุดรสรรพ์ ประธานชมรมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญา จ.กาฬสินธุ์ โดยกล่าวว่าว่า งบประมาณที่นำใช้ในโครงการจ้างเหมาบริการ ตามมาตรา 35 นั้น ได้รับจากได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ไทย เอ็นโอเค จำกัด ทั้งนี้ เพื่อการมีส่วนร่วมช่วยดูแลสังคมของภาคเอกชนผ่านทางสำนักงานจัดหางาน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งตามสัญญาหมายถึงผู้ว่าจ้างขณะที่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลคนพิการเป็นผู้รับจ้าง จ่ายค่าตอบแทน 109,500 บาทต่อปี หรือเดือนละ 9,125 บาท จ่ายค่าจ้างเป็นราย 3 เดือน โดยโอนผ่านทางบัญชีธนาคาร

นางสาวพูลสุขกล่าวอีกว่า ก่อนเซ็นสัญญากับผู้ปกครองคนพิการหรือผู้รับจ้าง ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกันด้วยวาจา และยอมรับเงื่อนไข 6 ข้อ คือ 1.ผู้รับสิทธิ์ตามมาตรา 35 ต้องทำงานที่ชมรมกำหนดฯสัปดาห์ละ 3 วัน ค่าจ้างเดือนละ 4,000 – 4,500 บาท, 2.หากไม่มาทำงานที่ชมรมฯ ตกลงรับค่าจ้างเดือนละ 2,000 บาท, 3.เงินค่าจ้างที่เหลือต่อเดือนมอบให้ทางชมรมบริหารจัดการภายในชมรมฯ เช่น ค่าเช่าสำนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ และอื่นๆ, 4.ต้องเปิดบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยาและทำบัตรเอทีเอ็ม เพื่อรับค่าจ้าง 3 เดือน/ครั้ง โดยมอบให้ทางชมรมเก็บสมุดเงินฝากและบัตรเอทีเอ็มไว้เพื่อใช้เบิกเงินค่าจ้าง, 5. ก่อนเซ็นสัญญาได้อ่านรายละเอียดในสัญญาแล้วจึงลงรายชื่อ และ 6.การพูดคุยตกลงกันด้วยวาจา ผู้รับสิทธิ์ฯ ยินยอมตามข้อตกลงข้อ 1,2,3,4 ด้วยความสมัครใจ

“จากรณีที่มีผู้รับสิทธิ์ตามาตรา 35 บางรายร้องเรียนนั้น ไม่เข้าใจว่าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งอาจเป็นเหตุผลส่วนตัว ทั้งนี้ทางชมรมยืนยันในความโปร่งใส ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกับผู้รับจ้างหรือผู้ดูแลคนพิการทุกประการ เพราะชมรมเป็นจิตอาสา พร้อมที่จะให้การบำบัดและยกระดับคุณภาพชีวิตคนพิการด้วยความบริสุทธิ์ใจ” นางสาวพูลสุขกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image