มจพ.ยกทัพนวัตกรรม-ความรู้ ส่งตรงถึงชาวสวนยาง ชี้ผลวิจัยถนนจากน้ำยางสดทนทาน-แข็งแรง

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 17 ธันวาคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.บึงกาฬ จัด “งานวันยางพารา บึงกาฬ 2562” โดยจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ และหน่วยงานราชการและภาคเอกชนจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม โดยบรรยากาศภายในงานเป็นไปอย่างคึกคัก มีเกษตรกรชาวสวนยางพาราตลอดจนประชาชนทั่วไป นักเรียน นักศึกษาในจังหวัดบึงกาฬ เข้าร่วมงานต่อเนื่องตลอดทั้งวัน

ผศ.ดร.กัมปนาท ศิริเวทิน อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุและการผลิต บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธรไทย-เยอรมัน (TGGS) มจพ.กล่าวว่า มจพ.ได้นำนวัตกรรมมาแสดงในงานวันยางพาราครั้งนี้หลากหลายด้วยกัน เริ่มจากนวัตกรรมสารจับยาง IR (Innovative Rubber) ที่ต่อยอดจากปีที่แล้ว โดยมีการปรับปรุงพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดีขึ้น และมีการนำไปทดลองใช้งานจริงที่สหกรณ์การเกษตรน้ำยืนจำกัด จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 7 ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมาก ยังมีนวัตกรรมกำจัดกลิ่น ซึ่งเป็นไฮไลต์ในงานครั้งนี้ โดยได้มีการทดลองนำนวัตกรรมซึ่งเป็นผงแร่ธรรมชาติ ODL ซึ่งมีการทดลองใช้แก้ปัญหากลิ่นในโรงงานที่จังหวัดระยอง ซึ่งจากการทดลองอย่างต่อเนื่องก็ได้รับผลตอบรับจากชาวบ้านบริเวณรอบโรงงานว่าสามารถลดปัญหากลิ่นเป็นอย่างดี และมีเรื่องของสารเร่งตกตะกอน SC (Super Clear)

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของถนนยางพาราดินซีเมนต์ ซึ่งปีนี้ได้มีการทำถนนเพิ่มเติมเป็นระยะทาง 330 เมตร ที่อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ต่อจากถนนยางพาราเส้นเดิมที่ทำไว้ระยะทาง 300 เมตร ซึ่งได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเปิดถนนและมาดูการสาธิตการสร้างถนนยางพาราด้วย ซึ่งการใช้น้ำยางสดมาทำถนนยางพารา สามารถทำให้ถนนมีความคงทนแข็งแรง และไม่ใช่การนำน้ำยางพารามาเททิ้งหรือเพิ่มต้นทุนค่าทำถนนจาก 1.2 ล้านบาท เป็น 2.1 ล้านบาท ตามที่เป็นกระแสข่าวลือ เพราะจากการคิดค้นในห้องแล็บตั้งแต่ปี’56 และมีการสร้างถนนต้นแบบจริงในพื้นที่ มจพ.วิทยาเขตปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี ในปี’59 และมีการเก็บข้อมูลและทดสอบมาตรฐานต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี 10 เดือนแล้ว ซึ่งพบว่าถนนสามารถทนทานต่อสภาพน้ำท่วมเนื่องจากมีความสามารถในการซึมผ่านของน้ำน้อยเพราะโครงสร้างยางพาราช่วยให้การรั่วซึมของน้ำน้อย ทำให้โครงสร้างแข็งแรง”

Advertisement

ผศ.ดร.กัมปนาทกล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าปัญหาเรื่องยางพาราเป็นปัญหาที่สามารถบรรเทาได้โดยการนำเอายางมาใช้ เช่น ทำถนนยางพารา ซึ่งตรงนี้คิดว่าเป็นจุดหนึ่งที่จะแก้ปัญหาเรื่องราคายางได้ แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราคายางพาราควรมีการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่ใช่ก้าวกระโดด เพื่อความยั่งยืนของเกษตรกร เพราะราคาตลาดเป็นราคากลางที่เราต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยด้วย

“อย่างในงานวันยางพารา มติชนก็ได้จัดเวทีปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งมีการนำเสนอในเรื่องการปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อทดแทนหรือเสริมจากการปลูกยาง ซึ่งผมก็มองว่าเป็นเรื่องที่ดี และคิดว่ามีประโยชน์ในงานนี้”

Advertisement

ผศ.ดร.กัมปนาทกล่าวอีกว่า สำหรับภาพรวมจากการมาร่วมงานก็มีกลุ่มเกษตรกร หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรที่เป็นชาวสวนยางเข้ามาสอบถามเรื่องนวัตกรรมและอยากให้เรานำเสนอในมุมมองของการนำนวัตกรรมไปใช้ เช่น หอการค้าบึงกาฬที่เข้ามาเยี่ยมชมและเห็นว่ามีนวัตกรรมหลากหลายที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเกษตรกรบึงกาฬได้ นอกจากนี้ มจพ.โดยเฉพาะศูนย์วิจัยยางพารายังมีการทำวิจัยนวัตกรรมตัวอื่นอยู่ ซึ่งในปีหน้าเตรียมจะเอานวัตกรรมใหม่มาจัดแสดงในงานโดยทีมวิจัยของ มจพ.ประมาณ 20 ชีวิต มีการทำงานร่วมกับคณะและสาขาภาควิชาอื่นที่มีความเกี่ยวข้อง ทำให้รูปแบบของข้อมูลและการทำงานมีความครอบคลุมและอุดจุดอ่อนได้เป็นอย่างดี โดยมี ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ เป็นหัวหน้าที่ดำเนินการทุกส่วน รวมถึงยังมีการพูดคุยเกี่ยวกับมีดกรีดยางนกเงือก ในการทำงานร่วมกันเพื่อผลิตเครื่องมือกรีดยางที่มีประสิทธิภาพดีขึ้นในราคาที่สัมผัสได้” ผศ.ดร.กัมปนาทกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image