เครือข่ายภาค ปชช.เพื่อคนนคร เห็นด้วยตรวจทรัพย์สิน กก.สภา ย้ำหากได้มาถูกต้องกลัวอะไร

นายปรีชากร ประธานเครือข่ายฯ

จม.เปิดผนึก ว่อนเน็ต ส่งถึง นายกรัฐมนตรี ที่ประชุมเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อคนนคร เรียกร้อง ปปช.ไม่ควรแก้ กม. ตรวจทรัพย์สิน กก.สภา

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ย่านชานเมืองนครศรีธรรมราช กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อคนนคร ร่วมประชุมหารือวาระประจำเดือนในการขับเคลื่อนกิจกรรมเพื่อบ้านเพื่อเมืองประจำเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยมีวาระที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ตัวแทนนักธุรกิจ นักกฎหมาย ประชาชน นักศึกษา สื่อมวลชน นักวิชาการ นักการเมือง และประชาชน กว่า 20 คน

ผู้สื่อข่าวรายงาน เป็นที่น่าสังเกตการณ์ประชุมในครั้งนี้ มีนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาทั้งระดับ มัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เข้าร่วมกว่าครึ่งหนึ่ง โดยวาระเร่งด่วนคือ การหารือเรื่องการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้บริหารการศึกษา กรรมการสภา และองค์กรเองชนที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งในที่ประชุมได้มีการแจกเอกสาร จดหมายเปิดผนึก ลงนามโดยกลุ่มสนับสนุนการแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัย แจกจ่ายให้กับผู้เข้าร่วมประชุม ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมต่างแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ เนื้อหาของจดหมายเปิดผนึกระบุ “กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอสนับสนุนประกาศของ ปปช. ในเรื่องการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เปลี่ยนแปลงสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ เพื่อให้มีอิสระในการบริหารกิจการภายในได้เองทุกเรื่อง โดยมีสภามหาวิทยาลัย ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกที่มาจากการสรรหา (ของผู้บริหาร) มาทำหน้าที่กำกับดูแลนโยบายของมหาวิทยาลัย สามารถออกและ/หรือ แก้ไข ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ได้ ดังนั้น การออกนอกระบบ แท้จริงแล้ว คือการช่วยให้ มหาวิทยาลัยมีอิสระในการดำเนินงานมากกว่าในอดีต ผู้บริหารมีอิสระและอำนาจในการทำงานมากขึ้น กรรมการสภาฯ ก็มีอำนาจมากขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วน สกอ.และกระทรวงศึกษาธิการ ไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบใดๆ ได้อีกแล้ว เพราะอำนาจในการกำกับดูแล การตรวจสอบ ลงโทษ ต่างๆ อยู่ที่สภามหาวิทยาลัยโดยตรง ที่พบเจอคือ วันนี้ ผู้บริหารกับกรรมการสภาฯ เป็นพวกเดียวกันทั้งหมด ทุกอย่างดูราบรื่น ที่มาของกรรมการสภาฯ ตามระเบียบทฤษฎี ก็จะมาจากการสรรหาจากบุคลากรทั้งมหาวิทยาลัยเสนอขึ้นมา แต่ ในทางปฏิบัติ ทั้งหมดก็มาจากการคัดสรรจากผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยนั่นเอง โดยอาจมีผู้ทรงคุณวุฒิอาวุโสบางคนร่วมอยู่เป็นที่ปรึกษา เพื่อให้ได้กลุ่มเครือข่ายเดียวกัน

