เกษตรกรเฮไม่ออก! ระเบียบถนนยางไม่ช่วยชาวสวน วอนสั่งแก้ราคาตามงานวิจัย

เมื่อเวลา 13.00น. วันที่ 15 ธันวาคม ที่เวทีปราชญ์ชาวบ้าน ในงานวันยางพาราบึงกาฬ 62 มีการจัดเสวนาหลายรายการด้วยกัน ได้แก่ เสวนา “มัลเบอรี่ สร้างรายได้ ชดเชยสวนยาง” โดย นางจิรารัตน์ จัยวัฒน์ จ.หนองคาย, เสวนา “ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ทางรอดของการใช้ยางพารา” โดย ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. พร้อมด้วย นายนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ

นายนิพนธ์ กล่าวว่า ถือเป็นโชคดีของประเทศไทยวันนี้ที่บึงกาฬประสบความสำเร็จ เพราะเรามีประชาชนในจังหวัดบึงกาฬที่ให้ความร่วมมือ และเรามีพี่เลี้ยงสำคัญหลายท่าน คือ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์, นายจาง เหย็น ประธานกรรมการ บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด, นางณพรัตน์วิชิตชลชัย ผู้อานวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย และผศ.ดร.ระพีพันธ์ ที่เข้ามาช่วย และต้องขอบคุณรัฐบาล โดยตนได้ติดต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ไม่มีระเบียบให้ท้องถิ่นซื้อน้ำยางพาราทำถนน ซึ่งท่านรัฐมนตรีบอกว่าไม่ต้องห่วงอีก 3 วันจะออกมาให้ท้องถิ่นซื้อน้ำยางสดได้ และล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเดินทางมาฉีดถนนที่บึงกาฬ ชาวบึงกาฬก็ตบมือให้

Advertisement

“วันนี้หนังสือสั่งการออกมาแล้วระเบียบนี้ออกมาขอบคุณที่ให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้โดยไม่ผิดระเบียบ แต่ขณะเดียวกัน เกษตรกรชาวสวนยางจะไม่ได้อะไรเลยจากระเบียบฉบับนี้ เพราะราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดราคากลางงานก่อสร้าง ฉบับที่ 4 จาก นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 12 ธันวาคม ให้ซื้อยางพาราในราคากลางตลาดหาดใหญ่กับการยางแห่งประเทศไทยเป็นหลัก กลายเป็นว่าตอนนี้เกษตรกรไม่ได้อะไรเลย เพราะรับซื้อตามราคากลาง ซึ่งวันนี้ราคากลางต่ำมาก ตอนนี้ราคาน้ำยางอยู่ที่ 35บาท ความฝันเกษตรกรชาวบึงกาฬจากวันที่พลเอกประยุทธ์ มาฉีดยาง แล้วครม.มีมติให้ทำถนนยางพารา วันนี้ฝันสลาย เฮไม่ได้เพราะราคายางพาราเท่าเดิม ระเบียบที่ออกมาทำให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งประเทศไม่ได้รับประโยชน์”

นายนิพนธ์ กล่าวว่า หนังสือฉบับนี้ออกมาแล้วเป็นหนังสือที่ช้ำใจมาก คนบึงกาฬตบมือขอบคุณจนมือแดง แต่ราคาที่ออกมาจากที่เสนอไว้65 บาทเหลือ 35 บาท ขอฝากถึงนายกรัฐมนตรี ชาวบึงกาฬขอบคุณที่ท่านมาและได้ฉีดถนนยางกับพวกเราเพื่อแก้ปัญหาราคายางพารา แต่วันนี้สิ่งที่ชาวสวนยางรอคอย วันนี้ความหวังของพี่น้องเกษตรกรหมดแล้ว เพราะราคาเท่าเดิมใครจะมาขาย ขายยางก้อนถ้วนง่ายกว่า เพราะน้ำยางสดต้องเก็บทุกวันแต่ถ้ายางก้อนถ้วยเก็บ 15 วัน ดังนั้นอยากขอบคุณล่วงหน้าให้กรมบัญชีกลางออกมาตรการใหม่ เป็นกิโลกรัมละ 65 บาท

Advertisement

“ชุมชนชนบทยังมีถนนลูกรังมาก โครงการนี้เหมาะกับชนบทที่มีถนนลูกรังแล้วชนบทยังมีการปลูกยางพารา แล้วเอาไปขายท้องถิ่น หากต้องการช่วยเหลือเกษตรกรอยากให้ซื้อน้ำยางจากเกษตรกรในราคา 65 บาท ตอนนี้ยังมีเวลา ผมเชื่อมั่นว่าถ้าท่านนายกได้รับทราบท่านคงจะทบทวนใหม่ ถ้าแก้ตรงนี้ไม่เฉพาะบึงกาฬแต่อบจ.และอบต.ทั่วประเทศพร้อมขับเคลื่อนถนนยางพารา ขอฝากถึงรัฐบาลผมเชื่อมั่นว่าประชาชนคือหัวใจหลัก ขอให้คิดวันนี้เพื่อประชาชน เพราะน้ำยางสดเป็นของประชาชน แต่น้ำยางข้นประชาชนไม่มีอยากให้สั่งการทันที เพราะอย่างที่จาง เหย็น บอกว่า จีนจะซื้อยางถูก เกษตรกรจะขายยางได้แพง ถ้าตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ซึ่งปีแรกที่จัดงานจีนเขาบอกเลยว่าเขาซื้อยางจากประเทศไทย ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางถึง 21 เจ้า ดังนั้นถ้าจะช่วยเหลือเกษตรกร โครงการนี้จะต้องให้รับน้ำยางสดยางพาราจากเกษตรกรโดยตรงในราคา 65 บาทเท่านั้น”

