เชียงใหม่”สมาร์ท ซิตี้” มช.สร้างแอพ ส่องที่จอดรถกลางเมือง ย่านนิมมานฯ

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ที่ห้องประชุมตะวัน กังวานพงศ์ ชั้น 4 อาคารยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำทีมผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ร่วมกันจัดงานแถลงข่าวและขอบคุณสื่อมวลชน ประจำปี 2561 ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แถลงนโยบายการบริหาร มช. และภาพรวมงานยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยฯ ที่น่าสนใจในหลายประเด็น รวมถึงความคืบหน้าของโครงการทำให้เชียงใหม่เป็นสมาร์ท ซิตี้
รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร รองอธิการบดี มช. เปิดเผยว่า จากการที่ พล อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี มีนโยบายประกาศให้ 7 พื้นที่เป็นสมาร์ท ซิตี้ ภายในปี 2561-2562 จังหวัดเชียงใหม่เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องเป็นเมืองที่สมาร์ท คือ นำนวัตกรรม เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาของเมือง โดยรัฐบาลเลือกให้นำร่อง ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับย่านนิมมานเหมินท์ซึ่งในระยะที่ผ่านมา มช.ดำเนินโครงการไปแล้วหลายส่วน ขณะนี้มุ่งไปที่นิมมานเหมินท์ ล่าสุด หลังการประชุมร่วมไปแล้ว 2 ครั้ง มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนโครงการ ประกอบด้วยภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ตำรวจ เทศบาล อบจ. ผู้นำชุมชน ทางหลวง มช. ฯลฯ มีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต เป็นรองประธานคนที่1 และตนเป็นรองประธานคนที่ 2 ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้
“จากการประชุมที่ผ่านมา เราเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน มองที่ปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขร่วมกัน สิ่งที่เราอยากทำ เป็นโครงการนำร่องก่อน 5 เรื่อง คือ 1. การทำ Smart Application ตอบโจทย์ให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาบนถนนนิมมานฯ ซึ่งปัจจุบันพบปัญหาหลายอย่าง เช่น การจราจร จุดจอดรถ ฯลฯ ซึ่งพื้นที่จอดรถมีเหลือเฟือ แต่ปัญหา คือ คนไม่จอด แต่จะไปจอดที่หน้าร้าน หนึ่งในฟีเจอร์บนแอพพลิเคชั่นนี้ จะมีการออกแบบแอพฯให้สามารถรู้ได้ว่ามีพื้นที่จอดรถตรงไหนที่ว่าง จะสามารถเข้าไปจอดได้ โดยดูผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ซึ่งมช.จะเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบ และยังจะมีฟีเจอร์ที่แจ้งระบบการจราจร แนะนำสถานที่ รวมถึง Smart Parking ด้วย พร้อมเปิดตัวในเดือนธันวาคม หากสามารถช่วยแก้ปัญหาจราจร และจุดจอดรถได้ ถือเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เมืองแล้วการทำแอพพลิเคชั่นนี้ มช.วางระบบไว้แล้ว จะนำเสนอต่อผู้ว่าฯ และคณะกรรมการ เพื่อรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นมาใส่ไว้ในระบบ ส่วนของจุดจอดรถนั้น เบื้องต้นมช.เอง จัดเตรียมพื้นที่จุดจอดรถให้ผู้เดินทางเข้ามาได้จอด ใช้พื้นที่ 10 ไร่ ของไร่ฟอร์ด อยู่ตรงข้ามกับหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นจุดจอดรถกลางแจ้ง สามารถจอดรถได้ 400 คัน มีค่าบริการไม่แพง และใช้รถไฟฟ้าของ มช.รับคนจากจุดจอดรถไปยังร้านค้าและสถานที่ต่างๆบนย่านนิมมานฯ ที่จอดรถนี้น่าจะเปิดใช้ได้ก่อนวันรับปริญญาในเดือนมกราคม 2562 และยังมีที่จอดซึ่งผู้นำชุนชนแจ้งมาอีก 4-5 จุดไว้รองรับ”
รศ.ประเสริฐ กล่าวอีกว่า เรื่องที่ 2 การทำสายไฟลงดิน ซึ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ใช่การขุดนำสายไฟลงดินเหมือนที่ท่าแพ แต่ใช้ไฟที่ถนนศิริมังคลาจารย์เป็นหลักแล้วดึงไฟเข้ามาในซอยต่างๆของนิมมานฯ ซึ่งทางด้านเทคนิคคงต้องพูดคุยกับชุมชนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง เป้าหมายคือ นิมมานฯต้องไม่มีสายไฟข้างบน เรื่องที่ 3 คือ การแก้ปัญหาจัดระเบียบป้ายสิ่งพิมพ์ ป้ายโฆษณา เรื่องนี้ผู้นำชุมชนเป็นผู้รับผิดชอบ เรื่องที่4 คือ การทำ สตรีท เฟอร์นิเจอร์ และ สตรีท วอล์ค คือ ทางเท้า ภูมิทัศน์ และ เรื่องนโยบายสาธารณะ ซึ่งมช. เป็นผู้รับผิดชอบ มีทีมผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม เป็นผู้ดูแล และ เรื่องที่ 5 เป็นเรื่องของ CCTV และความปลอดภัย ตำรวจเป็นผู้รับผิดชอบควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งหมด 5 เรื่องนี้จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการปลายเดือนนี้ ส่วนเรื่องงบประมาณดำเนินการต้องเสนอขอยังรัฐบาลต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image