เริ่มเเล้ว!! งานวันยางพาราบึงกาฬ62 คับคั่งตัวเเทนไทย-เทศ ร่วมเปิดงานยิ่งใหญ่

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 ธันวาคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) บึงกาฬ และหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ร่วมจัด “งานวันยางพารา บึงกาฬ 2562” ระหว่างวันที่ 13-19 ธ.ค.2561 ภายใต้แนวคิด “บึงกาฬ ศูนย์กลางยางพารา เศรษฐกิจก้าวหน้า การค้าก้าวไกล” โดยมีประชาชน เกษตรกร นักเรียน นักศึกษาในจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียงทยอยเข้าร่วมงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

ขณะที่บริเวณสนามฟุตซอลหน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ได้จัดการแข่งขัน “บึงกาฬ ฟุตซอลคัพ 2019” บนสนามยางพารา ชิง 6 ถ้วยเกียรติยศจากนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และชิงถ้วยรองชนะเลิศจาก นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ พร้อมเงินรางวัลรวมกว่า 100,000 บาท ทั้งนี้ นายสมภพ สุนันทนาม รองนายก อบจ.บึงกาฬ และนายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นประธานเตะลูกฟุตซอลเข้าประตู คนละ 1 ครั้ง เพื่อเปิดการแข่งขัน “บึงกาฬ ฟุตซอลคัพ 2019” อย่างเป็นทางการ โดยมี น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.มติชน, นายเอกพันธ์ รุ่งจินดารัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท เดอะวัน บีเค จำกัด, นายอุดร แสงสุรินทร์ เลขาธิการสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย จ.บึงกาฬ, นายชินทัต แก้วกล้า ผู้อำนวยการกองการศึกษา อบจ.บึงกาฬ, นายวนาชาติ วงศ์พุทธา ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ และนักกีฬาทั้ง 16 ทีม ร่วมถ่ายภาพที่ระลึก

Advertisement

นายสมภพกล่าวว่า ต้องขอบคุณหลายหน่วยงานที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อให้นักกีฬาภายใน จ.บึงกาฬ ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องของกีฬา ซึ่งในส่วนของสนามฟุตซอลแปรรูปได้รับการตอบรับดีมาก มีคณะผู้บริหารจากหลายโรงเรียนเข้ามาร่วมเยี่ยมชม โดยต่อจากนี้จะมีการผลักดันให้โรงเรียนหรือสวนสาธารณะใช้สนามยางพาราเพิ่มมากขึ้น คาดว่าหากสามารถผลิตสนามแปรรูปได้เอง และปรับราคาต่ำลงกว่าท้องตลาดได้ จะได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการแข่งขัน “บึงกาฬ ฟุตซอลคัพ 2019” เป็นส่วนหนึ่งของงานวันยางพาราบึงกาฬ โดยได้รับการสนับสนุนจาก จังหวัดบึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ การยางแห่งประเทศไทย สิงห์คอร์เปอเรชั่น แกรนด์ สปอร์ต และปุ๋ยมรกต ตรารุ่งอรุณ โดยในส่วนของการการแข่งขันฟุตซอลจะมีด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี และรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี จาก 8 อำเภอ โดยสามารถติดตามการแข่งขันทุกรอบได้ที่ www.facebook.com/matichonevent

Advertisement

จากนั้น เวลา 16.30 น. นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ โซน China Pavilion พร้อมด้วยตัวแทนจากประเทศไทยและประเทศจีนร่วมตัดริบบิ้นและเปิดแชมเปญเพื่อเฉลิมฉลอง จากนั้นได้มีการเดินชมนิทรรศการร่วมกัน ก่อนจะให้เกียรติเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการซื้อขายยาง โดยมีนายพินิจ จารุสมบัติ, นายนิพนธ์ คนขยัน, นายจาง เหย็น ร่วมเป็นสักขีพยาน ลงนามจำนวน 2 คู่สัญญา คือ สัญญาซื้อขายล้อรถยนต์ ระหว่าง มิตเตอร์ จู เชา ผู้อำนวยการบริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กับ นายกายสิทธิ์ ศรีสุข บริษัท ไทยคชสาร โลจิสติกส์ เซอร์วิส จำกัด จังหวัดชลบุรี สัญญาดังกล่าวมีผล 1 ปี นับจากวันที่ลงนาม โดยบริษัท หวาอี้ กรุ๊ป ทำหน้าที่จัดหาล้อยางเรเดียลเส้นใยเหล็กยี่ห้อ “Double Coin” สำหรับรถบรรทุกของ บริษัท ไทยคชสาร โลจิสติกส์ เซอร์วิส จำกัด ไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 เส้น