Advertisement

มีข้อร้องเรียนจากอาจารย์ในบางสถาบันว่า ถ้ามีเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับกรณีที่ส่อว่าจะมีการทุจริต ประพฤติมิชอบ ของผู้บริหารระดับใดก็ตาม (ถ้าเป็นพวกเดียวกัน) ก็จะได้รับการช่วยเหลือกัน จะไม่พบการทุจริตจากการกระทำของผู้บริหารทั้งสิ้น อาจมีบ้างก็จะเป็นระดับเจ้าหน้าที่ พนักงาน บุคลากรทั่วไปเท่านั้น ดังนั้น การบริหารเงินงบประมาณ ปีละสอง สามพันล้านบาท โดยอิสระเสรีแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง เพราะในระบบบริหารงานในปัจจุบัน ไม่มีกลไกการคานอำนาจระหว่างกันอย่างแท้จริง รวมทั้งไม่มีระบบตรวจสอบ ผู้ทรงคุณวุฒิเองก็มีข้อจำกัด ที่จะเข้ามาเรียกหาข้อมูล เพราะไม่มีระบบผู้ช่วย ทีมงานที่จะช่วยหาข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นให้ได้ ถ้าผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย ปิดบังข้อมูล ผู้ทรงคุณวุฒิก็จะไม่สามารถรู้ได้เลย ดังนั้น ในความเป็นจริงคือ ทุกคนจึงมาประชุม อภิปรายแสดงความคิดเห็นกันเฉพาะในระหว่างการประชุมเท่านั้น จึงเป็นจุดอ่อน ที่เป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ง่าย เพราะไม่มีระบบตรวจสอบและไม่มีกลไกการคานอำนาจกัน

เป็นเรื่องน่าประหลาดใจ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบไปแล้ว แต่รัฐบาล (สำนักงบฯ) ก็ยังจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมาให้เหมือนเดิม โดยเฉพาะงบก่อสร้างและครุภัณฑ์ ไม่ได้ลดลง งบเงินเดือนพนักงานก็ยังให้ตามปกติ พนักงานมหาวิทยาลัย ที่ใช้งบเงินรายได้ของคณะหรือส่วนกลางมาก่อน ก็จะได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงาน (ประจำ) ใช้งบประมาณแผ่นดินซึ่งจะมีความมั่นคงสูงกว่า แน่นอนว่ากลุ่มที่ได้รับการบรรจุก็คือ กลุ่มคนที่เป็นพวกเดียวกันหรือสนับสนุนผู้บริหารเท่านั้น ในอนาคต ถ้าจะมีการปลดพนักงานออก ก็จะเป็นพนักงานกลุ่มที่ไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานเงินงบประมาณแผ่นดินนั่นเอง ดังนั้น ในวันนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย จึงได้ควบคุมอำนาจบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จในทุกระดับ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ อยู่ในมือของกลุ่มผู้บริหารระดับสูง กับผู้ทรงคุณวุฒิบางคนที่เป็นหัวเรือใหญ่เครือข่ายเดียวกัน เท่านั้น ด้วยสภาพการแบบนี้ จึงมีโอกาสจะเกิดการทุจริตทางนโยบายขึ้นได้ ส่วนในระดับหน่วยงาน ตามคณะ สาขาวิชาต่างๆ ผู้บริหารส่วนนี้ก็สามารถจะกระทำทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ในการจัดซื้อจัดจ้าง และงานก่อสร้างต่างๆ ได้ง่ายมาก เพราะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานล้วนเป็นพวกเดียวกันทั้งหมดนั่นเอง ถ้ามีการร้องเรียนขึ้นไป เรื่องก็เงียบ คนร้องเรียนจะอยู่ไม่ได้

ดังนั้น ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยจึงเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ที่สามารถจะทุจริตคอร์รัปชั่นได้อย่างง่ายดาย เป็นแหล่งผลประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สังคมภายนอกมองข้ามไป เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง เข้าทำนองคนมีการศึกษา จะไม่โกง ที่สำคัญไม่มีใครสามารถเข้าไปตรวจสอบได้เลย ขอยกตัวอย่าง วิธีหาผลประโยชน์ของผู้บริหารและกรรมการสภาฯ เช่น ร่วมกันออกนโยบาย เอาทรัพย์สิน รายได้ของมหาวิทยาลัย ไปซื้อหุ้นของสถาบันการเงินที่ผู้ทรงฯเป็นกรรมการ เปิดสัมปทานภายใน เช่น เดินรถ ให้เอกชนที่มีผู้ทรงฯบางคนเป็นหุ้นส่วน สร้างโครงการก่อสร้างอาคารต่างๆขึ้นมามากมายจนไม่รู้จะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร แจกโควตาที่นั่งเด็กนักเรียนสาธิต ให้ผู้ทรงฯ ทุกปี ใครช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากก็ให้มาก ล็อกสเปกซื้อของพรรคพวกตน ขึ้นเงินเดือน ค่าตอบแทนให้พวกกันเอง กันอย่างเต็มที่ เอาเงินไปจ้างที่ปรึกษากฎหมายมืออาชีพปีละหลายล้านบาท ไว้ต่อสู้คดีกับบุคลากรของมหาวิทยาลัย เป็นต้น ถ้าเงินงบประมาณไม่พอก็ขึ้นเงินค่าเล่าเรียน