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ กล่าวว่า มจพ.ได้เสนอราคากลางในการรับซื้อน้ำยางสดจากเกษตรกรในราคา 65 บาทซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ แต่ราคาที่ออกมาแบบนี้ทำให้เกษตรกรไม่ได้อะไรเลยแล้วอย่าลืมว่าเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ทำยางก้อนถ้วยอยู่ แล้ววันดีคืนดีบอกให้เขาเปลี่ยนเป็นน้ำยางสดแล้วราคาเท่าเดิม เขาจะเปลี่ยนหรือไม่ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่แก้ประกาศตรงนี้โครงการนี้ไม่ทางเกิดได้

“วันนี้มหาวิทยาลัยออกแบบถนนไว้หมดแล้ว ถนนยางพาราสามารถใช้น้ำยางพาราอยู่ที่ 12 ตันต่อกิโลเมตร แต่เมื่อระเบียบเป็นแบบนี้รับรองได้ว่าชาวบ้านไม่เปลี่ยนพฤติกรรมมาทำแล้วโครงการนี้มันจะเกิดได้ยังไง ตอนนี้ที่ประกาศมาไม่สามารถดำเนินการได้เพราะมันไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรแม้แต่บาทเดียว ดังนั้นโครงการนี้ที่บอกว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรคือไม่ใช่ แล้วทำมาเพื่ออะไร ต้องการให้น้ำยางสดเป็นหมันแล้วทำถนนจากน้ำยางข้นหรือไม่ เพราะน้ำยางข้นตามโครงการนี้ต้นทุนของน้ำยางเพิ่มขึ้น 41.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งชาวบ้านไม่ได้แม้แต่บาทเดียวเพราะการทำน้ำยางข้นจะต้องเข้าโรงงาน”

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า น้ำยางมี 2 ประเภท คือ น้ำยางข้นที่ต้องส่งเข้าโรงงานเอกชน และน้ำยางสดที่ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงงานสามารถส่งให้ท้องถิ่นได้เลย มันจะทำให้มีการตัดช่วงไม่ต้องส่งน้ำยางเข้าโรงงาน ซึ่งมจพ.ทำถนนได้ทั้งน้ำยางสดและน้ำยางข้น แต่เราพบว่าน้ำยางสดมีคุณสมบัติดีกว่า และจากการวิจัยถนนยางพาราดินซีเมนต์ การทำถนนใช้อุปกรณ์ไม่มาก สามารถทำโดยชุมชนทำให้เงินหมุนในหมู่บ้านทั้งหมดตามโครงการ หนึ่งหมู่บ้าน หนึ่งถนนยางพาราหนึ่ง กิโลเมตร ซึ่งประเทศไทยมีกว่า 72,000 หมู่บ้าน จะทำให้ยางพาราหายจากท้องตลาดเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราทำคือต้องการเอาเงินเข้าไปในชุมชน โดยการใช้ยางในชุมชนและทำถนนในชุมชน แต่ถ้ายังราคานี้จะไม่มีเกษตรกรมาเพิ่มเพราะทำแล้วไม่ได้อะไร

“ที่เราคุยมา 65 บาท เป็นราคาที่กระทรวงพาณิชย์คำนวณออกมาจากทั่วประเทศว่า ยางพารามีต้นทุนที่ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้ 62 บาท อีก 3บาทเป็นการคำนวณให้เขามีเงินออม ดังนั้นราคา 65 บาทเป็นการคำนวณแล้วว่าเขาจะอยู่ได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ตั้งราคานี้มา ซึ่งหากได้ตามราคาที่เสนอจะเป็นการช่วยเหลือชาวสวนยาง ซึ่งปรากฏว่าเอกสารตรงนี้ออกมาแล้วมันไม่ถึงชาวบ้านอย่างที่คิดไว้ เป็นความน้อยเยื้อต่ำใจขอคนทำวิจัยต่อนักวิชาการ”

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ กล่าวว่า สำหรับถนนยางพาราเป็นโมเดลที่เริ่มต้นเมื่อ 3 ปีก่อน วันนี้เราเปิดเผย ในทางวิชาการ มีคนถามเยอะว่าใส่ไปแล้วได้อะไรนอกจากช่วยหรือเกษตรกรนั้น จากการวิจัย พบว่าคุณสมบัติเด่นที่สุด คือทำให้น้ำไม่ซึมซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ถนนทรุดแลพังตนกล้าการันตีว่าถนนจากยางพาราคงทนขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าของปกติ ทำให้มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น ดังนั้นเอกสารที่ออกมายังน่าจะยังมีการแก้ไขได้และคงจะมีโอกาสให้กับเรา

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ ทิ้งท้ายว่า ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยซึ่งมีหลายส่วนที่ยังไม่ได้รับการเอ่ยชื่อ ตนเป็นเพียงหัวหน้าทีมวิจัยเป็นตัวแทนของทีมเท่านั้น และสิทธิบัตรถนนยางพาราก็เป็นของมหาวิทยาลัย มจพ. วันนี้โจมนี้โจมตีตนว่าไม่ได้ทำงานจริงเป็นผลงานนักศึกษา ก็อยากจะบอกว่าลิขสิทธิ์เป็นของมหาวิทยาลัย ซึ่งมจพ.มาร่วมกับจังหวัดบึงกาฬและอบจ.บึงกาฬ และอยากขอร้องว่าอย่าโจมตีมหาวิทยาลัย ซึ่งหากท่านสงสัยหรือหากใครสนใจนวัตกรรมที่เป็นงานวิจัยซึ่งสามารถใช้ได้จริงก็สามารถสอบถามมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image