เกษตรโคราชออกโรงเตือนโรคระบาดในพืชผักช่วงหน้าหนาว หวั่นผลผลิตเสียหาย

ผู้สื่อข่าวจากนครราชสีมารายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มทำการเพาะปลูกพืชผักที่ใช้น้ำน้อย อย่างใน อ.ประทาย จ.นครราชสีมา เริ่มมีเกษตรกรทำการเกษตร ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในช่วงหน้าหนาว ทำให้ทางสำนักงานเกษตรอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ต้องออกมาเตือนเกษตรกรให้รู้จักโรคพืชที่อาจเกิดการระบาดได้ รวมถึงแนะนำวิธีการป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายแก่ผลผลิต

นายธีระศักดิ์ บุตรธนู เกษตรอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงหน้าหนาวนี้ หากเกษตรกรต้องการที่จะปลูกพืชผักชนิดต่างๆ จำเป็นที่จะต้องมีความรู้เพื่อคอยดูแลพืชผักให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด ซึ่งโรคของต้นอ่อนหรือกล้าผักต่างๆ มีอยู่ด้วยกันหลายชนิดแต่ที่ทราบและรู้จักกันดีที่สุด ได้แก่ โรคโคนเน่าคอดิน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันทั่วๆ ไปว่าโรคกล้าตายพราย หรือโรคเหี่ยวเขียว จัดว่าเป็นโรคระบาดสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับผักมากมายหลายชนิด หลายตระกูลในเกือบทุกสภาพของดินและภูมิอากาศตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของการเจริญเติบโต อาการทั่วไปจะพบว่า ต้นกล้าฟุบตายเป็นหย่อมๆ เมื่อนำกล้ามาพิจารณาดูจะเห็นว่า บริเวณโคนต้นจะมีลักษณะแผลช้ำ เหี่ยวแฟบ คอร่วงเป็นสีน้ำตาลดำและเน่า เป็นเหตุทำให้ต้นกล้าหักพับลง พบในกล้าพืชแทบทุกชนิดในแปลงที่มีกล้าแน่นเกินไป และความชื้นสูง โดยมีสาเหตุมาจากเชื้อรา เชื้อโรคแต่ละชนิดต้องการสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันไป เช่น โรคเน่าคอดิน โรครากเน่าจะเกิดรุนแรงเมื่อความชื้นสูง ดินมีการระบายน้ำไม่ดี โรคเน่าเละของผักระบาด เมื่อความชื้นสูง และอากาศร้อน โรคราแป้งขาวจะเกิดโรคได้ดีในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง ในขณะที่โรคราน้ำค้างจะเกิดโรคได้ดีและระบาดมาก เมื่อมีความชื้นสูงและฝนตกชุก จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรควรหมั่นดูแลพืชผลทางการเกษตรอย่างใกล้ชิด หากพบการแพร่ระบาดของโรคผักในช่วงฤดูหนาวก็สามารถติดต่อสอบถามวิธีป้องกันความเสียหายได้ที่เกษตรอำเภอใกล้บ้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image