“บิ๊กฉัตร” เร่งขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ที่โรงเรียนสาธิตองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช 1 บ้านท่าเรือมิตรภาพที่ 30 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามการขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช และร่วมเป็นสักขีพยานในการมอบค่าชดเชยที่ดินให้กับผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ จำนวน 9 ราย โดยมี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายถาวรวัฒน์ คงแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ตนมานครศรีธรรมราชหลายครั้งแล้ว ด้วยความห่วงใยต่อประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งต่อเนื่องเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ อันเนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยขาดแผนงานและระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ให้การช่วยเหลือประชาชนตามสภาพการณ์น้ำท่วมก็ช่วยระบายน้ำ น้ำแล้งก็ช่วยจัดหาน้ำ แต่โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จะเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทางรัฐบาลต้องขอบคุณสำหรับประชาชนที่เสียสละ ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดำเนินการและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะที่ในส่วนของพี่น้องประชาชนที่ยังอยู่ไม่เข้าใจหรือมีความเห็นต่าง เป็นเรื่องที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างความเข้าใจ โดยทางรัฐบาลเองได้ตระหนักถึงความรู้สึก ตลอดทั้งมีความเข้าใจต่อความรักที่มีต่อถิ่นฐานที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินที่ต้องความเสียสละเพื่อโครงการซึ่งได้กำหนดแนวทางการเยียวยาและดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่

นายสมเกียรติ กล่าวว่า โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเร่งผลักดันให้เห็นเป็นรูปธรรม เนื่องจาก จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก จากสภาพภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นที่ราบและที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลขนาดกว้างฝั่งอ่าวไทย มีลำน้ำธรรมชาติซึ่งเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชไหลผ่านตัวเมืองอยู่หลายสาย เมื่อเกิดฝนตกหนักบริเวณเทือกเขานครศรีธรรมราช ทำให้เกิดน้ำท่าในคลองต่าง ๆ เป็นปริมาณมากและไหลผ่านตัวเมืองถึง 750 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ในขณะที่ศักยภาพของคลองสามารถระบายน้ำได้เพียง 268 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำระบายลงสู่ทะเลไม่ทัน จึงเกิดน้ำไหลบ่าท่วมตัวเมืองเป็นประจำทุกปี โดยแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น สทนช.ได้น้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มาใช้กำหนดแนวทางแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ โดยผลการศึกษาพบว่า มีพื้นที่ที่ต้องแก้ไขปัญหาอุทกภัย จำนวน 94 ตำบล 11 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ 0.533 ล้านไร่ โดยดำเนินการขุดคลองผันน้ำใหม่ จำนวน 3 สาย ปรับปรุงคลองระบายน้ำเดิม 2 สาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น พร้อมทั้งการก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 7 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำเค็มหนุนในช่วงฤดูแล้ง ใช้งบประมาณดำเนินการ 9,580 ล้านบาท ส่วนความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 111 แห่ง และอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชจำนวน 30 แห่ง ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 18 แห่ง ที่เหลือ 12 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 6 แห่ง และอยู่ในแผนงานของกรมชลประทานอีก 6 แห่ง ขณะที่ความก้าวหน้าของการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 มีมติเห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยการดำเนินการต่อจากนี้ทาง สทนช. จะได้นำเสนอร่างแผนแม่บทฯน้ำต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีน้ำใช้อย่างเพียงพอในทุกกิจกรรม เพื่อคุณภาพชีวิต และสร้างความมั่นคงให้กับประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป หลังจากนั้นรองนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำ ตำบลท่าเรือ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image