พ่อเมืองโคราชรับมอบคืนที่วัดพระนารายณ์ 4 พ.ย.ปรับภูมิทัศน์ศาลหลักเมืองทันที

เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขยายพื้นที่บริเวณศาลหลักเมืองของจังหวัดนครราชสีมา ว่า เนื่องจากคณะกรรมการพัฒนาศาลหลักเมืองมีแนวทางในการที่จะพัฒนาศาลหลักเมืองของจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เชิดหน้าชูตาของจังหวัด จึงมีการวางแผนถึงการขยายพื้นที่บริเวณโดยรอบศาลหลักเมืองและมีการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม ซึ่งขณะนี้เบื้องต้นการปรับปรุง ปรับภูมิทัศน์ ทางคณะกรรมการก็ได้มีการดำเนินการเท่าที่ทำได้ตามเนื้อที่ที่มี โดยมีการขออนุญาตจากกรมศิลปากรเป็นที่เรียบร้อยไม่ว่าจะเป็นการขยายบันไดทางขึ้นศาลหลักเมืองเพื่อลดความแออัด รวมทั้งการทาสีจะเปลี่ยนจากสีทองเป็นสีขาวเพื่อความสวยงาม ในขณะเดียวกันการดำเนินการขยายพื้นที่รอบศาลหลักเมืองนั้น ทางผู้อาศัยโดยศาลหลักเมืองที่เช่าพื้นที่ของวัดพระนารายณ์ฝั่งด้านถนนประจักษ์ตึกที่ 1 ผู้เช่าอาคารยินยอมที่จะคืนสิทธิอาคาร/ตึกที่เช่าจากวัดพระนารายณ์ ให้กับทางวัดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน ก่อนสัญญาเช่าจะสิ้นสุดลงในปี 2564 โดยในวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน 2561 เวลา 11.00 น จะมีพิธีรับมอบการคืนสิทธิจากผู้เช่า หลังจากนั้นจะทำการทุบอาคาร/ตึก 1 คูหา ที่ได้รับสิทธิคืนออกทันที เพื่อขยายพื้นที่ศาลหลักเมืองให้ประชาชนสามารถจอดรถภายในวัดพระนารายณ์และสามารถเดินมายังศาลหลักเมืองได้โดยสะดวก

สำหรับศาลหลักเมืองนครราชสีมา สร้างขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองนครราชสีมาระหว่างปี พ.ศ. 2199-2231 ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ได้ยกกองทัพมายึดเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ.2369 และได้ทำลายเสาหลักเมือง โดยโค่นล้มเสาหลักเมือง จากการเล่าสู่กันมา นายแก้ว เพชรโสภณ คนดูแลศาล บอกว่า เดิมเป็นศาลไม้เล็กๆ มีเสา 6 ต้น ปลูกเป็นโรงเรือน พื้นเป็นดิน หลังคามุงสังกะสี ฝากระดานเกร็ด มีประตู 1 ประตู เสาหลักเมืองถูกแขวนโยงไว้ด้วยเชือกหนัง ทั้งหัวเสาและโคนเสา โดยหันหัวเสาไปทางประตูไชยณรงค์ หรือประตูผี (ทิศใต้) ส่วนโคนเสาอยู่ทางทิศปะตีน (ทิศเหนือ) สภาพภายในค่อนข้างมืดสลัว มีกลิ่นหอมธูปเทียนอบอวล บริเวณหน้าศาลเป็นโคลน มีต้นจันทน์ปลูกเรียงรายตามถนน มีเสาหลักร้อย (เสาหลักแรกของเมืองนครราชสีมา ปักไว้ฝั่งตรงข้ามถนน) เสานี้จะปักไว้ข้างถนนเป็นระยะจนถึงบ้านหลักร้อย ทางทิศตะวันตกของศาลเป็นป่า มีโรงหนัง โรงลิเก คนเมืองนครราชสีมานับถือศาลหลักเมืองนี้มาก คนผ่านไปมาจะต้องกราบไหว้ โดยเฉพาะเกวียนเทียมวัว ถ้าไม่กราบไหว้เกวียนจะติดหล่ม วัวจะล้มลุกเดินไปไม่ได้จนกว่าจะเซ่นไหว้เสียก่อน ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม ร.ศ.119 ทรงได้ทอดพระเนตรศาลหลักเมือง ทรงจุดเทียนบูชาเทพารักษ์ แล้วเสด็จทรงม้าพระที่นั่งกลับทางประตูชุมพล ต่อมาเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2446 (ร.ศ.122) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทรงสังเวย ขณะนั้นพระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ.2506 ประชาชนพ่อค้า ข้าราชการ ได้ร่วมกันสร้างศาลขึ้นใหม่แทนศาลเดิมซึ่งสร้างด้วยไม้ได้ชำรุดทรุดโทรมลง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นศาลใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯมาทำพิธีสังเวย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2506 เวลา 09.30 น. และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480 ศาลหลักเมืองจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่ถนนจอมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image