อบจ.หนองบัวลำภู ประเดิม ‘ถนนยางพาราดินซีเมนต์’ สายแรกใน จว. หวังกระตุ้นราคายาง

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน นายแพทย์ศราวุธ สันตินันตะรักษ์ นายก อบจ.หนองบัวลำภู ได้ทำการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการการก่อสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ โครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ให้กับผู้บริหารท้องถิ่น ทั้ง อบต. เทศบาล และบุคลากรด้านช่าง อบต. เทศบาลและ อบจ. รวม 162 คน ที่ห้องประชุม อบจ.หนองบัวลำภู โดยมี ผศ.ระพีพันธ์ แดงตันกี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นผู้บรรยายให้ความรู้ ในการนำเอานวัตกรรมที่คิดค้นจากการนำเอายางพาราธรรมชาติ ทั้งยางพาราสดและยางพาราข้นมาดัดแปลงโครงสร้างให้สามารถใช้ร่วมกับวัสดุดิน ปูนซีเมนต์ และน้ำยาดัดแปร ในการทำถนนด้วยวิธีแบบดินซีเมนต์ตามมาตรฐานดินซีเมนต์โพลิเมอร์ของกรมทางหลวงชนบท เพื่อตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันนวัตกรรมการนำยางพารามาแปรรูป เพื่อช่วยเหลือชาวเกษตรกรสวนยางพารา ทั้งการใช้ยางพาราสดจากเกษตรกรผ่านสหกรณ์และยางพาราข้น จากโรงงานน้ำยางข้นให้มากขึ้น จะเป็นการช่วยผลักดันราคาน้ำยางที่ตกต่ำให้มีราคาเพิ่มขึ้น เป็นการให้ความรู้ทางด้านทฤษฎีถึงกระบวนการขั้นตอนในการดำเนินการ

จากนั้นได้นำพาคณะผู้เข้าอบรมไปดูการปฏิบัติจริงที่แปลงสาธิต ถนนลูกรังสาย นภ.ถ.10009 สายบ้านเก่าโกใต้-บ้านโนนงาม ต.หนองสวรรค์ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ผิวการจราจรกว้าง 6 เมตร ยาว 200 เมตร พื้นที่ 1,200 ตารางเมตร ซึ่งการก่อสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์ตัวอย่างครั้งนี้เป็นสายแรกของจังหวัดหนองบัวลำภู ที่จะเป็นตัวอย่างต้นแบบให้กับ อบต.เทศบาล และหน่วยงานต่างๆ ได้นำไปใช้ในการทำถนนเพื่อพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และยังเป็นการช่วยเหลือกระตุ้นราคายางพาราที่กำลังตกต่ำให้สูงขึ้น เป็นการนำวัตถุดิบในพื้นที่จากภาคเกษตรกรรมมาใช้ประโยชน์

นายแพทย์ศราวุธกล่าวว่า วัสดุที่จะนำมาเป็นส่วนผสมโดยเฉพาะน้ำยางพาราจะใช้จากในท้องถิ่น เป็นการช่วยเหลือราคายางพาราที่ตกต่ำให้มีราคาสูงขึ้น เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง ซึ่งในวันนี้ได้มี อบจ.หนึ่งแห่ง เทศบาล 24 แห่ง และ อบต.43 แห่ง เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ น่าจะมีการนำเอาความรู้ที่ได้รับนำไปใช้กับงานพัฒนาถนนในพื้นที่ของตนเอง

Advertisement

สำหรับการประมาณการถนนยางพาราดินซีเมนต์ผสมน้ำยาดัดแปร และยางพาราสดนั้น ในการก่อสร้างถนนที่มีความกว้าง 6 เมตร ยาว 1,000 เมตร หรือ 6.000 ตร.ม. หรือเท่ากับถนนกว้าง 6 เมตร ยาวหนึ่งกิโลเมตร ใช้น้ำยางพาราสด 12,000 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 26.67 บาท คิดเป็นค่าน้ำยางพาราสด 320,040 บาท จาก ราคาวัสดุต่างๆ ราคา 1,130,040 บาท ซึ่งยังไม่รวมค่าแรงงาน แต่หากเป็นน้ำยางพาราแห้ง 1 กิโลกรัม จะเท่ากับน้ำยางพาราสด 3 กิโลกรัม ราคาน้ำยางพาราแห้ง คิดกิโลกรัมละ 80 บาท หากท้องถิ่นต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนการทำถนนจากถนนลาดยาง ถนนคอนกรีตอย่างเดียว มาเป็นถนนยางพาราดินซีเมนต์ นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณแล้ว ยังได้เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้อีกด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image