ไม่มีใคร กล้าเข้าไปตรวจสอบ เก็บหลักฐาน เจ้าหน้าที่ทุกคนจะกลัวมาก เพราะอาจถูกประเมินไล่ออกได้ง่ายมาก ดังนั้น การที่ ปปช. ออกประกาศให้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และกรรมการสภาฯทุกคน ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน จึงอาจพอช่วยป้องปรามการทุจริต คอร์รัปชั่นได้ทางหนึ่ง ซึ่งความจริง ยังต้องหามาตรการอื่นๆ เพิ่มอีก หลายมาตรการ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว จึงขอสนับสนุนการแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัย

หมายเหตุ ท่านใดสนับสนุนจดหมายเปิดผนึก ฉบับนี้ โปรดลงชื่อและสถาบันไว้ใน คอมเม้นท์ข้างท้ายเพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป”

นายปรีชากร โมลิกา ประธานเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อคนนคร กล่าวว่า พวกเราเห็นจดหมายฉบับนี้ในโลกโซเชียล เราเห็นด้วยกับ ปปช. เราไม่เข้าใจว่า กรรมการสภากลัวอะไรกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สิน การตรวจไม่ได้บอกว่าผิด แต่ตรวจเพื่อบอกให้ทราบว่าทรัพย์ก่อน และหลังต่างกันอย่างไร บางคนทำธุรกิจรวยอยู่แล้วมีทรัพย์สินเพิ่มก็ไม่เห็นแปลกในเมื่อทรัพย์สินได้มาอย่างถูกต้อง ยิ่งพวกคุณทำหน้าที่บริหารในสถาบันการศึกษาด้วยแล้วยิ่งดี ต้องเป็นตัวอย่าง ต้องให้ลูกศิษย์เห็นตัวอย่างว่าอาจารย์เราพร้อม หากอาจารย์หนีการตรวจสอบลูกศิษย์อาจจะทำตามอาจารย์ ในเมื่อหลายฝ่ายแจงว่าเห็นควรแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องแก้ตั้งแต่เด็กๆ กลายเป็นว่าประเทศแก้ปัญหาไม่ถูกทาง ให้ผู้ใหญ่เพียงแต่แสดงบัญชีทรัพย์สินไม่ยอมทำ แต่มาเรียกร้องให้เด็กต้องซื่อสัตย์สุจริต

นักกฎหมายภาครัฐ รายหนึ่งกล่าวในที่ประชุมว่า การออกมาแสดงพลังไม่ยอมให้มีการตรวจสอบทรัพย์สิน อ้างเหตุผลโน่นนี่นั่น ผมมองว่าเผยไต๋ออกมาอย่างชัดเจน ออกมายื่นขอลาออกจากตำแหน่ง คนเหล่านี้มองว่าไม่ได้เข้ามาอย่างถูกต้อง น่าจะเป็นพวกมากลากไป กฎหมายบ้านเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ประชาชนไม่เคารพ แต่หากเป็นผู้ถือกฎหมายต่างหากไม่เคารพ แล้วมาซัดว่าประชาชน

ตัวแทนนักศึกษา กล่าวว่า ผมในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสภานักศึกษามหาวิทยา ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกรรมการสภาทุกท่านทุกตำแหน่ง ไม่ต้องมาอ้างนิสิตนักศึกษา เขาให้ท่านแสดงบัญชีทรัพย์สินไม่ได้บังคับให้ท่านลาออก ทุกวันนี้ท่านๆ อยู่ในตำแหน่งนี้ก็ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อนิสิตนักศึกษาอยู่แล้ว นักศึกษาไม่ใช่ตัวประกัน ถ้าท่านสมาชิกเห็นว่าการยื่น บช. ทรัพย์สินเป็นสิ่งที่ควรทำก็ควรแสดงจุดยืนให้ชัด เพื่อให้พวกเขารับทราบ แต่ถ้าท่านเฉยก็เท่ากับยอมรับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image