นายกชาวสวนยาง 16 จว.ใต้ ชี้ ‘ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์’ ทำให้ราคายางสูงขึ้น

แฟ้มภาพ

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม นายศุภสัณห์ หนูสวัสดิ์ นายกเทศบาลตำบลนาทวี จ.สงขลา ในฐานะประธานสันนิบาตเทศบาลภาคใต้ กล่าวถึงสาเหตุที่รัฐบาลมอบนโยบายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบสะสมเพื่อก่อสร้างถนนยางพารา จุดประสงค์หลักต้องการกระตุ้นราคายางให้สูงขึ้น จากปัจจัยการใช้น้ำยางข้นและน้ำยางสดในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาหลายปีมีปัญหาจากการส่งออก และรัฐบาลมีความเชื่อว่า อปท.ซึ่งเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สามารถชี้แจงเหตุผลให้ชาวสวนยางเข้าใจได้ดีกว่าการจัดงบให้กรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท เป็นผู้ดำเนินการสร้างถนน แต่ถึงที่สุดยังไม่มีหน่วยงานใดยืนยันชัดเจนว่าเมื่อ อปท.จัดทำโครงการตามศักยภาพและตามความเหมาะสมของรายได้แล้ว จะทำให้ราคายางดีขึ้นจริงหรือไม่ ประสิทธิภาพของถนนหรือสิ่งก่อสร้างอื่นที่ผลิตจากยางพาราจะเป็นอย่างไรในระยะยาว ทั้งที่ชาวสวนยางโดยเฉพาะในภาคใต้ต้องการให้ยางแผ่นมีราคากิโลกรัม (กก.) ละ 50 บาท แต่เชื่อว่าด้วยปัจจัยบวก หลังเลือกตั้งราคายางในประเทศจะขยับสูงขึ้น เนื่องจากตลาดต่างประเทศไม่มีข้ออ้างกรณีไม่ซื้อ จากข้ออ้างระบอบการปกครองในไทยไม่เป็นประชาธิปไตย

ด้านนายวีระศักดิ์ เครือเทพ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น (กกถ.) กล่าวว่า โครงการสร้างถนนจากยางพาราภายหลังรัฐบาลมีนโยบายเร่งด่วน ถ้ามองแบบผิวเผินหลายฝ่ายคิดว่านำน้ำยางมาราดทำถนนได้ทันที ทำง่าย กระตุ้นราคาได้เร็ว แต่ข้อเท็จจริง อปท.ต้องมีช่างที่มีประสบการณ์ มีเครื่องมือสร้างถนน ส่วนเอกชนหากจะจ้างรับเหมา โดยกำหนดว่าเป็นถนนยางพารา แต่ไม่มีราคากลาง คงไม่มีบริษัทใดรับไปก่อสร้าง อปท.ก็ไม่กล้าเสี่ยง หากมีการตรวจสอบอาจมีปัญหาในภายหลัง ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรคิดแค่ให้งบประมาณ แต่ต้องมีระเบียบรองรับให้สามารถทำได้จริง การใช้งบมีความโปร่งใส สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้การใช้งบเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีระเบียบเปิดช่องให้ อปท.ดำเนินการได้

“รัฐบาลไม่เคยมองในทางปฏิบัติ ไปฟังแต่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่ยอมอำนวยความสะดวกเรื่องการออกระเบียบรองรับ หากกำหนดให้ซื้อน้ำยางจากชาวบ้าน อปท.คงไม่ต้องการมีปัญหากับฐานเสียง แต่ราคาซื้อขายวัตถุดิบสามารถประเมินทางเทคนิค ต้องมีข้อมูลจากกรมทางหลวง มีแบบรองรับในการผสม แต่ปัญหาจะเกิดจากการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะไม่มีราคากลาง และราคาต้นทุนผันผวนมาก อปท.ประเมินการทำงบประมาณได้ยาก ที่สำคัญหากไม่มีระเบียบรองรับ อปท.คงไม่กล้าตัดสินใจดำเนินการ” นายวีระศักดิ์กล่าว

นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) กล่าวว่า การทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ตามสูตรของนักวิชาการ เป็นวิธีการที่จะทำให้ราคายางสูงขึ้นได้ วิธีการทำถนนไม่ยุ่งยาก อปท.สามารถจัดซื้อจัดจ้างได้ ก่อให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น แต่ล่าสุดวิธีการของกรมทางหลวงที่อธิบายในที่ประชุมผู้บริหารของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ให้นำน้ำยางมาผสมเคมีที่โรงงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แต่ทั้งประเทศมีโรงงานไม่มาก นอกจากนั้น ยังเพิ่มการใช้น้ำยางข้นทำถนน เพื่อรองรับเหตุผลการผสมที่โรงงาน เนื่องจากผสมหน้างานไม่ได้ จึงเป็นการเพิ่มต้นทุน เพราะต้องนำน้ำยางจากทั่วประเทศไปผสมที่โรงงาน แล้วบรรทุกกลับไปสร้างถนน ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

Advertisement

“ทำให้การทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์มีความยุ่งยาก ต้นทุนสูงขึ้น การกำหนดหลักเกณฑ์ทำเพื่อนายทุนยางมะตอย หรือเพื่อให้เครือข่ายโรงงานที่ได้รับอนุญาตได้ผูกขาดใช่หรือไม่ ทั้งที่สามารถผสมหน้างานได้ หรือเพื่อนายทุนโรงงานน้ำยางข้นมีเอี่ยวกับการขายน้ำยางข้นในราคาไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 60 บาท ขณะที่ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ เป็นทางออกเดียวเพื่อช่วยเหลือชาวสวนยาง ให้ขายยางที่จุดคุ้มทุนกิโลกรัมละ 63.50 บาท หากรัฐบาลทหาร คสช.มีนโยบายจะปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นและต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ควรมีคำตอบในการใช้ยางสร้างถนนพาราซอยล์ให้ชัดเจน” นายสุนทรกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image