ศาลฎีกาพิพากษารอลงโทษ 3 ปี อดีตผู้บริหารวิทยาลัยนครราชสีมา ฉ้อโกงนศ. 153 คน 

เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลจังหวัดนครราชสีมา นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2561 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา เป็นโจทก์ นายพรหมวิสิทธิ ภูมิพรัตน์ พร้อมพวกรวม 153 คน เป็นโจทก์ร่วมฟ้องวิทยาลัยนครราชสีมา จำเลยที่ 1 สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและเป็นนิติบุคคล นายศรัณย์ อินทกุล อดีตอธิการบดีวิทยาลัยนครราชสีมา จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำการโดยทุจริตด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงที่ควรบอก โดยประกาศ โฆษณา แพร่ข่าวและชักชวนด้วยวาจาให้ปรากฏ วิทยาลัยนครราชสีมาได้รับความเห็นชอบจากสภาการพยาบาลให้เปิดสอนในสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์และได้รับรองมาตรฐานการศึกษาในหลักสูตรสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ต่อเนื่องทุกปีการศึกษา เมื่อจบหลักสูตรมีสิทธิสอบขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาลจากสภาการพยาบาลเป็นพยาบาลวิชาชีพได้ ความจริงจำเลยไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาในหลักสูตรและผู้ที่จบการศึกษาก็ไม่มีสิทธิสอบขอใบอนุญาตวิชาชีพ จึงไม่สามารถเป็นพยาบาลวิชาชีพได้ตามที่จำเลยทั้งสองประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ทั้งเว็บไซต์ เอกสารแผ่นพับ ป้ายโฆษณาหน้าสถานศึกษารวมทั้งออกแนะนำทางการศึกษา

เนื่องจากไม่ผ่านหลักเกณฑ์รวม 12 ข้อ เหตุเกิดต่อเนื่องตลอด 5 ปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548-2552 ผู้เสียหายทั้ง 153 คน ซึ่งเป็นผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าได้หลงเชื่อเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาจำเลยที่ 1 ในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์และถูกหลอกลวงรวมเป็นเงิน 80,885,075 บาท (กว่า 80 ล้านบาท) จำเลยที่ 2 ในฐานะอธิการบดีของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุร่วมกันแสดงและกระทำการด้วยประการใดๆ เพื่อให้บุคคลอื่นหลงเชื่อ ศาลชั้นต้น พิพากษาจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มาตรา 343 วรรคแรก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ 2546 มาตรา 122 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรม มาตรา 91 ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 รวม 229 กระทง ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 1 หมื่นบาท รวมเป็นเงิน 2,290,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 2 ปี กำหนด 458 ปี เมื่อรวมทุกกระทงแล้วคงให้จำคุก 20 ปี และให้จำเลยทั้งสองชดใช้เงินให้นักศึกษาในแต่ละรุ่นได้รับลดหลั่นกันไปพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 1 หมื่นบาท รวม 229 กระทง เป็นจำคุก 229 ปี และปรับ 2,290,000 บาท แต่ลงโทษจำคุกรวมทุกกระทงคงให้จำคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 3 ปี ให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยที่ 2 เห็นสมควรเป็นเวลา 30 ชั่วโมง

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นสถาบันอุดมศึกษา โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นอธิการบดี ระหว่างเกิดเหตุเปิดการเรียนการสอนหลักสูตรปริญญาตรีในสาขาต่างๆ ไม่ปรากฏความบกพร่องเสียหายมาก่อนและภายหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 2 พยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์ร่วมด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือให้มีโอกาสสอบใบประกาศวิชาชีพพยาบาลและเข้าศึกษาต่อในสถาบันศึกษาอื่นๆอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 2 นำเงินจำนวน 10,320,000 บาท มาวางชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ถือเป็นการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นและมีเหตุอื่นอันควรปรานี การที่ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 กำหนดโทษจำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี และปรับกระทงละ 1 หมื่นบาท แล้วรอการลงโทษจำคุกไว้ภายในกำหนด 3 ปี โดยกำหนดเงื่อนไข เพื่อคุมประพฤติจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย จึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว

Advertisement

ผู้พิพากษาใช้เวลาอ่านประมาณ 30 นาที โดยมี พ.ต.ท หญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ ที่ปรึกษาสหภาพการพยาบาลแห่งประเทศไทย พร้อมอดีตนักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์วิทยาลัยนครราชสีมาในฐานะโจทก์ร่วมฟ้องจำนวนกว่า 100 คน พร้อมจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้แทนผู้บริหารวิทยาลัยนครราชสีมาและนายศรัณย์ อินทกุล อดีตอธิการบดี ฯ รวมทั้งที่ปรึกษากฎหมายได้เดินทางมารับฟังโดยพร้อมเพียง ซึ่งฝ่ายจำเลยต้องลุ้นระทึก เนื่องจากทั้ง 2 ศาล ศาลพิพากษาจำคุกนับ 100 ปี เมื่อฝ่ายจำเลยทราบผลคำพิพากษาโดยไม่ต้องจำคุกแต่รอการลงโทษ 3 ปี ต่างมีสีหน้าดีขึ้นมาทันทีและได้ทักทายแสดงความยินดีจากนั้นพากันแยกย้ายเดินทางกลับ นายศรัณย์ ฯ ปฏิเสธที่จะตอบข้อซักถามอ้างยังไม่พร้อม ส่วนกลุ่มโจทก์ฟ้องร่วมมีท่าทีผิดหวังเล็กน้อย

พ.ต.ท หญิง ฐิชาลักษณ์  เปิดเผยว่า น้องๆนักศึกษาหลายร้อยคนรอคอยเวลาร่วม 8 ปี แม้คำพิพากษาให้รอการลงโทษ พวกเราก็เคารพคำตัดสินของศาล เงินวางมัดจำศาล 10 ล้านบาท ไม่สามารถเยียวยาความเสียหายได้ครอบคลุม นักศึกษาส่วนใหญ่ใช้บริการกองทุนเงินให้กู้เพื่อการศึกษา (กยศ.) กู้เฉลี่ยรายละ 3 แสนถึง 1 ล้านบาท บางรายเรียนถึง 6-7 ปี ทำให้มีหนี้สินนับล้านบาท นอกจากนี้ หลายรายไม่ได้ตั้งค่าเสียหายการกู้ กยศ. เกิน 4 ปี จึงไม่สามารถเรียกร้องในส่วนต่างนี้ได้ ต่อไปตนจะทำหนังสือขอให้รัฐบาล พิจารณาลดดอกเบี้ยหรือปลอดดอกเบี้ยให้กับผู้เสียหายเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากคำพิพากษาไม่ครอบคลุมต่อความรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกินวงเงิน 10 ล้านบาท จะส่งผลให้ติดตามทวงหนี้ได้ล่าช้าหรืออาจได้ไม่ครบ ที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดเรื่องจนเป็นคดีความ จำเลยก็ไม่เคยติดต่อจะขอชดใช้ค่าเสียหาย จึงขอให้สังคมช่วยน้องๆ ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ด้วย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image