สัญญาอีกฉบับเป็นของ บริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กับ นายนพดล อำอุ่น ผู้บริหาร บริษัท โชคอลังการ รีไซเคิ้ล จำกัด จังหวัดขอนแก่น โดย หวาอี้ ทำหน้าที่จัดหาล้อยางเรเดียลเส้นใยเหล็กยี่ห้อ “Double Coin” ให้ตรงกับความต้องการของ บริษัท โชคอลังการ รีไซเคิ้ล จำกัด ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 เส้น ภายหลังการเซ็นสัญญา เอกชนไทยทั้งสองรายได้สั่งซื้อสินค้ายางล้อรถบรรทุกจากจีน ล็อตแรก รายละ 200เส้น

นายพินิจ จารุสมบัติ กล่าวว่า ภาพรวมของงานวันยางพาราปีนี้ได้ยกระดับโดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ เนื้อหา นวัตกรรมมีดกรีดยาง อย่างวันนี้มีมีดกรีดยางไฟฟ้า รุ่น WYD001F ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด จากสิบสองปันนา กรีดได้เพิ่มมากขึ้นใช้เวลาน้อยลง คุณภาพของต้นยางจะดีเพราะมีดกรีดยางตัวนี้จะรักษาเนื้อหน้ายางและน้ำยางที่ออกมา จะได้ปริมาณมากสม่ำเสมอ นอกจากนี้ วันนี้ยังมีการยกระดับความร่วมมือจากการลงนามความร่วมมือระหว่างบริษัท หวาอี้ กรุ๊ป กับ ไทยคชสาร โลจิสติกส์ เซอร์วิส จำกัด จังหวัดชลบุรี และโชคอลังการ รีไซเคิ้ล จำกัด จังหวัดขอนแก่นด้วย

ต่อมาเวลา 17.30 น. ที่เวทีกลาง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน พร้อมด้วย นายธวัชชัย ศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ, นายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ, นายกิจ หลีกภัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง, นายเลี่ยว จวิ้นยหวิน กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำจังหวัดขอนแก่น, นายคำไพ พันธุ์ทองดี รักษาการกงสุลใหญ่ สปป.ลาว ประจำจังหวัดขอนแก่น, นายเหวียน ฮิว ดิ๊น กงสุลใหญ่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำจังหวัดขอนแก่น, นายยืนยง โอภากุล กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นาย ฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายจาง เหย็น ประธานกรรมการบริหาร เครือบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป ร่วมเปิดงาน

โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมงานจำนวนมาก อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์, นายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ, นายสิธิชัย จินดาหลวง รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ท่านแสงพอน ไซเมืองซำ รองหัวหน้าห้องว่าการแขวงบอลิคำไซ ผู้แทนแขวงบอลิคำไซ, นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน, นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน), นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย, นายจำรัส กังน้อย ปลัดจังหวัดบึงกาฬ, นายจำรัส นาแฉล้ม หัวหน้าสำนักงานจังหวัดบึงกาฬ, นายดรณ์ สมิตะเกษตริน นายอำเภอเมืองบึงกาฬ

นายเจตน์ เกตุจำนงค์ ประธานหอการค้าจังหวัดบึงกาฬ, นางสุพัตรา รุ่งจินดารัตน์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดบึงกาฬ, นายมนตรี ชาลีเครือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ, นางสาวเสียงพิณ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์, นายหวางเจี้ยน (MR.WANGJIAN) กรรมการ บริษัท ยีทงเอนเนอร์จี จำกัด, นายเฉิน หู้เซิง (โทนี่ เฉิน) ผู้อำนวยการฝ่ายประเทศไทย บริษัท รับเบอร์ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศจีน และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมยางแห่งชาติประเทศจีน ประจำประเทศไทย, นายจู เชา (Mr.Zhu Chao) ผู้อำนวยการบริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด

