“โรคชิคุนกุนยา” ระบาดหนักใน 3 หมู่บ้านในศีขรภูมิ สาธารณสุขเร่งกำจัดยุงลาย

เมื่อวันที่ 19 ม.ค.62 นายธีรพล สกุลรักษ์ นายอำเภอศีขรภูมิ (สี-ขอ-ระ-พูม) จ.สุรินทร์ ได้เดินทางเข้าไปตรวจเยี่ยมชาวบ้านพันษี หมู่ที่ 5 และหมู่บ้านหนองยาว หมู่ที่ 20 ต.จารพัต อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ หลังจากได้ทราบข่าวว่ามีผู้ป่วยภายในหมู่บ้านจำนวนมาก ที่มีอาการเป็นไข้และปวดข้อตลอดจนมีการหายใจติดขัด ผื่นแดงขึ้นตามตัวปวดกล้ามเนื้อ ข้อบวม ปวดศรีษะ คลื่นไส้ และอ่อนเพลีย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุและเด็ก จึงได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบภายในหมู่บ้านดังกล่าว โดยเมื่อมาถึงบริเวณศาลวัดบ้านพันษี ต.จารพัต อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ พบว่านายสมศักดิ์ บุญโต สาธารณสุข อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ พร้อมด้วย ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจารพัต ,เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจารพัต และ จนท.อสม.ให้การต้อนรับ

นายธีรพล กล่าวว่า ได้รับทราบจากชาวบ้านว่าได้มีผู้ป่วยจาก 3 หมู่บ้าน ของ ต.จารพัต อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ที่มีอาการผิดปกติจำนวนถึง 121 คน ซึ่งได้เดินทางไปรักษาตามโรงพยาบาล ตลอดจนเดินทางไปรักษาตามคลีนิกต่าง ๆ ภายในเขตพื้นที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งผู้ป่วยมีอาการเจ็บและปวดข้อตามร่างกายตลอดจนมีอาการไข้สูง และได้มีชาวบ้านบางคนมีผดผื่นคันขึ้นตามลำตัว ซึ่งทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพได้ตรวจพบเชื้อไวรัสชิคุนกุนย่า ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตามจากการสอบถามอาการของนางเหย ไหมทอง อายุ 76 ปี อยู่บ้านเลขที่ 116 หมู่ที่ 20 ต.จารพัต อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ เล่าว่า ป่วยเป็นโรคที่ไม่ทราบสาเหตุคือมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ประกอบกับเจ็บปวดไปตามเนื้อตามตัวไปหมดและมีผื่นคันตามตัวเหมือนกับเป็นอีสุกอีใส เดินไปมาไม่ถนัดจะล้ม ซึ่งได้ไปหาหมอมาแล้ว และอยู่ในระหว่างฟักฟื้น พร้อมทั้งยังมีผู้ที่ป่วยภายในหมู่บ้านอีกเกือบทุกหลังคาเรือน

นางปลัง โต๊ะงาม อายุ 47 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26/3 ม.20 ต.จารพัต เล่าว่า เป็นโรคดังกล่าวหลายวันแล้วโดยติดเชื้อจากชาวบ้านที่เดินทางไปกรุงเทพ ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านป่วยไปตาม ๆ กัน บางคนก็ไปคลินิก บางคนก็ไปโรงพยาบาลสุรินทร์ สำหรับครอบครัวของตนเพิ่งหายได้ 2-3 วัน

นายสมศักดิ์ บุญโต นายแพทย์สาธารณสุข อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ กล่าวว่า โรคดังกล่าวได้แพร่เชื้ออย่างรวดเร็วหลังจากที่ชาวบ้านได้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพ โดยขณะนี้สาธารณสุขอำเภอ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ อสม.ได้นำทรายอะเบท และทาง อบต.จารพัตได้นำเครื่องพ่นฉีดป้องกันยุงลายในพื้นที่เพื่อขจัดยุง ขณะที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ อสม.ได้รื้อและเผาขยะในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ที่มีน้ำท่วมขัง ประกอบกับท่อระบายน้ำต่าง ๆ กำจัดให้แห้งโดยได้มีพี่น้อง อสม.และชาวบ้านได้ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านได้รับทราบ

