โคราชประกาศภัยแล้งแล้ว 14 อำเภอ พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบกว่า 7 แสนไร่

วันนี้ (18 ต.ค. 2561) นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งของจังหวัดนครราชสีมาว่า ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมายังจังหวัดนครราชสีมามีปริมาณที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้และปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าปีที่ผ่านมามากกว่า 1,000 มิลลิเมตร แต่ยังมีความโชคดีที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่งของจังหวัดนครราชสีมา มีปริมาณน้ำกักเก็บเกินกว่าร้อยละ 50 ของความจุ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีปริมาณน้ำกักเก็บล่าสุด อยู่ที่ร้อยละ 80

ถึงอย่างไรก็ตาม จากการสำรวจล่าสุด ขณะนี้ จ.นครราชสีมา ได้ประกาศพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งแล้วทั้งสิ้น 14 อำเภอ จากทั้งหมด 32 อำเภอ โดยมีพื้นการเกษตรได้รับผลกระทบแล้วกว่า 700,000 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าวที่ได้รับผลกระทบกว่า 550,000 ไร่ และพืชสวนเกษตรอื่นๆ 150,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้งแล้ว และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจเพื่อให้การช่วยเหลือชดเชย นาข้าวไร่ละ 1,100 บาท พืชสวนเกษตร ไร่ละ 1,400 บาท

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ในปี 2562 โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภค ได้สั่งการให้ทุกอำเภอ ทั้ง 32 อำเภอ สำรองน้ำไว้ใช้โดยเฉพาะการกั้นฝายประชารัฐให้ทุกอำเภอเริ่มดำเนินการเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ โดยใช้ประโยชน์จากฝายประชารัฐที่ได้ดำเนินการสร้างขึ้น เริ่มดำเนินการรับมือภัยแล้งตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคมเป็นต้นไป หลังจากที่กั้นน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ตามแผนที่วางไว้แล้วจะให้ดำเนินการสูบน้ำเข้าแหล่งกักเก็บ พร้อมกันนี้ให้ทุกอำเภอทำข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง รายงานมายังจังหวัดเพื่อจะได้สั่งการแก้ไขกับหมู่บ้านที่ขาดแคลนน้ำ เมื่อถึงฤดูแล้ง ทุกหมู่บ้านจะต้องมีน้ำใช้ไปถึงเดือนมิถุนายน 2562 และจะไม่มีหมู่บ้านใดขาดแคลนน้ำ

นายวิเชียร กล่าวว่า สำหรับการปลูกพืชฤดูแล้ง ทางจังหวัดกำลังพิจารณาจะอนุญาตให้พื้นที่ใดสามารถปลูกข้าวนาปรังได้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการปลูกข้าวนาปีของพี่น้องเกษตรกรอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนเท่าที่ควร จึงเตรียมที่จะวิเคราะห์และสำรวจ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนปลูกข้าวนาปรังได้ตามความเหมาะสม

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image