นักวิชาการแนะจัดระเบียบความช่วยเหลือชุมชน ‘มอแกน’ ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล

เผยชุมชนมอแกนเกาะสุรินทร์อยู่กันอย่างแออัด-เพลิงเลยเผาผลาญรวดเร็ว แนะรีบจัดระเบียบความช่วยเหลือก่อนความหวังดีกลายเป็นขยะท่วมเกาะ นักวิชาการชี้แปรวิกฤตเป็นโอกาส-ฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  น.ส.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หมู่บ้านชาวมอแกนเกาะสุรินทร์ไฟไหม้กว่า 60 หลังคาเรือนว่า ควรใช้วิกฤตที่เกิดขึ้นให้เป็นโอกาสโดยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องและชุมชนควรร่วมกันหารือเพราะพื้นที่นี้เป็นพื้นที่พิเศษที่อยู่ในความดูแลของอุทยานฯ เช่น ตัวแทนของบริษัทนำเที่ยว เพราะจริงๆแล้วก็มีปัญหาเช่นกัน อย่างกรณีการนำเรือสปีชโบทมาจอดริมชายหาดซึ่งทำให้เกิดหลุม หรือกรณีนักท่องเที่ยวบางส่วนที่ขึ้นไปเที่ยวแล้วไม่เคารพวิถีวัฒนธรรมของชาวเล เราควรใช้โอกาสนี้หารือกันให้ครบวงจร

“ไม่ควรรีบๆสร้างบ้านแล้วก็จบๆไป ควรช่วยกันฟื้นฟูวิถีชุมชนของพวกเขา อย่างกรณีปัญหาเฉพาะหน้าที่ช่วยเหลือก็เช่นกัน ควรมีวิธีบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมที่ดีเหมือนกับตอนที่หมู่บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า ทำคือให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือตัวเอง ไม่ใช่ให้พวกเขาเป็นเพียงผู้ที่รอรับความช่วยเหลือ ยิ่งตอนนี้บ้านไฟไหม้หมด ก็ควรเปิดโอกาสให้เขาได้ร่วมหารือพูดคุยว่าปัญหาเฉพาะหน้าคืออะไร และอนาคตชุมชนเขาอยากเห็นอะไร”น.ส.นฤมล กล่าว

Advertisement

นักวิชาการจากสถาบันวิจัยสังคม กล่าวว่า ก่อนเกิดไฟไหม้หมู่บ้านชาวมอแกนอยู่กันค่อนข้างแออัดและอยู่ปะปนกันหมด แต่ในอดีตวิถีของพวกเขาอยู่กระจัดกระจายกันตามอ่าวต่างๆเป็นหย่อมๆตามเครือญาติ แต่หลังสึนามิชาวบ้านทั้งหมดถูกให้มาอยู่รวมกัน ดังนั้นในอนาคตหามีการสร้างชุมชนขึ้นมาใหม่อาจต้องสร้างแนวกันไฟหรือเว้นระยะห่างระหว่างบ้านให้มากขึ้น ไม่ใช่อยู่ติดกันอย่างแออัดพอเกิดไฟไหม้ก็เลยถูกเผาไปด้วยกันหมด

“ตอนนี้ที่อยากเห็นคือควรมีผู้ประสานงานระหว่างชุมชนมอแกนกับความช่วยเหลือภายนอกที่จะเข้าไป ไม่ควรกระหน่ำกันส่งข้าวของเข้าไปโดยที่ไม่รู้ถึงความต้องการ เพราะยิ่งจะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น เช่น ส่งผ้าอ้อมเด็กอ่อน เพราะเด็กๆที่นั่นไม่ใช้ก็จะกลายเป็นขยะ หรือส่งน้ำเปล่าใส่ขวดพลาสติกกันเข้าไปจำนวนมากทำให้ขวดเป็นปัญหา เช่นเดียวกับการส่งอาหารใส่กล่องโฟมเข้าไป ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ควรสร้างความเข้าใจกันตั้งแต่ต้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องไปตามแก้ไขปัญหาภายหลัง ดังนั้นคนที่ช่วยประสานงานจะช่วยเหลือได้มาก”น.ส.นฤมล กล่าว

