‘ธนารักษ์’ ดั๊มราคาเช่าที่ดินเขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารกว่า 90 % จูงใจนักลงทุน

เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า จังหวัดมุกดาหารเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) และมีมูลค่าการค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรมุกดาหารสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นอันดับสองของประเทศรองจากด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา จากเหตุผลดังกล่าวรัฐบาลจึงผลักดันให้จังหวัดมุกดาหารเป็นพื้นที่เน้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ยังได้มีประกาศที่ 1/2558 ลงวันที่ 19 มกราคม 2558 กำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ระยะที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร มีพื้นที่ครอบคลุม 3 อำเภอ 11 ตำบล เนื้อที่ 361,824 ไร่ หรือ 578.5 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยพื้นที่ในเขต อ.เมืองมุกดาหาร 5 ตำบล อ.ดอนตาล 2 ตำบล และ อ.หว้านใหญ่ 4 ตำบล จังหวัดมุกดาหารจึงถือเป็นพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน การส่งออก ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่จะสนับสนุนการลงทุนพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร คือ ภาวะเศรษฐกิจจังหวัดมุกดาหารมีแนวโน้มที่จะขยายตัว โดยปัจจุบันมีสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจในด้านการผลิตทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม ภาคการบริการ รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจในด้านการบริโภค ซึ่งส่งผลให้ดัชนีรายได้ของเกษตรกรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.52 ภาคอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 10 ภาคการบริการและการท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 3.6 และยังมีโครงการสำคัญที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดมุกดาหารอีก 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างสนามบินจังหวัดมุกดาหาร ปัจจุบันกรมท่าอากาศยาน ได้จ้างที่ปรึกษา ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสนามบินมุกดาหาร ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการศึกษา และโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่(บ้านไผ่ – นครพนม) ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเสนอขออนุมัติโครงการจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)

นายมนตรี บุญญาพงษ์พันธ์ ธนารักษ์พื้นที่มุกดาหาร กล่าวว่า รัฐบาลได้จัดเตรียมที่ดินของรัฐซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุให้เอกชนเช่าลงทุนในเขตพื้นที่ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร จำนวน 2 แปลง เนื้อที่รวม 1,081 ไร่ โดยกรมธนารักษ์ได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการสรรหาผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุครั้งที่ 3 หลังจาก 2 ครั้งที่ผ่านมายังหาผู้ลงทุนไม่ได้ ดังนี้ ขายเอกสารการลงทุนและแผนผังพื้นที่พัฒนาและคู่ขนานกับประชาสัมพันธ์การลงทุนเขตพัฒนาที่ดินราชพัสดุเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหารระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม -16 พฤศจิกายน ชี้แจงการลงทุน/ดูสถานที่ วันที่ 30 พฤศจิกายน ผู้ลงทุนจัดทำข้อเสนอโครงการลงทุน โดยมีระยะเวลา 90 วันนับแต่วันปิดการขายเอกสารลุงทน ยื่นซองเสนอโครงการลงทุน วันที่ 15 กุมภาพันธ์ จากนั้นคณะทำงานสรรหาจะพิจารณาและคัดเลือกผู้ลงทุน และเสนอผลการคัดเลือกให้ผู้ลงทุนทราบภายในวันที่ 17 มีนาคม 2562

ในการดำเนินการสรรหาผู้ลงทุนพัฒนาที่ดินราชพัสดุครั้งที่ 3 นี้ ได้มีการปรับลดอัตราค่าเช่า และค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่า จากเดิมคิดค่าเช่าไร่ละ 24,000 บาทต่อปี ลดเหลือ 1,800 บาท คิดเป็นร้อยละ 92.5 ค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าจากเดิมไร่ละ 160,000 บาท ต่อ 50 ปี ลดเหลือ 30,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 81.25 และระยะเวลาการเช่าเดิมกำหนดไว้ 50 ปี และอาจต่อสัญญาเช่าได้อีก 50 ปี อีกด้วย

Advertisement

นายธนโชติ โชติบุณยศักดิ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ปัจจุบันที่ดินในจังหวัดมุกดาหารถือว่ามีราคาสูงมาก โดยห่างตัวเมืองมุกดาหารออกไปประมาณ 6-10 กิโลเมตร จะมีราคาค่าเช่าประมาณไร่ละ 8,000 บาทต่อเดือน ดังนั้น การที่กรมธนารักษ์ได้ปรับลดราคาค่าเช่าที่ดินลงมาเหลือเพียงไร่ละ 1,800 บาทต่อปี จึงถือว่าน่าสนใจสุดๆ เพราะมีราคาถูกมาก ทั้งยังเป็นที่ดินขนาดใหญ่กว่า 1,000 ไร่ เพียงแปลงเดียวที่ยังเหลืออยู่และนำออกให้เช่าในราคาที่ต่ำมาก และที่สำคัญคือ สามารถจัดสรรพื้นที่ดินเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงงานได้ประมาณ 80-100 โรงเป็นอย่างต่ำ ซึ่งขณะนี้มีกลุ่มนักลงทุนที่ต้องการที่ดินเนื้อที่มากกว่า 10 ไร่ขึ้นไปเพื่อจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้ารวมทั้งคลังสินค้า โกดัง บรรจุสินค้าส่งออก ขนส่งสินค้า ลานตู้คอนเทนเนอร์

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับไว้เรียบร้อยแล้วทั้งในด้านการคมนาคม โดยจัดทำโครงการปรับปรุงถนน 4 เลน ได้แก่ ทางหลวงหมายเลข 212 จากจังหวัดมุกดาหาร – อำเภอธาตุพนม , ทางหลวงหมายเลข 12 อำเภอกุฉินารายณ์ – อำเภอคำชะอี และ ถนนสาย มห.3019 แยก ทล.212 – บ้านบางทรายใหญ่ ผ่านที่ราชพัสดุ 1,081 ไร่ รองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษด้วย สำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค สาขามุกดาหารก็ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายโรงกรองน้ำขนาดกำลังผลิตจ่าย 500 ลบ.ม.ต่อชม. พร้อมกับวางท่อเพื่อรองรับการใช้น้ำในพื้นที่ ส่วนด้านไฟฟ้าได้ดำเนินการก่อสร้างระบบจำหน่าย ไลน์เมนในเขตชุมชนเมือง และงานติดตั้งหม้อแปลงจำหน่ายแรงต่ำ และ จะก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อยแห่งที่ 3 เมื่อได้ผู้ลงทุนพัฒนาพื้นที่ในที่ดินราชพัสดุเนื้อที่ 1,081 ไร่ แล้ว

Advertisement

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image