งาน”ยางพารา-กาชาด”บึงกาฬ ประชาชนท้าลมหนาวร่วมคึกคัก

เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ จ.บึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ เหล่ากาชาดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และองค์การหน่วยงานราชการ-เอกชนต่างๆ โดยบรรยากาศในวันที่ 4 ของการจัดงานยังคงมีประชาชนทั้งใน จ.บึงกาฬ และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจาก สปป.ลาว มาร่วมชมงานและเลือกซื้อสินค้าอย่างเนืองแน่น โดยอากาศในช่วงเช้าที่ค่อนข้างหนาวและมีลมแรง โดยอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 9 องศาเซลเซียส ทำให้ทุกคนต้องสวมเสื้อกันหนาวมาเดินชมงาน ร้านขายเสื้อกันหนาวมีผู้คนเลือกซื้ออย่างเนืองแน่น

ที่บูธของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ซึ่งนำนวัตกรรมหลายชนิดมาจัดแสดงให้เกษตรกรได้ชม มีผู้ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยนายระพีพันธ์ แดงตันกี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม มจพ. กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ภาครัฐมีแนวคิดแก้ปัญหายางพารา ด้วยการใช้ยางพาราผสมเป็นสัดส่วนทำถนน แต่พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในยางมะตอยนั้น เติมได้เเค่เพียง 5% หรือมากที่สุดคือ 7% เพราะติดขัดปัญหาหลายอย่าง ทางคณะวิจัยจึงค้นพบรูปแบบการทำถนนโดยโพลิเมอร์สังเคราะห์ร่วมกับน้ำยางพารา ในรูปแบบ Polymer Soil Cement นำยางแห้งไปใช้ในการผลิตและใช้น้ำยางในการผสมได้ ซึ่งการใช้น้ำยางพาราผสมนั้นนำไปประยุกต์ได้หลายรูปแบบ ทั้งถนนดินลูกรังที่อยู่ตามชนบทและผสมกับคอนกรีต นำไปใช้ได้ทันที

“ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่า ถนนขนาด 1 ตารางเมตร นำน้ำยางพาราไปใช้ได้ 3 ลิตร ดังนั้น ถนนความยาวหนึ่งกิโลเมตร ก็ใช้น้ำยางได้ถึง 18 ตัน หรือ 18,000 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่มีผลกระทบกับการใช้ยางในประเทศไทยที่ค่อนข้างสูง โดยจากการพูดคุยกับภาคเอกชนมีความเห็นตรงกันว่าหากดำเนินการสร้างถนนผสมยางพาราดังกล่าวได้ จะช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างมาก เพราะนำไปใช้ก่อสร้างถนนตามท้องถิ่นต่างๆ ได้ทันที เพราะถนนเพียงหนึ่งกิโลเมตรนำน้ำยางไปใช้ได้จำนวนมาก” นายระพีพันธ์กล่าว

นายระพีพันธ์กล่าวว่า ขณะที่ในเรื่องต้นทุนต่อตารางเมตรนั้น ในปัจจุบันถนนคอนกรีตที่ประเทศไทยนิยมใช้อยู่มีต้นทุนอยู่ที่ 800-850 บาทต่อตารางเมตร ส่วนถนนที่ทำจากยางมะตอยต้นทุนต่อตารางเมตรอยู่ที่ 350-400 บาท แต่ถนนที่ทำจากยารางพาราพบว่ามีต้นทุนต่อตารางเมตรอยู่ที่ 240-280 บาท ยืนยันว่าประเทศไทยจะได้คุณภาพถนนที่ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดยังได้ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพาราในขณะนี้อีกด้วย จึงเห็นว่านี่คือทางออกของปัญหาประเทศในขณะนี้ และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ นอกจากนี้ ยังมีข้อได้เปรียบคือระยะเวลาการก่อสร้างที่สั้นมาก เพราะอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำถนนก็เป็นเครื่องมือที่ที่หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นมีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือสำคัญเพิ่มเติมสามารถทำงานได้ทัน ทั้งยังสร้างเสร็จได้ภายในเวลารวดเร็ว ยกตัวอย่างคือถนนหนึ่งเส้น ความยาวไม่กี่กิโลเมตร ทำให้เสร็จได้ภายใน 1-2 วันเท่านั้น ฉะนั้น จากปกติที่ปีหนึ่งเราทำถนนได้ประมาณ 10 เส้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตเราสร้างถนนได้ปีละนับร้อยเส้นทาง เพราะนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยร่นระยะเวลาการสร้างได้พอสมควร