มาดาม ดาวยู่ตัน เจ้าหญิงสิบสองปันนา, คุณวิชญ์พันธ์ พานิชวงศ์ ฝ่ายส่งออกบริษัท เซนจูรี่ ไทร์ (ประเทศไทย) จำกัด, นายเติ้นจี้ฮุย นายกสมาคมยางพาราแห่งสิบสองปันนา ประธานบริษัท เตี๋ยนเหย่ราเป้อ จำกัด, คุณหยังเจี้ยน เจ้าของโรงงานผลิตอุปกรณ์เครื่องมือกรีดยางพาราไฟฟ้า, ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.), นายประยุทธ์ พุทธาโกฐิรัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท แอดวานซ์ คิว จำกัด (มีดนกเงือก)

นายภิญโญ แสงแก้ว รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุดรธานี, นายสมชัย เผ่าผา ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4, นายเสรี ปัตถา ผู้อำนวยการสำนักงาน ธกส.จังหวัดบึงกาฬ,นายเอกพันธ์ รุ่งจินดารัตน์ ประธานกรรมการ บริษัท เดอะวัน บีเค จำกัด, น.ส.อร รักติประกร ผู้อำนวยการสำนักงานประชาสัมพันธ์ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด, พ.อ.สุคนธรัตน์ ชาวพงษ์ รองผู้บังคับการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดบึงกาฬ, พ.อ.วิชัย มารศรี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดบึงกาฬ, พลตำรวจตรี ทิวา บุญดำเนิน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดบึงกาฬ ร่วมงาน

นายลักษณ์กล่าวว่า บึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกยางมากที่สุดในภาคอีกสาน มีศักยภาพในการก้าวเป็นศูนย์กลางยางพารา ซึ่งปัจจุบันราคายางทั้งในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มลดลง และส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน แต่เห็นได้ว่า จังหวัดบึงกาฬ ได้มีการบูรณาการจากทุกภาคส่วนภายในจังหวัด ตามแนวทางนโยบายรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการแก้ไขปัญหายางพาราได้อย่างยั่งยืน ในการอำนวยความสะดวกทางคมนาคมให้แก่ประชาชน ในพื้นที่ และการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ยางพารา อาทิ ที่นอน หมอนยางพาราในโรงพยาบาล และหน่วยงานราชการ เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้ป่วย ครอบครัว และคนใกล้ชิด เป็นต้น

“นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนในจังหวัดยังช่วยกันขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการลงนามบันทึกข้อตกลงการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ และการจับมือค้าขายกับพันธมิตรต่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องราคายางพาราอย่างเต็มที่ในทุกมิติ สมกับที่ท่านรองนายกวิษณุ เครืองาม ได้ยกย่องบึงกาฬโมเดลให้เป็นต้นแบบการทำงานแบบพลังประชารัฐอย่างแท้จริง”

DCIM100MEDIADJI_0039.JPG

นายลักษณ์กล่าวถึงความห่วงใยของนายกฯ ต่อสถานการณ์ยางและแนวทางแก้ไขของรัฐในภาพรวม ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้นิ่งใจ และได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ และการยางห่างประเทศไทยออกมาตรการต่างๆเพื่อแก้ปัญหาต่อเนื่องทั้งระยะสั้นและยาว รวมถึงความร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งเป็นรายใหญ่ของโลก เพื่อให้เกิดความสมดุลของการส่งออกยางให้สอดคล้องกับการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีเรื่องการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ รวมถึงการทำโครงการเสรีสภาพคล่อง ให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรอีกหลายโครงการ

นายลักษณ์กล่าวอีกว่า มีการพูดคุยเรื่องความร่วมมือกับบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป ในการขายผ่านทางออนไลน์ ซึ่งทางฝ่ายของอาลีบาบาต้องการยางพรีเมียมเกรด และได้รับคำแนะนำจากประธานจาง เหย็น ว่าระบบออนไลน์ต้องผสมผสานกับระบบออฟไลน์ ทำให้การซื้อขายมีความเข้มข้น และในอนาคตอันใกล้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะมีความร่วมมือกับประเทศจีนในการซื้อขายผ่านออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องไปพบกับผู้ซื้อด้วยตัวเอง แต่ขายยางได้ราคาดีผ่านระบบออนไลน์ ยังทำให้ผู้ซื้อยางได้ยางคุณภาพในราคาที่เหมาะสม และทำให้คนที่อยู่ตรงกลางหายไป