Advertisement

“โรคชิคุนกุนย่า ถือว่าเป็นโรคที่เริ่มระบาดภายในหมู่บ้านที่มีผู้ป่วยมากที่สุดเป็นประวัติการผู้ป่วยจะมีอาการปวดข้อปวดหลังตลอดจนมีอาการผื่นแดงตามตัว ดังนั้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดก็ขอให้ชาวบ้านช่วยกันกำจัดขยะตลอดจนน้ำที่ท่วมขังภายในหมู่บ้านนำออกมาให้แห้งเพื่อป้องกันยุงที่เข้าไปเพาะพันธ์ ตลอดจนไปกัดผู้คนและนำเชื้อมาระบาดอีกได้”นายสมศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้สำหรับข้อมูลทั่วไปของ โรคชิคุนกุนยา เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายในมนุษย์โดยยุงที่มีไวรัส เชื้อไวรัสถูกแพร่กระโดยยุงและสามารถทำให้เกิดอาการปวดข้ออย่างรุนแรง อาการแสดงว่ามีการติดเชื้อของโรคนี้ที่เห็นเด่นชัดคืออาการไข้สูงอย่างเฉียบพลันและอาการปวดข้ออย่างรุนแรงหรือข้อติดขัด อาการทั่วไปอื่น ๆ ของโรคชิคุนกุนยา มี ผื่นแดง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และ อ่อนล้า คนส่วนใหญ่จะฟื้นตัวจากโรคชิคุนกุนยาและมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม อาการปวดอาจจะคงอยู่หลายสัปดาห์หรือกลับมาเป็นซ้ำหลังจากนั้นเป็นเดือน ๆ โดยเกือบ 15% ของรายที่ติดเชื้อ อาจกลายเป็นเป็นอาการเรื้อรังและเกิดขึ้นเป็นปี ๆ ด้วยเหตุนี้ทำให้ในบางครั้งโรคชิคุนกุนยาถูกวินิจฉัยผิดเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ไม่บ่อยนักที่การติดเชื้อของโรคชิคุนกุนยาสามารถทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงบนผิวหนัง ดวงตา ไต หัวใจ หรือระบบประสาท ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่หายขาดหรือวัคซีนสำหรับโรคชิคุนกุนยา การรักษาส่วนใหญ่มุ่งหวังที่จะช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ชื่อ “ชิคุนกุนยา” มาจากคำในภาษา Makonde (หรือ Kimakonde) ของแอฟริกาใต้ แปลว่า “การก้มตัวงอระหว่างเดิน” เพื่ออธิบายลักษณะการก้มตัวลงของคนที่ทุกข์ทรมานจากอาการปวดข้ออย่างรุนแรง การแพร่กระจายของโรคชิคุนกุนยา ในช่วงการระบาดของโรค วงจรของการแพร่กระจายของโรคชิคุนกุนยาคือระหว่างยุงและมนุษย์ แต่ถึงกระนั้น ในหลาย ๆ พื้นที่ของแอฟริกา สัตว์กลุ่มลิงป่าและค้างคาวเคยเป็นที่รู้กันว่ามีส่วนในการทำให้เกิดการระบาดของโรคในมนุษย์จากการโดนยุงกัด สัตว์อื่น ๆ รวมถึง นก โคกระบือ และ สัตว์จำพวกหนูอาจติดเชื้อได้และมีส่วนทำให้โรคแพร่กระจายโดยยุงเช่นกัน

ผู้ป่วยสามารถกระจายไวรัสไปสู่คนอื่นถ้าหากโดนยุงกัดประมาณ 2-6 วันระหว่างที่กำลังป่วย ส่วนการแพร่กระจายเชื้อที่มาจากเลือด ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน เพราะมีการบันทึกข้อมูลโดยเจ้าหน้าที่ห้องวิจัยที่ได้รับเลือดที่ติดเชื้อแล้ว เด็กแรกเกิดอาจติดเชื้อโรคชิคุนกุนยาจากผู้เป็นแม่ที่ติดเชื้อในจำนวนวันที่จำกัดก่อนและหลังการเกิด แต่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จะไม่ติดเชื้อเพราะไวรัสไม่ได้ถูกค้นพบในนมแม่

Advertisement

นอกจากนี้ยังพบว่าในสหรัฐอเมริกา มียุงที่อยู่สองสายพันธุ์ที่มีการแพร่เชื้อโรคชิคุนกุนยา ซึ่งยุงพวกนี้คือยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) หรือ ยุงลาย (Yellow Fever Mosquito) ทางภาคใต้ และ ยุงลายสวน (Aedes albopictus) หรือ ยุงลายเสือ”Asian tiger mosquito” ที่พบได้บ่อยภายในประเทศ แหล่งแพร่พันธ์ยุงลายใกล้ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับโรคชิคุนกุนยา

ความชุกของโรคชิคุนกุนยาในทั่วโลกจากรายงานของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ พบว่า หลัก ๆ แล้วโรคชิคุนกุนยาได้ส่งผลกระทบต่อคนในทวีปแอฟริกา เอเชีย และอินเดียโดยที่หลายล้านคนได้รับผลกระทบจากการระบาดซ้ำในปี 2004 นอกจากนี้ ในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2006 ถึง 2013 มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคชิคุนกุนยาอยู่ที่ 28 ราย (ระหว่าง 5-65) จากรรายงานที่พบในแต่ละปี และเมื่อไม่นานมานี้ ความชุกของโรคยังถูกค้นพบในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ รวมถึงแถบแคริเบียนอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image