Advertisement

นายระพีพันธ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีถนนที่ทำจาก Polymer Soil Cement โดยเริ่มที่เชียงราย และลำปาง รวมถึงถนนในศูนย์ศิลปาชีพบางไทร โดยในงานวิจัยจะนำไปสร้างถนนต้นแบบในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเอง เพื่อเป็นองค์ความรู้และให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาดูและทดสอบร่วมกัน ก่อนกระจายองค์ความรู้ออกไป

“ตอนนี้ราคายางพาราตกต่ำมาก การแก้ปัญหาจึงต้องตั้งโจทย์เพื่อช่วยชาวบ้านด้วย ถนนยางพาราตรงนี้คือทางเลือกหนึ่งที่รัฐควรสนับสนุนอย่างจริงจัง ทางเลือกที่ดีที่สุดคือการระดมนักวิชาการ นักปฏิบัติ และผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เข้ามาคุยกันและนำเรื่องนี้ไปสู่การปฏิบัติให้ได้โดยเร็ว เพราะยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็จะช่วยเหลือระบายน้ำยางจากเกษตรกรได้มากเท่านั้น ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยมีความพร้อมเต็มที่และพร้อมเป็นศูนย์กลางในการรวมความรู้และความเห็นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดีต่อไป ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวไม่ใช่การคิดเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น แต่ในระยะยาวก็นำไปดำเนินการได้ หากรัฐดำเนินการได้เร็ว และมีการส่งเสริมอย่างจริงจัง รัฐไม่จำเป็นต้องไปตัดต้นยางเลย” นายระพีพันธ์กล่าว

ด้านนายวิรัช อยู่ชา อาจารย์สำนักพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม มจพ. กล่าวว่า การเพาะปลูกของเกษตรกรไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง หรือปลูกยางพารา สุดท้ายมักจะหลงเหลือสิ่งที่ไม่ต้องการเช่น ฟางข้าว เปลือกข้าว กากอ้อย ใบยางต่างๆ ซึ่งเกษตรกรต้องหาที่ทิ้ง หรือใช้วิธีเผาทิ้งซึ่งสร้างมลพิษ เเต่สิ่งเหล่านี้มีมูลค่า นำไปทำเป็นพลังชีวมวลได้ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมักจะลงพื้นที่เพื่อสนับสนุนความรู้เเละเทคโนโลยีให้กับชุมชน เพราะเรามองว่าทางออกของประเทศที่จะทำให้เกษตรกรอยู่ได้คือการสร้างพลังชีวมวลในชุมชน เพื่อให้เกษตรอยู่ได้ครบวงจรอย่างเป็นระบบ

Advertisement

“อย่างวันนี้เรานำเครื่องนวัตกรรมมาหลายตัว เริ่มเเรกจากเครื่องเเกะเมล็ดข้าวโพด เดิมเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดไปส่งโรงงานฝักที่เม็ดไม่เรียงสวยจะถูกคัดทิ้งเเละไม่ได้เงิน เเต่ถ้าเกษตรกรแกะเมล็ดข้าวโพดเองนอกจากจะขายได้ทุกฝักทุกเม็ดเเล้วยังเพิ่มมูลค่าได้อีก หรืออาจจะนำไปแปรรูปทำขนม หรือน้ำข้าวโพดขายเพิ่มมูลค่าก็ได้ ส่วนที่เหลือเช่นซังข้าวโพดเเละเเกนข้าวโพดนำมาเป็นพลังชีวมวลได้ เเต่เนื่องจากตัวโรงงานผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนสูงถึง 80 ล้านบาท เกษตรกรจะลงทุนเองก็คงยากดังนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุน ซึ่งการลงทุน 1 โรงงาน 80 บาทผมมองว่าคุ้มค่า ทำให้เกษตรกรมีรายได้มาพยุงสินค้าเกษตรเมื่อราคาตกต่ำ ทำให้มีรายได้ที่เเน่นอน ประเทศไทยก็มีพลังงานไฟฟ้าใช้” นายวิรัชกล่าว

นายจาง ซิง หมิง หัวหน้าฝ่ายบริษัท CIHEVEA กล่าวว่า เป็นตัวเเทนจัดเเสดงเครื่องกรีดยางร่วมกับบริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ความพิเศษของเครื่องกรีดยางนี้เป็นรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนาให้กรีดง่ายเเละใช้เวลาสั้นกว่าเครื่องกรีดยางรุ่นเดิมที่ใช้เวลากรีด 15 วินาทีต่อรอบ เเละความพิเศษสุดของเครื่องกรีดยางคือ ตั้งเวลาในการกรีดยางได้พร้อมกันทุกต้นผ่านรีโมตหรือโปรเเกรมผ่านมือถือ ส่วนการลงมีดกรีดยางเทียบกับคนเเล้วการใช้เครื่องกรีดจะมีความสม่ำเสมอกว่า เเละกรีดผิวยางบางมากถ้าเทียบกับคน