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องการสร้างถนนยางพารา ซึ่งทุกภาคส่วนยอมรับในการนำยางไปใช้ในลักษณะนี้ ซึ่งกรมทางหลวงได้จัดทำข้อกำหนดเรียบร้อย และกรมบัญชีกลางได้กำหนดราคากลางแล้ว จากนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสำรวจความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ชาวสวนจะได้ขายน้ำยางได้ดีขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่นายกฯให้ความสำคัญ และมีข้อสั่งการมาตลอดทั้งปีในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”

DCIM100MEDIADJI_0002.JPG

นายธวัชชัยกล่าวว่า งานวันยางพารามีส่วนสำคัญอย่างมากต่อจังหวัด เพราะนอกจากจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนชาวไทยและชาวต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการแสดงนวัตกรรมและความสำคัญของยางพารา ที่นำไปประยุกต์เพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อให้เกษตรกรและผู้เข้าชมได้เห็นถึงความก้าวหน้าและศักยภาพของยางพารา ครั้งนี้ได้ยกระดับการจัดงานให้ยิ่งใหญ่กว่าครั้งที่ผ่านมา เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้านได้แก่

1.ด้านสนับสนุนให้เกิดการผลิต การแปรรูป และการวิจัยอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางพาราใน จังหวัดบึงกาฬ ด้านการผลักดันการค้าขายและการลงทุนของอุตสาหกรรมยางพาราอย่างต่อเนื่อง

2.ด้านส่งเสริม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัด เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างแหล่งรายได้เสริมให้กับพี่น้องชาวจังหวัดบึงกาฬ อีกทั้งยังเสริมศักยภาพของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ให้มีกิจกรรมที่หลากหลาย

3.เพื่อตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางยางพาราภาคอีสานที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากบริษัทและอุตสาหกรรมการค้ายางพาราจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมจัดแสดงนิทรรศการและนวัตกรรม China Pavilion อันเป็นการต่อยอดธุรกิจยางพารา จ.บึงกาฬ เพื่อผลักดันธุรกิจยางพาราสู่การเป็นศูนย์กลางยางพาราภาคอีสานที่สำคัญ เป็นการเปิดตัวการค้าระดับนานาชาติด้วย

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจที่สุด ที่มีการจัดงานในวันนี้ขึ้น โดยเฉพาะการจัดงานในวันนี้ จะทำให้ชาวบึงกาฬไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องยางพาราของจังหวัดบึงกาฬแล้ว เนื่องจากรัฐบาลตั้งใจจริง ในการนำยางพารามาทำถนนยางพารา อีกทั้งวันนี้ยังเกิดการร่วมมือกับเครือข่ายจำหน่ายยางพาราจากต่างชาติขึ้นอีกด้วย

นายกิจกล่าวว่า ยางพาราต้นแรกเกิดมาจาก พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี อดีตเจ้าเมืองตรังที่ได้เห็นยางพาราที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย แล้วนำมาปลูกที่ตรัง เมื่อปี พ.ศ.2442 นั่นคือยางพาราต้นแรกของเมืองตรังและของประเทศไทย แต่ในวันนี้ ยางพารากระจายไปเกือบทุกจังหวัด สำหรับที่ จังหวัดบึงกาฬ ต้องชื่นชมท่านพินิจ จารุสมบัติ ที่เห็นว่ายางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง จึงศึกษาจนเข้าใจว่ายางพาราชอบความชื้นสูง และบึงกาฬได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความชุ่มชื้น จึงได้นำมาปลูกเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว

