อธิบดี สถ. บรรยาย “การจัดการศึกษาแบบบูรณาการเชิงพื้นที่”

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่โรงแรมรอยัล ซิตี้ ปิ่นเกล้า นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บรรยายพิเศษ เรื่อง “การจัดการศึกษาแบบบูรณาการเชิงพื้นที่” ในการประชุมสัมมนาการบริหารการศึกษาส่วนภูมิภาค จัดขึ้นโดยสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีศึกษาธิการภาค รองศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัด และรองศึกษาธิการจังหวัด กว่า 120 คนร่วมฟังบรรยายฯ

อธิบดี สถ. กล่าวถึงบทบาทของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กับการจัดการศึกษา ว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีบทบาทภารกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยการพัฒนาและให้คำปรึกษา แนะนำองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งทางด้านการบริหารงานบุคคล ด้านการเงินการคลัง และการบริการจัดการ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเข้มแข็ง และมีศักยภาพในการให้บริการสาธารณะ ซึ่งหนึ่งในภารกิจที่สำคัญ ก็คือ “การจัดการศึกษา เน้นการให้บริการสาธารณะ” ดังนั้น จึงมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน และประสานการจัดการบริการสาธารณะและการจัดการศึกษาในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย ซึ่งมีขอบเขต และอำนาจหน้าที่ คือ 1. การจัดการศึกษาปฐมวัย ที่มุ่งพัฒนาความพร้อมให้แก่เด็กแรกเกิดจนถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ 2. การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาวางรากฐานชีวิต เตรียมความพร้อมให้ผู้เรียนสามารถอยู่ในสังคม และประเทศได้อย่างมีความสุขเหมือนกับโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) /กระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้ยังมีการจัดการส่งเสริมกีฬา นันทนาการและกิจกรรมเยาวชน และการดำเนินงานด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย

สำหรับคำว่า การจัดการศึกษาแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ คำนี้เป็นคำใหม่ที่ยังไม่คุ้นหู ส่วนใหญ่จะคุ้นกับคำว่า การบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ และอีกคำที่ตามมาคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด (CEO) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ให้ผู้ว่า (CEO) ทำหน้าที่ในการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ ต้องทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีเอกภาพในการบังคับบัญชาให้มากที่สุด รู้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบคนสุดท้ายในการแก้ปัญหาของจังหวัด และให้แก้ปัญหาจบอยู่ที่นั่น ไม่ต้องส่งปัญหาเข้าสู่ส่วนกลาง ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ให้เป็น องค์กรที่มีความปรับตัวง่าย ตอบสนองต่อปัญหาของประชาชนและการพัฒนาประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงต้องมีภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นผู้นำในทุกๆ ด้าน และมีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี

อธิบดี สถ.กล่าวต่อว่า การจัดการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้หมายถึงจัดที่โรงเรียนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงทุกแห่งทุกหน สามารถจัดการศึกษาได้ ดังนั้นพื้นที่จึงต้องวงกว้างมาก ทั้งบ้าน วัด ที่อ่านหนังสือ ศาลาพักร้อน บนรถโดยสาร ก็สามารถเป็นได้ทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตาม การจัดการศึกษาก็ต้องมีขอบเขตและเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ รวมทั้งการติดตาม วัดผล และประเมินผล การศึกษาจึงไม่สามารถกำหนดขอบเขตได้เสมอไป เพราะการศึกษาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ที่แบ่งเป็น การศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน อุดมศึกษานั้น ก็เพื่อสะดวกในการวัดและประเมินผลในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีผู้สูงอายุมากขึ้นจนกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย

Advertisement

จะเห็นได้ว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาเนื่องจากการจัดการศึกษาเป็นหนึ่งในการให้การบริการสาธารณะ จึงถือได้ว่าเป็นหน้าที่ตามบทบาทและอำนาจหน้าที่โดยตรง ด้วยเหตุที่ท้องถิ่นเป็นการบูรณาการจากส่วนย่อยมาเป็นส่วนใหญ่ จากบุคคลมาเป็นครอบครัว จากครอบครัวมาเป็นหมู่บ้าน จากหมู่บ้านมาเป็นตำบล อำเภอ จังหวัด และเป็นประเทศในที่สุด การศึกษาก็ไม่ต่างกัน ต้องเริ่มจากบุคคล ครอบครัว เด็กเล็ก เด็กอนุบาล นักเรียน นิสิตนักศึกษา จนเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ การขับเคลื่อนการศึกษา จึงเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมจากส่วนย่อยๆ และรวมพลังเป็นส่วนใหญ่ จนเกิดความเจริญงอกงามสู่เป้าหมาย คือ เก่ง ดี มีสุข เป็นคนที่สมบูรณ์ ประกอบด้วยความรู้คู่คุณธรรม เป็นพลเมืองดีของชาติบ้านเมือง