“ระยะเวลาการใช้งาน 1 เครื่องมีอายุงาน 20 ปี ส่วนการดูเเลเครื่องก็ง่าย มีการทดลองใช้งานกับสวนยางจริงเเละประสบความสำเร็จมาเเล้ว เกษตรกรติดตั้งเครื่องกรีดยางเองได้ ใช้เวลาประมาณ 10 นาที นอกจากนี้ยังมีระบบสัญญาณกันขโมยด้วยเเสงไฟเเละเสียงดังเเจ้งเตือน ในส่วนการรับผิดชอบต่อตัวเครื่องในกรณีที่สูญหายจะขึ้นอยู่กับบริษัทประกันที่รับประกันเครื่องไว้ ในส่วนการจัดเเสดงที่งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬครั้งนี้ ตลอดงานก็มีประชาชนสนใจเข้ามาสอบถามเรื่อยๆ เเต่ตอนนี้ราคายังสูงอยู่คือ 1 เครื่องราคา 1,000 หยวน หรือประมาณ 5,000 บาท แต่อนาคตจะศึกษาพัฒนาให้มีราคาน้อยกว่านี้” นายจาง ซิง หมิงกล่าว

ต่อมาเวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559 จะเปิดงานเมื่อวันที่ 21 มกราคม แต่ล่าสุดการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้เสนอขอเปิดบูธเพื่อให้ความรู้กับประชาชนด้วย โดยตัวแทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า มีโครงการรับเบอร์ซิตี้ที่นิคมสงขลาภาคใต้อยู่เเล้ว เป็นการสนับสนุนด้านการแปรรูปยางพาราเป็นยางรถยนต์ เป็นถุงมือยางพารา ถุงมือที่ใช้ทางการเเพทย์ เเละถุงยางอนามัย เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจยางพาราเติบโตเเละพัฒนาขึ้น การจัดงานยางพาราซึ่งสนับสนุนมุ่งเน้นเรื่องการเเปรรูปจึงเป็นสิ่งที่ดี เพราะราคายางตอนนี้อย่างที่ทราบกันดีว่าตกต่ำอยู่ ถ้ามีการสนับสนุนให้ใช้ยางพารามากขึ้นอาจจะส่งผลให้ราคายางดีขึ้นได้

ตัวแทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวอีกว่า เห็นว่าทาง จ.บึงกาฬจัดงานเรื่องยางพารา คิดว่าน่าจะมีส่วนร่วมด้วย เลยจะมาเปิดบูธเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางพารา มาเเสดงให้เห็นถึงการพัฒนาธุรกิจยางพารา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เเละมีความรู้เกี่ยวกับการจัดพื้นที่รองรับโรงงานสำหรับการเเปรรูปว่าจะต้องมีน้ำ มีไฟฟ้า หรืออะไรบ้างที่เพียงพอเเละพร้อมจะตั้งโรงงานได้เผื่อมีโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติหากสนใจจะลงทุนทำโรงงานเเปรรูปยางพาราก็สามารถทำได้

“งานนี้เราตั้งใจจะโปรโมตสำหรับนักลงทุนโดยเฉพาะให้เข้ามาลงทุนเเละใช้ยางให้มากขึ้น เกษตรกรก็จะขายยางได้มากขึ้น เป็นการสนับสนุนด้านหนึ่ง อย่างที่ภาคใต้มีนักลงทุน มีโรงงานใหญ่ๆ เข้าไปลงทุน เช่น บริษัทยางมิชลิน เป็นต้น ซึ่งการเข้ามาของนักลงทุนทำให้เกิดการใช้ยางปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรขายน้ำยางได้ง่ายขึ้น” ตัวแทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าว

