ชาวพัทลุงค้านสร้างคันกั้นน้ำเค็ม-2 โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว เผยกระทบวิถีชีวิต

พัทลุงค้านสร้างคันกั้นน้ำเค็ม และโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว 2 โครงการ

วันที่ 6 ธ.ค. ที่ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาทุกขราษฎร์ ใกล้สำนักงานชลประทานพัทลุง อ.เมือง จ.พัทลุง ชาวบ้านจากตำบล หนองธง อำเภอป่าบอน ในพื้นที่ต้นน้ำเชิงเทือกเขาบรรทัด และชาวบ้านจากเขตรอยต่อของ อำเภอ เมือง และ อำเภอ ควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำริมทะเลสาบพัทลุง กว่า 100 คน รวมตัวเดินเท้าเข้ามาที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง โดยมีการนำแผ่นป้ายเขียนข้อความคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่วอำเภอป่าบอน และการสร้างคันกั้นน้ำเค็มในพื้นที่ริมทะเลสาบพัทลุง ขอพบนายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง

ทั้งนี้เนื่องจากคลองปากประเป็นคลองระบายน้ำจากเทือกเขาบรรทัดลงสู่ทะเลสาบพัทลุง บริเวณบ้านปากกระ ม.5 ต.ลำปำ อ.เมืองและพื้นที่ ม.3 ต.พนางตุง อ.ควนขนุน ในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำนานชนิด มีความหลากหลายของระบบนิเวศ อีกทั้งเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน มีวิถีชีวิตคงความเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดพัทลุง โดยเฉพาะการรอชมแสงแรกในตอนเช้าผ่าน ยอยักษ์ขนาดใหญ่ สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในพ้นที่อีกทางหนึ่งด้วย เช่น เดียวกับชาวบ้านเหมืองตะกั่วอำเภอป่าบอนที่ออกมาคัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เนื่องจากสถานที่ก่อสร้างเขื่อนเป็นป่าต้นน้ำเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าหายากนานาชนิดซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านได้ยื่นเรื่องคัดค้านไปยังกรมชลประทานและอีกหลายหน่วยงานแต่ถูกเพิกเฉยมาโดยตลอดจึงได้มารวมตัวแสดงพลังในวันนี้เช่นกัน

นายเดชา เหล็มหมาด ประธานกลุ่มรักษ์โตนสะตอ กล่าวว่าวันนี้มายื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าหลังจากได้รวมตัวคัดค้านการสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่วมาแล้วถึง 5 ปี แต่ทางกรมชลประทานยังมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ทั้งๆที่ทางกรมชลประมาได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อเข้ามาสำรวจความเป็นไปได้ และสรุปได้ว่าในพื้นที่ไม่มีการขาดแคลนน้ำ และเล็งเห็นแล้วว่าหากมีการสร้างอ่างจะมีผลกระทบกับชาวบ้านและระบบนิเวศน์เป็นอย่างมาก ทั้งเป็นป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าหายากควบคู่กัน การเข้ามาเปิดเวทีประชาพิจารของกรมชลประทานก็ไม่มีความโปร่งใส แม่แต่การสำรวจผลกระทบในพื้นที่ออกมาแล้วก็ยังไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน

Advertisement

ตนมองว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง ทางชลประทานเองก็ไม่ได้คิดที่จะแก้ปัญหาเรื่องน้ำเพียงอย่างเดียว แต่คิดเพียงแต่ว่าทำอย่างไรก็ได้ จะต้องสร้างอ่างให้ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ล่าสุดมีการปล่อยข่าวในพื้นที่ในเรื่องของการจ่ายค่าเวนคืน จึงทำให้มีเจ้าของพื้นที่ใหม่ๆเข้าไปครอบครอง ทั้งๆพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ แม้แต่ข้าราชการก็เข้าไปจับจองเป็นเจ้าของพื้นที่ด้วย หากมีคนของรัฐเข้าไปแอบอ้าง แล้วจะแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้อย่างไร

ส่วนทางด้านนายสุรศักดิ์ คันธา หัวหน้าชลประทานพัทลุง กล่าวกับชาวบ้านว่า ขอบเขตความผิดชอบแค่เป็นตัวแทนด้านการโยธาในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุง ที่เหมืองตะกั่วมีโครงการชลประทานขนาดกลางที่ 16 รับผิดชอบอยู่ส่วนที่ประตูระบายน้ำคลองปากประซึ่งอยู่ในขั้นตอนงานสำรวจออกแบบตั้งแต่ปี 61 ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จในปี 63 อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักออกแบบ และสถาปัตย์ของกรมชลประทานที่ กทม.

ในส่วนของจังหวัด ทำได้แค่รับทราบปัญหา เพื่อสรุปข้อมูลเสนอไปยังกรมชลประทานสั่งการอีกครั้งอยู่ ซึ่งทั้งสองโครงการกรมชลประทานรับทราบมาโดยตลอดว่ามีปัญหาอยู่ มีทั้งเกษตรกรและชาวบ้านในพื้นที่ ที่มีความต้องการและไม่ต้องการ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ชลประทานและจังหวัดพัทลุง ก็จะรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน หากสิ่งไหนที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ก็พร้อมจะผลักดันให้เกิดส่วนสิ่งไหนที่ทำแล้วเกิดผลกระทบกับส่วนร่วมและชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ไม่ต้องการก็ต้องหยุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับกรมชลประทานที่จะพิจารณาติดสินใจต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image