“ครั้งแรกไม่มีใครสนใจ เพราะกว่าจะให้ผลก็เกือบ 7 ปี แต่ท่านก็ปลูก จนปีที่ 4 ต้นยางเติบโตขึ้น ชาวบ้านเริ่มเห็นผลจึงเริ่มปลูก จนวันนี้บึงกาฬกลายเป็นแหล่งยางพาราทางภาคอีสานมากที่สุด ท่านบอกว่าในอนาคต สิ่งสำคัญก็คือการแปรรูปน้ำยางเป็นวัสดุอื่น สำหรับที่ จังหวัดตรัง ได้นำยางพารามาทดลองทำผิวถนนผสมยางพาราตั้งแต่ปี 2558 โดยการศึกษาของ อาจารย์ณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการกลุ่มอุตสาหกรรมยาง สถาบันวิจัยยาง เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2558 จนถึงวันนี้มีความคงทนถาวร และผมได้ทำต่อเนื่องรวมแล้วกว่า 300 กิโลเมตร มากที่สุดในประเทศไทย แต่คิดว่าอาจจะไม่พอ ต้องหาวิธีอื่น ซึ่งมาทราบว่าที่งานวันยางพารามีวิธีการระบายน้ำยางพาราไปสู่ต่างประเทศหลายวิธี จากท่านพินิจ จารุสมบัติ และท่านนายก อบจ.นิพนธ์ คนขยัน รวมถึงมีการทดลองนำยางพาราผสมปูนซีเมนต์ ถ้าเราร่วมมือกันจริงตามที่รัฐบาลต้องการให้เป็น ก็จะเป็นโอกาสให้น้ำยางของเราระบายไปสู่ตลาด สู่งานต่างๆได้มากขึ้น”

นายจางกล่าวว่า งานยางพาราบึงกาฬ เป็นงานระดับประเทศที่สามารถจัดงานออกมาได้ดีมาก ตนเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการคนจีนที่ทำเกี่ยวกับยางพารา และเป็นตัวแทนของบริษัทฯ ในการขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานนี้ขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เจอกันในงานยางพาราบึงกาฬนี้ไปอีกทุกๆปี

“ในปีที่ผ่านมาได้ลงนามซื้อขายหมอนยางพารากับจังหวัดบึงกาฬ เป็นหมอนยางพาราที่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า “บึงกาฬ” ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีสินค้าอื่นๆ ตามหมอนยางพาราเพิ่มเติมมาด้วย โดยพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถ”

นายจางกล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ทางการเมืองโลกค่อนข้างซับซ้อน โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผลกระทบมากมาย แต่ในฐานะเป็นผู้ประกอบการยางพาราในจีน ต้องบอกว่าตอนนี้อุตสาหกรรมยางพาราในจีนได้พัฒนาตามเป้าหมายที่วางไว้ และอยากให้ชาวสวนยางของไทยได้พัฒนาไปด้วยเช่นเดียวกัน

“อย่างที่ทราบกันว่าราคายางพาราไม่ได้ขึ้นอยู่ที่ดีมานด์กับซัพพลายเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยร่วมหลายอย่าง ซึ่งสงครามการค้าที่เกิดขึ้นไม่มีประเทศไหนประสบความสำเร็จโดยตรงในสงครามครั้งนี้ ทำให้ต้องมีการเจรจาร่วมกันอีก”

นายจางกล่าวว่า ตอนนี้มีโรงงานผลิตยางล้อรถยนต์เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีเทคโนโลยีและศักยภาพในการผลิตสูงมาก ทำให้ต้องขอบคุณสหรัฐฯ ที่กดดันทำให้นักลงทุนจีนต้องออกมาลงทุนในตลาดต่างประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันจีนจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในไทย เพื่อพัฒนายางพาราให้ดียิ่งขึ้น และปรับเปลี่ยนช่องทางการซื้อขายให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น อาทิ การซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์อาลีบาบา ด้วย

นายยืนยง หรือ แอ๊ด คาราบาว กล่าวว่า วันนี้มาให้ความบันเทิงกับชาวบึงกาฬ ในนามของคาราบาวแดง หนึ่งในผู้สนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ ส่วนตัวเห็นความสำคัญของงานยางพาราในจังหวัดบึงกาฬ เพราะทราบดีว่าประเทศไทยกระกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก คาราบาวยินดีให้การสนับสนุนในการจัดงานในครั้งนี้ และต่อๆไป