เวลา 14.30 น. ที่เวทีปราชญ์ชาวบ้าน มีการเสวนาในหัวข้อ เทคนิคการปลูกลิ้นจี่ในสวนยาง โดยนายสวัสดิ์ ภาษา เกษตรกรจังหวัดนครพนม ผู้บุกเบิกปลูกลิ้นจี่ นพ.1 อันเลื่องชื่อของ จ.นครพนม โดยกล่าวว่าเดิมมีอาชีพทำนาทำไร่ เช่น ยาสูบ ข้าวโพด ต่อมาปี 2535 ไปเจอต้นลิ้นจี่ นพ.1 ที่ให้ผลผลิตรูปทรงสวยงาม สีสันน่ารับประทาน ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนนครพนม จึงซื้อพันธุ์ลิ้นจี่ 50 ต้นมาปลูกบนที่ดิน 10 ไร่ โดยปลูกในระยะห่าง 8×8 เมตร สามารถเก็บผลลิ้นจี่ไปขายได้หลังจากลงปลูกเพียง 2 ปี ที่สำคัญได้ผลผลิตที่ดี สร้างฐานะและรายได้ที่มั่นคง ทำให้เกษตรกรในท้องถิ่นหันมาปลูกลิ้นจี่กันอย่างกว้างขวาง ปัจจุบันปลูกลิ้นจี่พันธุ์ นพ.1 จำนวน 100 ไร่ ได้ผลผลิตราว 200 ตันต่อปี จุดเด่นของลิ้นจี่ นพ.1 เป็นลิ้นจี่สายพันธุ์เบาที่ให้ผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี เรียกว่าให้ผลผลิตเข้าสู่ตลาดเร็วกว่าพันธุ์ฮงฮวยและพันธุ์จักรพรรดิที่นิยมปลูกในภาคเหนือ ที่สำคัญลิ้นจี่พันธุ์นี้ติดผลง่าย ไม่ต้องรอให้อากาศหนาวจัด มีรสชาติหวานอร่อย เนื้อแห้ง ขายได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 100 บาท เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ยังมีความต้องการเพิ่มอีกจำนวนมาก

“ต้นลิ้นจี่ นพ. 1 ปลูกและดูแลง่าย โดยให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง เมื่อติดดอกได้ 40-50 เปอร์เซ็นต์ จึงเพิ่มปริมาณน้ำให้มากขึ้น หลังให้น้ำครั้งแรก ควรพักการให้น้ำระยะหนึ่งก่อน รอจนกิ่งที่ติดผลคล้อยลงต่ำจึงเริ่มให้น้ำอีกครั้ง และให้ปุ๋ยบำรุงต้นสูตร 8-24-24 หรือ 13-21-21 ประมาณหนึ่งกำมือ หว่านรอบต้นลิ้นจี่ประมาณ 1 เมตร ปัจจุบันต้นลิ้นจี่ที่ปลูกในสวนมีอายุ 18 ปี แต่ยังให้ผลผลิตดี เพราะหลังเก็บเกี่ยวทุกครั้งจะตัดแต่งกิ่งและทรงพุ่มได้ขนาด เรียกว่าเป็นขั้นตอนการทำสาวต้นลิ้นจี่ ทุกครั้งเพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพดีจำนวนมากตามที่ต้องการ หากต้นลิ้นจี่ที่ปลูกเจอปัญหาผลลิ้นจี่แตก แสดงว่าดินขาดแคลเซียม วิธีแก้คือ เติมปูนขาวหรือดินโดโลไมท์ปรับลดความเป็น

กรดและเพิ่มธาตุแคลเซียมในดิน ปัญหาผลลิ้นจี่แตกสามารถดูแลป้องกันได้ ตั้งแต่ต้นลิ้นจี่เริ่มผลิดอกออกผล ขนาดเท่าหัวไม้ขีด ให้โรยปูนขาวหรือดินโดโลไมท์รอบโคนต้น หว่านซ้ำอีกครั้งเมื่อผ่านไปได้ 15 วัน วิธีนี้จะช่วยให้มีขั้วเหนียว ผลไม่แตก ปัจจุบันผลลิ้นจี่ของผมส่งเข้าตลาดห้างสรรพสินค้าท็อปส์ แม็คโคร และป้อนตลาดส่งออก ส่วนสินค้าตกเกรดจำหน่ายในตลาดท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีรายได้ก้อนโตจากการจำหน่ายกิ่งตอนให้แก่เกษตรกรที่สนใจนำไปปลูกขยายพันธุ์ ในราคาต้นละ 100-200 บาท ตามขนาดของลำต้นด้วย” นายสวัสดิ์กล่าว

2

เวลา 21.30 น. หลังการประกวดวงดนตรีลูกทุ่ง “บึงกาฬคอนเทสต์” มีการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินลูกทุ่งชื่อดัง “ตั๊กแตน ชลดา” มีประชาชนให้ความสนใจร่วมชม ร่วมฟังอย่างเนืองแน่น แม้อากาศจะค่อนข้างหนาวจัดและมีลมแรง และอย่างไรก็ตาม “งานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559” จะจัดไปจนถึงวันถึง 27 มกราคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ โดยมีเวทีเสวนาความรู้ เวทีกิจกรรมความบันเทิง พร้อมทั้งการออกร้านจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์การเกษตร และสินค้าโอท็อปทั้งจากใน จ.บึงกาฬ และจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image