หีบศพลายรดน้ำฉลุเล่าเรื่อง”หลวงพ่อคูณ” เปิดดูข้างในก่อนบรรจุสรีรสังขาร

การจัดทำหีบบรรจุสรีรสังขาร ของพระเทพวิทยาคม หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา นั้น ได้ถูกจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อใช้ในพิธีพระราชทานเพลิงศพครูใหญ่ และพระครูใหญ่พระเทพวิทยาคม ที่เริ่มทำการสวดพระอภิธรรมระหว่างวันที่ 21 -28 มกราคมนี้ ก่อนจะเริ่มทำการถวายพระเพลิงจริงในวันที่ 29 มกราคม ณ ฌาปนสถานชั่วคราว นกหัสดีลิงค์เทินบุษบก พุทธมณฑลอีสาน

อาจารย์ช่างท่านหนึ่ง ที่ร่วมลงมือจัดทำหีบใบนี้ขึ้น ได้เปิดเผยให้ฟังว่า ในตอนแรก ได้มีผู้ศรัทธาที่จะเสนอตัวเป็นช่างจัดทำ โดยมีทั้งหมด 5 ราย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยไม่ต้องการใช้วิธีแบบเฉพาะเจาะจงผู้ใดเป็นพิเศษ จึงได้ใช้วิธีเสี่ยงทาย

เมื่อผลออกมาเสร็จสิ้น จึงได้ร่วมกันวางแผนเลือกใช้วัสดุประกอบหีบโลงขึ้น โดยเลือกเป็นไม้โลงเลง จัดอยู่ในหมวดไม้จำพวกสนหอม ซึ่งได้นำเข้ามาจากฝั่งประเทศลาว โดยใช้เวลาเตรียมการมานานนับปี

ในการนี้ คณะผู้จัดทำเลือกที่จะเล่าถึงชีวประวัติของหลวงพ่อคูณโดยสังเขป จึงทำการออกแบบและฉลุลายด้วยกระดาษไขก่อนจะลงรักปิดทอง ด้วยลวดลายไทยรดน้ำแบบฉบับวัฒนธรรมอีสาน บอกเล่าเรื่องราวไล่เรียงเป็นลำดับนับตั้งแต่หลวงพ่อคูณเกิด จนกระทั่งมรรดาเสียชีวิต เมื่อหลวงพ่อคูณมีอายุได้ 11 ปี

“ชีวิตในช่วงเยาว์วัยของหลวงพ่อคูณนั้น ท่านจะชื่นชอบไก่ จะเห็นได้ว่าบริเวณโดยรอบหีบจะมีสัตว์ประเภทนก และไก่อยู่ด้วย แม้กระทั่งตอนแก่ ท่านก็ยังชอบดูนกในตอนเย็นเป็นประจำ” อาจารย์ช่างระบุ

นอกจากนี้ ยังมีลายตอนหนึ่งบนหีบที่เล่าเรื่องเมื่อหลวงพ่อคูณ มุ่งมั่นไปร่ำเรียนวิชาครูเพลงที่โคราช แต่กลับไปไม่รุ่งกับสายอาชีพนี้ จึงกลับมาทำไร่ไถ่นากับน้าและอา ก่อนจะตัดสินใจบวชเป็นภิกษุตลอดชีวิต โดยระหว่างที่บวชอยู่นั้น หลวงพ่อคูณได้ศึกษาธรรม วิชาพุทธาคมและไสยเวทย์จากหลวงพ่อคง พุทธฺสโร และเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง ซึ่งมีชื่อเสียงด้านวิปัสสนากัมฏฐาน นอกจากนี้ยังได้ร่วมธุดงค์ไปยังพื้นที่หลายจังหวัดของประเทศไทย รวมถึงเขตประเทศลาวและกัมพูชา จนสำเร็จวิชาขั้นสูง

Advertisement

จนเมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งที่คนไทยจดจำถึงหลวงพ่อคูณได้แจ่มชัด นั่นคือ โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ปี2536 เกิดขึ้นที่กลางเมืองโคราช พื้นที่ จ.นครราชสีมา เมื่อตึกโรงแรมรอยัลพลาซ่า พังถล่มลงมาทับผู้คนบาดเจ็บล้มตายกันกว่าหลายร้อยราย ขณะที่มีผู้รอดไม่กี่สิบชีวิต บ้างเล่าว่ารอดตายปาฏิหารย์เพราะอิทธิฤทธิ์หลวงพ่อคูณที่ห้อยแขวนคอไว้

นับแต่นั้น ชื่อเสียงของหลวงพ่อคูณ กลายมาเป็นที่รู้จักของคนไทยมากขึ้นไปอีก ทำให้เหล่าฆราวาสพากันแห่แหนไปเยี่ยมเยียนหลวงพ่อคูณ ให้ช่วยพรมน้ำมนต์เสริมสร้างบารมี แต่หลวงพ่อ จะใช้ไม้เคาะหัวให้พรจนกลายเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีภาพนั้นปรากฎอยู่บนหีบศพด้วย

มาถึงที่รูปสุดท้าย คือเมื่อครั้งที่หลวงพ่อคูณ ทำพินัยกรรมโดยระบุให้มอบร่างไว้กับ คณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นประโยชน์กับสังคมต่อไป

ในรายละเอียดอื่น ที่ส่วนท้ายของหีบจะฉลุลายด้วยอักษรย่อ วทค อันเป็นสมณะศักดิ์ที่ได้รับพระราชทาน ความว่า “พระเทพวิทยาคม”

Advertisement

ส่วนที่ฝาโลงจะล้อมไปด้วยดงตาล และพระอาทิตย์ แทนความหมายว่า แสงสว่าง และจะมีภาพหลวงพ่อคูณในท่านั่งอันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมกับในมือที่จะคีบมวนยาเส้นไว้ ส่วนนอกวงรัศมีร่ายล้อมไปด้วยนางฟ้าเทวดา และเหล่าฆราวาสต่างพนมมือไหว้

เมื่อเปิดดูภายในหีบ จะพบว่าถูกปูด้วยเสื่อไม้สานทอมือ ทำขึ้นโดยนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. ร่วมกันจักสานเป็นลายแม่บทอีสานจำนวน 4 แบบ

สำหรับเหตุผลที่ต้องปูด้วยเสื่อนั้น เพราะว่าพระในสายกรรมฐานจะไม่นอนด้วยฟูก ขณะที่หมอนขิด และหมอนข้างที่ใช้หนุนนั้นยัดไส้ด้วยไม้จันทร์หอมทดแทนนุ่น

นับได้ว่า หีบไม้โลงเลงใบนี้ ผ่านการรังสรรค์ด้วยช่าง และนักศึกษาชำนาญการซึ่งได้งัดเอาวัตถุดิบพื้นถิ่นมาใช้ในการแสดงออกถึงวัฒนธรรมไทย-อีสานได้อย่างงดงามและลงตัว ผ่านการบอกเล่าชีวประวัติของภิกษุชั้นเทพคณะ ที่มีคุณค่าต่อชาวไทยอีสานมากที่สุด

ขอบคุณ ภาพจาก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image