‘รองผู้ว่าฯราชบุรี’ เผยพบระเบิดสมัยสงครามโลกเคลื่อนที่จากจุดเดิม 10 เมตร

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายวีรัส ประเศรษโฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวถึงความคืบหน้าของการสำรวจ เก็บกู้ เคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จมอยู่ใต้สะพานจุฬาลงกรณ์ และสะพานธนะรัชต์ เขตเทศบาลเมืองราชบุรี หลังมีการสำรวจพบจำนวน 7 ลูก ว่า โดยเมื่อประมาณวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการสำรวจเพิ่มเติมจากทีม EOD กรมสรรพาวุธทหารอากาศ และทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษที่ได้คุ้นเคยกับระเบิด เนื่องจากเห็นว่าเป็นระเบิดของประเทศอังกฤษก็อยากช่วยเหลือนั้น

ผลปรากฎว่าจากการสำรวจใต้น้ำพร้อมวางทุ่นไว้จำนวน 7 ลูก พบว่ามี 1 ลูกที่อยู่บริเวณตอม่อสะพาน คาดว่าน่าจะมีเรือ หรือเจ็ตสกีขับผ่านไปมา ทำให้ทุ่นที่ผูกเป็นสัญลักษณ์ไว้ได้ขาดหายไป 1 จุด และถูกลากออกมา 1 ลูก ห่างจากจุดเดิมประมาณ 10 เมตร เป็นข้อดีที่ให้รู้ว่าสามารถเคลื่อนที่ได้ แต่ยังไม่พบปัญหาอุปสรรคอะไรในขณะนี้ ส่วนอีกลูกที่ผูกอยู่กับโคนตอม่อสะพานประมาณลูกที่ 5 ที่ทำสัญลักษณ์ไว้จากทั้งหมดที่มี 7 ลูก มีสภาพผุกร่อนมากบริเวณที่ครอบ บริเวณส่วนหางของลูกระเบิด จึงได้นำชิ้นส่วนขึ้นมานำไปวิเคราะห์ที่ประเทศอังกฤษ
อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดคงจะต้องประกาศให้ชัดเจนในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการเรือ และผู้เล่นเจ็ตสกีที่ขับผ่านบริเวณดังกล่าว เพราะหากช่วงน้ำลงกระแสน้ำเปลี่ยน อาจจะพัดพาให้ลูกระเบิดที่เคยนิ่งเคลื่อนที่ได้ จึงอยากเตือน บริเวณที่ผูกทุ่นลอยน้ำควรใช้ความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย

“ถือเป็นข้อดีทำให้เรามั่นใจว่าถ้าระเบิดเคลื่อนที่ได้ก็อาจจะย้ายด้วยวิธีการอื่นได้ ที่สำคัญทหารอังกฤษก็รู้ว่าระเบิดที่พบเป็นของประเทศเขาเป็นอย่างไรทั้ง 7 ลูก ซึ่งได้มีการเก็บภาพไว้ทุกมุมใต้น้ำ โดยวันที่ 24 มกราคม ที่จะถึงนี้ จะมี EOD ทหารอากาศ ทหารเรือ ทหารบก ตำรวจ และ EOD ของประเทศอังกฤษจะกลับมาคุยกัน และยังมีทีมประสานงานระหว่างไทยอเมริกันประจำอยู่กรุงเทพฯ เกิดสนใจและอยากเข้ามาให้การช่วยเหลือพร้อมเข้าร่วมประชุมด้วย วันนั้นมีประชุม 3 ฝ่าย อาทิ ฝ่ายสัมพันธมิตร มีจัสแม็กซ์อเมริกัน ประจำประเทศไทย และกองทัพไทยทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมทั้งฝ่ายปกครองและท้องถิ่น” นายวีรัสกล่าว

นายวีรัสกล่าวอีกว่า จากการพูดคุยเบื้องต้นแนวทางที่จะดำเนินการน่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายไปจุดที่ปลอดภัย ส่วนจะเอาลูกระเบิดขึ้น จะต้องดูทีละลูกไป โดยพื้นที่ราชบุรีไปทะเลระยะทางไกล มีแนวโค้งไปมา ถ้านำไปทำลายในทะเลก็อาจจะทำให้สัตว์ในทะเลเกิดตายได้ แต่ก็เป็นวิธีที่มีความสุ่มเสี่ยงน้อยที่สุด เรื่องนี้จริงๆ อยากจะเอาขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ด้วยความที่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเคลื่อนย้ายได้หรือไม่ แต่พอทางผู้เชี่ยวชาญอังกฤษได้มาดูและสำรวจแล้ว พร้อมทั้งได้นำชิ้นส่วนไปวิเคราะห์จากลูกระเบิดที่เกิดผุพังมากที่สุดแล้วคาดว่าหลังวันที่ 24 มกราคมไปแล้ว หรืออาจจะเริ่มประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ขึ้นอยู่กับกระแสน้ำของชลประทานที่ปล่อยลงมาในแม่น้ำแม่กลอง ที่สำคัญอยากให้ผ่านงานแสดงแสง สี เสียง บริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์ไปก่อน อีกทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยากดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ เพราะขณะนี้ได้ดำเนินการใกล้จะมาถึงบริเวณสะพานจุฬาลงกรณ์แล้ว ยิ่งดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ช้าก็จะถูกปรับมากขึ้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image