“มีโอกาสได้พบกับคณะท่านนายกฯ ซึ่งมาประชุมสัญจรอยู่ที่ จังหวัดหนองคาย และได้คุยกับเลขาท่านนายกฯ ท่านถามผมว่า ที่ผ่านมาในช่วง 2-3 ปี คิดว่าอะไรเป็นข้อบกพร่อง ผมก็บอกว่า มีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเยอะ แต่ก็มีอยู่ 2-3 อย่างที่ไม่ดี ผมจึงบอกว่า ทำไมเราไม่ดูแลเรื่องความตกต่ำของสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร นี่คือปัญหาหลักที่จะนำมาซึ่งความอดอยาก ยากจน และลามไปปัญหาส่วนอื่น จึงฝากไว้ว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศชาติอีกครั้ง ก็ขอฝากเรื่องนี้ไว้ด้วย ส่วนวันนี้ก็ขอแสดงความยินดีกับพี่น้องชาว จังหวัดบึงกาฬที่มีงานดีๆเช่นนี้ และกราบขอบพระคุณทุกท่านที่มาร่วมงานด้วย”

นายฐากูรกล่าวว่า เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนที่จังหวัดบึงกาฬแยกออกมาจาก จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ คือจังหวัดเกือบบ๊วยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รายได้ต่อหัวอยู่ที่อันดับ 18 จาก 20 จังหวัด สถิติล่าสุดของสภาพัฒน์บอกว่า ขณะนี้บึงกาฬมีรายได้ต่อหัวเป็นอันดับที่ 8 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระยะเวลา 7 ปี การกระโดดขึ้นมา 10 อันดับ รายได้ต่อหัวของจังหวัดบึงกาฬแตะอันดับที่ 7 อย่าง จังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการค้าชายแดนมากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยอยู่แค่ 80 บาท/หัว/ปี ถามว่าอะไรทำให้ จังหวัดบึงกาฬ ประสบความสำเร็จในการยกระดับ พัฒนาตัวเอง ตอบง่ายๆคือ ยางพารา

“ในฐานะผู้สังเกตการณ์และมีส่วนร่วมในการจัดงานวันยางพารา ซึ่งต้องมา จังหวัดบึงกาฬอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง สิ่งที่พบไม่ใช่แค่ยางพาราที่ทำให้จังหวัดบึงกาฬประสบความสำเร็จ แต่คือความเอาจริงเอาจัง คือการไม่ยอมงอมืองอเท้า การต่อสู้ดิ้นรนอย่างถึงพริกถึงขิงของคน จังหวัดบึงกาฬเอง มีไม่กี่จังหวัดที่ตั้งขึ้น 7-8 ปี และมีการลงทุนจากต่างประเทศ มีโรงงานต่างประเทศมาตั้งถึง 4 แห่ง มีไม่กี่จังหวัดที่ตัวแทนภาคประชาชน หรือการเมืองท้องถิ่น เดินทางออกไปขายของกับลูกค้ารายใหญ่ด้วยตัวเอง ความพยายามเหล่านี้ที่อยู่เบื้องหลังต้นยางพาราคือแรงผลักดันให้ก้าวมาจุดนี้ แต่แรงผลักดันเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีความร่วมมือร่วมใจกัน ดังที่อาจารย์วิษณุ เครืองาม เคยพูดไว้บนเวทีนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ท่านใช้คำว่า “บึงกาฬโมเดล” เพราะท่านบอกว่า นี่แหละคือตัวอย่างของประชารัฐที่แท้จริง ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ในฐานะผู้มีส่วนร่วม เป็นลูกบึงกาฬครึ่งตัวเพราะมาอยู่ทุกปี ผมอยากเห็นบึงกาฬก้าวขึ้นไปเป็นเบอร์หนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก้าวขึ้นไปเป็นจังหวัดอันดับต้นๆของประเทศ ด้วยแรงผลักดันในทางที่ดี และด้วยความรักใคร่กลมเกลียว ร่วมแรงร่วมใจกัน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีเปิดงานยังมีการแสดงจาก ชมรมการแสดงศิลปวัฒนธรรม แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว และการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากโรงเรียนบึงกาฬด้วย จากนั้นมีคอนเสิร์ต “วงคาราบาว” เต็มวง โดยมีผู้ร่วมงานรอรับชมจำนวนมาก ทั้งนี้ บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยังจัดกิจกรรมพิเศษ โดยผู้ร่วมงานสามารถซื้อเครื่องดื่มคาราบาวแดง 2 ขวด รับคูปองลุ้นรถจักรยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกวัน พร้อมลุ้นโชคต่อกับกิจกรรม “พบสาวบาวแดงพบโชค” บริเวณเวทีคอนเสิร์ต และไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ ตลอดงานอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image