ทางด้านการบูรณาการเชิงวิชาการนั้น จำเป็นต้องบูรณาการพื้นฐานทั้ง 4 ด้านนี้เข้าไปสอดประสานในเนื้อหา วิชาการและหลักสูตร เป็นการบูรณาการในเชิงวิชาการ การมุ่งให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ในการเรียนที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวัดผลปลายปี หรือการสอบ O-net หรือการทดสอบใดๆ ก็ตาม เป็นหน้าที่โดยตรงของการจัดการศึกษาอยู่แล้ว แต่จะต้องสร้างคนดี มีคุณธรรมควบคู่ไปด้วย ส่วนการบูรณาการเชิงพื้นที่ ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องเป็นผู้นำในโรงเรียน เสมือนกับผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำในจังหวัด นายกเทศมนตรีเป็นผู้นำเทศบาล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้นำองค์การบริหารส่วนตำบล เช่นเดียวกับศึกษาธิการภาคต้องเป็นผู้นำในภาค ศึกษาธิการจังหวัดต้องเป็นผู้นำในการจัดการศึกษาในจังหวัดนั้นๆ

อธิบดี สถ. กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ดูแลการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ได้จัดการศึกษาแบบบูรณาการในเชิงพื้นที่อยู่แล้ว กรมฯ ได้ให้ท้องถิ่นทุกภาคส่วนเข่ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่ความเป็นอยู่ อาหารการกิน สิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งจัดการหลักสูตรให้สอดคล้องกับท้องถิ่น จนทำให้มีผลสัมฤทธิ์ได้ในระดับสูง เช่น โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กปฐมวัย ท้องถิ่นไทย ผ่านการเล่น “สนามเด็กเล่นสร้างปัญญา” ที่ต้องการให้เด็กปฐมวัยภายในท้องถิ่น มีพัฒนาการสมบูรณ์ตามวัยครบทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา ให้เด็กได้มีพัฒนาการที่ดี และให้เด็กได้เรียนในห้องเรียนธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้สมองจะได้รับการพัฒนาใน 6 มิติ สามารถคิดนอกกรอบนำสรรพวิชา วิทย์ คณิต ภาษา ศิลปะ สังคม มาสร้างสรรค์ เชื่อมโยง ดัดแปลงจนได้ความคิดใหม่สุดเรียกว่า ปัญญา เพราะการเล่นจะเสริมสร้างสมาธิให้แก่เด็ก เกิดความสามัคคีกัน ให้เด็กมีสังคมแห่งมิตรภาพ มีความเป็นจิตอาสา และจุดเริ่มต้นของพัฒนาการที่ดี คือการได้เล่นในสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และที่บ้านนั่นเอง ก็ขอฝากถึงผู้บริหารทางการศึกษาทุกท่าน ให้ช่วยสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับคุณครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกเรื่องหนึ่งด้วยว่า เด็กเล็กที่อายุระหว่าง 0-5 ปี เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาชีวิต จึงขอให้ช่วยส่งเสริมให้ผู้ปกครองให้ความสำคัญที่จะพาบุตรหลานมาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้เด็กได้รับการพัฒนาในทุกๆด้าน ทุกๆวัน อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ

Advertisement

“การศึกษาไม่ใช่หน้าที่ของแค่คนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน ที่ต้องระดมทรัพยากรของตนเองที่มีอยู่ มาช่วยกัน ร่วมมือกัน ปรองดอง สามัคคี ร่วมแรง ร่วมใจ มีความเป็นจิตอาสา ร่วมสร้างอนาคตของชาติ ให้เป็นคนดี คนเก่ง เพื่อพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีความยินดีและเต็มใจเป็นอย่างยิ่งที่จะให้การสนับสนุน ส่งเสริมการขับเคลื่อนการศึกษาไปพร้อมๆ กับทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายเดียวกัน” อธิบดี สถ.กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image