งานโยธา ‘มอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช’ คืบ 64 % คาดเปิดบริการปลายปี 64 (คลิป)

ก่อสร้างมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา งานโยธาคืบหน้า 64 % คาดเปิดบริการปลายปี 64 ค่าผ่านทางรถส่วนบุคคล 235 บาท ตลอดสาย 196 กิโลเมตร เจอข้อพิพาทชะงักงาน 2 จุด

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 สำนักงานทางหลวงที่ 10 นครราชสีมา (สนง.ทล.10 นม.) พร้อมวิศวกรผู้ควบคุมงานก่อสร้าง เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างถนนมอเตอร์เวย์ ช่วงที่ 21-40 บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 83+547-188+800 พื้นที่รับผิดชอบ สนง.ทล.10 นม.นครราชสีมา ภาพรวมด้านโยธา มีความก้าวหน้า 64 % เกินมูลค่างานตามแผนกำหนดไว้ ในปี 2563 เตรียมก่อสร้างด่านเก็บค่าผ่านทางและศูนย์บริการทางหลวง 9 จุด คาดจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2564 เสร็จสิ้นตามกำหนด ส่วนอัตราค่าใช้บริการ ยานพาหนะขนาดเล็กประเภทรถยนต์ส่วนบุคคล ราคาเริ่มต้น 10 บาท รวมค่าใช้จ่ายตามระยะทาง กิโลเมตร 1.25 บาท หากเดินทางจากบางประอินถึงโคราชเสียค่าใช้จ่าย 235 บาท

 

ปัญหาการเวนคืนที่ดิน กรมทางหลวงได้เจรจาไกล่เกลี่ยจนสามารถระงับข้อพิพาทได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเหลือที่ดินราชพัสดุและ ส.ป.ก. 4-01 อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นศาล ทำให้การก่อสร้างช่วงผ่านพื้นที่ 9 ต.หนองน้ำแดง อ.ปากช่อง และบ้านใหม่สำโรง หมู่ 3 ต.ลาดบัวขาว อ.สีคิ้ว นครราชสีมา ต้องหยุดชะงักชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างนัดไกล่เกลี่ยคาดจะได้ข้อยุติในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้กรมทางหลวงได้วางมาตรการป้องกันและความมั่นคงช่วงถนนมอเตอร์ผ่านเรือนจำกลางคลองไผ่ ซึ่งมีระยะใกล้ที่สุด 120 เมตร ได้ดำเนินการติดตั้งหลังคาป้องกันครอบถนนความยาว 700 เมตร ดังนั้นผู้ใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์ จะไม่สามารถมองไม่เห็นเรือนจำฯ ได้อย่างแน่นอน การก่อสร้างช่วงบริเวณผ่านอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งเป็นทางต่างระดับความยาวประมาณ 20 กิโลเมตร ค่อนข้างมีปัญหาทั้งการจราจรคับคั่งและเส้นทางเป็นเนินภูเขาสูงและทางโค้งทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง กรมทางหลวงได้วางมาตรการป้องกันค่อนข้างเข้มงวด การใช้ทางผ่านจึงต้องชะลอความเร็วและให้ปฏิบัติตามคำเตือน แต่ช่วงนี้ถือเป็นจุดที่มีวิวทัศน์สวยงามมาก เมื่อขับรถผ่านทางมอเตอร์เวย์จะอยู่สูงเหนือน้ำมองเห็นน้ำในอ่างฯ และช่วงเย็นขณะดวงอาทิตย์ลับขอบน้ำ ภูมิทัศน์สวยมาก

Advertisement

นายพรชัย แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ 2 กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 อนุมัติให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงดำเนินโครงการ รวมระยะทางทั้งสิ้น 195.800 กิโลเมตร มูลค่า 84,600 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาทและค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,630 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางสร้างความเจริญ ประตูเข้าสู่เศรษฐกิจเชื่อมโยงสู่มวลสมาชิกอาเซียน เช่น ประเทศลาว กัมพูชา จีนและเวียดนาม รวมทั้งบรรเทาปัญหาการจราจรภาคอีสานให้สะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง นอกจากนี้ยังเป็นยกระดับคุณภาพของประชาชนสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในระยะยาว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image