ชาวบ้านชนะ! ศาลจ.เลย สั่งเหมืองทอง ชดใช้ค่าเสียหาย-ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมรอบเหมือง

วันนี้ (13 ธ.ค.) เฟสบุ๊กแฟนเพจขบวนการอีสานใหม่ รายงานว่า วันนี้ ศาลจังหวัดเลย นัดฟังคำพิพากษาคดีชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย รวม 165 คนเป็นโจทก์ร่วมฟ้อง บริษัททุ่งคำ จำกัด ในข้อหาละเมิดและเรียกค่าเสียหาย ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ เพื่อขอให้ดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในและนอกพื้นที่เหมืองแร่ทองคำและเรียกค่าเสียหายจากการได้รับผลกระทบเป็นค่าหาอยู่หากิน ค่าน้ำ และค่าเสียหายด้านสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ครอบครัวละ 300,000 บาท

เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลจังหวัดเลย ได้อ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าว โดบศาลมีประเด็นวินิจฉัย 4 ประเด็น ดังนี้

1. จำเลยให้การต่อสู้ ว่าคดีหมดอายุความ หรือไม่ ศาลเห็นว่าจำเลยให้การไม่ชัดแจ้ง ว่าคดีหมดอายุความตามกฎหมายใด ข้อต่อสู้ของจำเลย จึงไม่เป็นประเด็นวินิจฉัย

2. จำเลยกระทำความเสียหายต่อโจทย์หรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจกท์มีความน่าเชื่อถือทำให้เชื่อได้ว่าสารโลหะหนักเกิดจากการประกอบกิจการของบริษัท แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าเกิดจากการใช้สารเคมีของโจทก์แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานพอลบล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์

Advertisement

3. ค่าเสียหายที่ฝ่ายโจทย์เรียกจำนวน 300,000 ศาลเห็นว่าการคำนวณค่าเสียหาย เป็นการคำนวณของฝ่ายโจทก์ฝ่ายเดียวและการดำรงชีพวิถีชีวิตของโจทก์ ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ คำนวณเป็นการแน่นอนไม่ได้ ศาลจึงกำหนดค่าเสียหาย ให้จำนวน 104,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 จำนวน 149 ครอบครัว นับตั้งแต่วันฟ้อง

4. ประเด็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทั้งในบริเวณเหมืองและพื้นที่รอบนอกเหมือง ศาลเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน ชุมชนมีสิทธิมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและใช้ประโยชน์ การกระทำของจำเลย เป็นการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการละเมิดสิทธิชุมชน ให้จำเลยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมจนกว่าจะกลับสู่สภาพเดิมตามมาตรฐานทางราชการ และในการจัดทำแผนฟื้นฟู ให้โจทก์เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

บรรยากาศหลังศาลอ่านคำพิพากษา ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย ต่างแสดงความยินดี เนื่องจากคำพิพากษาดังกล่าวถือเป็นการยืนยันว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ชุมชนได้รับ เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัททุ่งคำ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทอ้างว่าผลกระทบต่อชุมชนไม่ได้เกิดจากการทำเหมืองและปฏิเสธความรับผิดชอบมาโดยตลอด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image