แกนนำยางใต้จับตาประชุมไตรภาคียาง แนะใช้เวทีลั่นนโยบายดันน้ำยางสด 9 แสนตัน สร้างถนนพาราซอยล์ฯ

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) เปิดเผยว่า การแก้ไขวิกฤตราคายางพารา ตามแนวทางช่วยเหลือชาวสวนยาง จากโครงการสร้างความเข้มแข็งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพ โดยเฉพาะการใช้น้ำยางสดสร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ทุกหมู่บ้านใช้งบกว่า 1 แสนล้านบาท อาจจะมีผลกระทบกับการกำหนดราคาซื้อขายยางพารากับประเทศมาเลเซีย หากรัฐบาลทำให้โครงการมีผลเป็นรูปธรรมจะทำให้ราคายางสูงขึ้น ขณะที่ประเทศมาเลเซียได้เปลี่ยนจากผู้ผลิตเป็นผู้บริโภคน้ำยางข้นจากไทยปีละประมาณ 7 แสนตัน ทำให้ปัจจุบันมาเลเซียเป็นผู้นำอุตสาหกรรมยางพาราของโลก และไม่ต้องการให้ราคายางในประเทศไทยสูงขึ้น เพราะต้องซื้อน้ำยางข้นจากไทยในราคาสูง

“ระหว่างวันที่ 11-14 ธันวาคมนี้ จะมีการประชุมไตรภาคียางพาราที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีตัวแทนจากไทยเข้าร่วมประชุม ตามแถลงการณ์ร่วมบาหลีระดับรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2544 ให้มีการจัดตั้งองค์การความร่วมมือไตรภาคียางพารา 3 ประเทศคือ ประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยมีกลไกความร่วมมือจากบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นองค์กรบริหารจัดการราคายางในตลาดโลก โดยมีรัฐบาลของทั้ง 3 ประเทศเป็นผู้ถือหุ้นและจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 2547 และมีสภาไตรภาคียางพารา ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรการรักษาสภาพราคายางพารา ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว”

นายสุนทรกล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้น่าสนใจมาก เนื่องจากไทยจะมีการลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยในการทำถนนในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ ดังนั้น จึงต้องใช้โอกาสนี้ประกาศว่า นอกเหนือจากการใช้ยางพาราผสมยางมะตอยในการทำถนน ประเทศไทยกำลังขับเคลื่อนเพื่อใช้นวัตกรรมถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ เพื่อทำถนนให้กับ 80,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ทำให้เกิดการใช้น้ำยางสด 9 แสนตัน หากไทยประกาศนโยบายนี้ จะทำให้มาเลเซียเป็นผู้บริโภคน้ำยางข้นรายใหญ่จะต้องหวั่นไหวอย่างแน่นอน

“พิสูจน์ได้จากการเคลื่อนไหวของบริษัทผู้ผลิตน้ำยางข้นรายใหญ่ของไทยในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติลุ้นว่ารัฐบาลจะมีมติให้มีการใช้น้ำยางข้นเพื่อทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์หรือไม่ ขณะที่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง รวมทั้ง กทย.จะไม่ยอมให้มีการใช้น้ำยางข้นจากโรงงานเพื่อทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์อย่างเด็ดขาด ที่สำคัญประเทศไทยต้องใช้ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์เป็นเครื่องมือสร้างอำนาจต่อรองในการเป็นผู้นำยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางพาราของโลก ให้ราคาอย่างในประเทศพ้นจุดคุ้มทุน 60 บาทต่อกิโลกรัม” นายสุนทรกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image