น.ส.นฤมลกล่าวว่า เดิมทีชาวเลบนเกาะสุรินทร์มีวิถีที่เดินทางทางเรือบ่อย แต่เมื่อถึงฤดูมรสุมก็มาปักหลักตามอ่าวๆต่างๆประมาณ 10 แห่งเป็นหย่อมๆ 5-10 หลัง เมื่อมีการจัดตั้งอุทยานฯในตอนแรกอนุญาตให้ชาวบ้านอยู่ 2 พื้นที่คืออ่าวบอนเล็กและอ่าวไทรเอน แต่ตอนหลังได้ย้ายมายามกันในพื้นที่ปัจจุบันที่เกิดไฟไหม้ ซึ่งเข้าใจว่าอุทยานฯคงไม่ต้องการให้ชาวเลอยู่กันอย่างกระจัดกระจาย

ด้านนางจุรี หาญทะเล ชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ วัย 52 ปีกล่าวว่า ตนอยู่มาตั้งแต่เด็กโดยติดตามพ่อแม่ล่องเรือกาบางไปตามเกาะต่างๆ ทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า ซึ่งสมัยก่อนไม่ได้ห้ามเพราะเรื่องข้ามเขตแดน จนกระทั่งตอนหลังมาปักหลักอยู่ในอ่าวในหมู่เกาะสุรินทร์ และถูกย้ายให้มาอยู่รวมกันในหมู่บ้านที่ถูกไฟไหม้ซึ่งค่อนข้างแออัด

“ตอนไฟไหม้ฉันอยู่บนฝั่ง แต่ลูกอยู่บนเกาะ ตอนนี้เขาเป็นอย่างไรบ้างไม่รู้ ทุกคนต่างเป็นห่วง ยังดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต หากเขาสร้างบ้านให้ใหม่ ฉันอยากให้ขยายออกไปด้วย เมื่อก่อนเราเคยอยู่ที่อ่าวบอนเล็ก แต่ตอนหลังเขาไม่ให้อยู่และย้ายเรามาที่นี่ จริงๆแล้วถ้าให้เลือกระหว่างอยู่บนฝั่งกับอยู่บนเกาะสุริน ฉันก็อยากอยู่เกาะเพราะเงียบดี และไม่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายอะไร”นางจุรี กล่าว

นายไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า ที่น่าหวั่นเกรงคือกระแสช่วยเหลือถั่งโถมเข้าไปและกลายเป็นปัญหาคือทำให้เกาะกลายเป็นที่ทิ้งขยะ นอกจากนี้ชาวมอแกนเกาะสุรินทร์มีปัญหาเรื่องบัตรประชาชน ดังนั้นอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสิทธิในที่อยู่อาศัย ซึ่งตอนนี้จังหวัดพังงาได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และมีข้าวของบริจาคหลั่งไหลลงทุกทาง ดังนั้นควรชะลอการขนลงเกาะไว้ก่อนเพราะแค่บริจาครอบแรกก็เต็มหมดแล้ว ตอนนี้ควรหันมาเร่งจัดระบบบริหารจัดการ และการวางแผนฟื้นฟูระยะยาว เช่น การสร้างบ้าน เพื่อจัดกระบวนการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม

“อาจมีข้อจำกัดเรื่องการใช้งบประมาณของราชการ เพราะชาวบ้านจำนวนหนึ่งไม่มีบัตรประชาชน ดังนั้นผู้บริจาคควรช่วยเหลือเรื่องการสร้างบ้าน หรือหากต้องการบริจาคข้าวของก็ควรเช็คความต้องการที่แท้จริงก่อนแล้วค่อยซื้อ แต่ถ้าบริจาคเป็นเงินจะคล่องตัวกว่า ส่วนการสร้างบ้านจากการสอบถามความต้องการของชาวบ้าน เขาต้องการปรับผังชุมชนให้เป็นไปตามเครือญาติและเว้นระยะตามความต้องการของชาวบ้าน”นายไมตรี กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เวลา 19.30 น.ได้เกิดเหตุไฟไหม้ในหมู่บ้านชาวมอแกน บริเวณอ่าวบอน หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา จนทำให้มีบ้านเรือนถูกเผาไปกว่า 60 หลัง ซึ่งคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากการสตาร์ทเครื่องยนต์เรือและเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ ซึ่งต่อมานายศิริพัฒ พัฒนกุล ผู้ว่าราชการพังงาและคณะได้ลงพื้นที่ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image