“นักวิชาการ” คาดป่วนใต้ถี่ เหตุ “บีอาร์เอ็น” ถูกบีบให้ร่วมเวทีเจรจา ชี้โอกาสดี “บิ๊กเมา” เปิดมิติใหม่พูดคุย

เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่จ.ปัตตานี ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี นักวิจัยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวว่า จากสถานการณ์เหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน คิดว่ากระบวนการพูดคุยสร้างสันติสุขยังคงเดินไปข้างหน้า และมีความต่อเนื่องแต่มีปัญหาเชิงรายละเอียดบางอย่าง ซึ่งปัญหานี้อาจมีผลทำให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นในช่วงนี้ คณะพูดคุยของฝ่ายไทยต้องการเปิดพื้นที่พูดคุยให้กว้างหลายๆกลุ่ม รวมทั้งต้องการให้ฝ่ายกลุ่มกระบวนการ บีอาร์เอ็น ฝ่ายการทหารเข้าร่วมด้วย ทางหัวหน้าผู้อำนวยความสะดวกของฝ่ายมาเลเซีย คือ ตันซรี อับดุลราฮิม มูฮำหมัดนูร์ พยายามผลักดันให้บีอาร์เอ็นเข้าร่วมแต่วิธีการของการจัดการ มีการบีบบังคับ กดดัน ในฝั่งมาเลเซีย ทำให้ผลเกิดขึ้นตามมา คือ ฝ่ายกลุ่มกระบวนการอาจไม่พอใจและก่อเหตุขึ้นในระยะหลัง ซึ่งโดยหลักการ หากต้องการให้มีการพูดคุยเจรจาแบบเปิด และสมัครใจ หรือโดยไม่มีการบีบบังคับ ตามที่คณะพูดคุยของฝ่ายไทยยืนยัน น่าจะยืดหยุ่นมากกว่านี้ จำเป็นต้องพูดคุยว่า ไม่ควรบีบบังคับให้ฝ่ายอื่นๆเข้าร่วมพูดคุย และตั้งเงื่อนไขว่าสามารถพูดคุยได้ในทุกประเด็นที่เป็นข้อข้องใจ เป็นประเด็นในทางการเมืองที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะมีการพูดคุยกันในโอกาสต่อไป

“กรณีคนร้ายเลือกก่อเหตุในพื้นที่สาธารณะ เป็นไปได้ว่าเป็นจุดอ่อนไหวมากในแง่ของความรู้สึกของประชาชน เพราะประชาชนต้องการพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งการป้องกันจากฝ่ายเจ้าหน้าที่มันยาก การก่อเหตุในพื้นที่ลักษณะนี้ทำให้เกิดกระแสข่าว เกิดผลกระทบในวงกว้าง แต่มีความเสี่ยงของกลุ่มผู้ก่อเหตุเอง จะทำให้เสียมวลชนทางการเมือง คือ ประชาชนไม่ยอมรับ จะเป็นผลลบต่อกลุ่มกระบวนการ พื้นที่สาธารณะ พื้นที่ปลอดภัย เป็นข้อเรียกร้องจากภาคประชาสังคม พื้นที่เหล่านี้ไม่ว่าตลาด โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ตามศาสนา ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ควรก่อเหตุ เป้าหมายที่อ่อนแอพี่น้องไทยพุทธ ควรเป็นพื้นที่ที่ได้รับการปกป้องคุ้มครอง เมื่อเกิดเหตุถือเป็นเรื่องที่น่าเสียใจการก่อเหตุ มีผลกระทบในแง่สร้างความรู้สึกอ่อนไหวในทางสังคมเป็นประเด็นเชิงจิตวิทยาที่ฝ่ายกระบวนการจุดขึ้นมา โดยตัวเองต้องแบกรับความเสี่ยงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิติเตียนจากสังคมว่าไม่ควรทำ”ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว

ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากแถลงการณ์ของบีอาร์เอ็น สะท้อนจุดยืนว่ายอมรับการเจรจาพูดคุย แต่ไม่ใช่เพราะเงื่อนไขการถูกบีบบังคับ แต่ต้องการเงื่อนไขให้ใช้หลักกติกาพูดคุยที่เป็นหลักสากล เป็นกลาง เรียกร้องให้มีฝ่ายที่ 3 ประเทศที่ 3 หรือองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆมาเป็นสักขีพยานร่วมในการเจรจา ซึ่งฝ่ายรัฐบาลไทยไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ เพราะทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องประเด็นภาคใต้ของไทย กลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ รัฐบาลไทยยืนยันหลักการตลอดเวลาว่า เป็นเรื่องภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม คณะผู้แทนของฝ่ายไทย พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ยืนยันว่า ยินดีคุยกับทุกกลุ่ม ตอนนี้อาจแยกคุยก็ได้และไม่ได้เร่งทุกกลุ่ม ถือเป็นจุดดี จำเป็นต้องเจรจากับทุกกลุ่ม แต่ไม่จำเป็นต้องคุยพร้อมกัน บางกลุ่มพร้อมคุยแต่ไม่อยากเปิดเผยก็คุยอย่างลับๆไม่เป็นทางการก็ได้ เป็นเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละกลุ่ม ที่เกิดขึ้นในคณะพูดคุยชุดใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเป็น Format เดียวกัน หลายแพลตฟอร์มก็ได้ หลายเวทีพูดคุยพร้อมๆกันก็ได้ เป็นการเปิดมิติใหม่ๆในการพูดคุย ถือเป็นโอกาสที่ดี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image