เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในห้วงเดือนพฤษภาคม แม้จะยังไม่เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเต็มตัว แต่พายุฤดูร้อนที่พัดผ่านมา ทำให้ระบบนิเวศฟื้นตัว ต้นไม้ต่างๆ เริ่มแตกยอดอ่อนใบเขียว สัตว์น้อยใหญ่เริ่มเติบโตขยายพันธุ์ ได้รับอานิสงส์ความชุ่มชื้นจากเม็ดฝนที่ตกลงมา เช่นกันกับผีเสื้อเริ่มมีการขยายพันธุ์ไปตามกิ่งไม้ต่างๆ ริมทาง จึงถือเป็นโอกาสดีสำหรับชาวบ้าน บ.หนองบัวสร้าง-บ.โคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ต่างพากันถือตะกร้าเดินตระเวนเก็บดักแด้หนอนผีเสื้อที่อยู่ตามใบไม้ โดยดักแด้หนอนผีเสื้อมีลักษณะลำตัวสีเขียวอ่อนกลมกลืนกับใบไม้ ขนาดยาว 2 เซนติเมตร
นางทองพูน แสนบรรดิษฐ์ อายุ 47 ปี ชาวบ้าน บ.โคกสะอาด ระบุว่า 1 ปี มีหนึ่งครั้งที่จะมีเมนูเปิบดักแด้หนอนผีเสื้อ หากเลยห้วงระยะเวลานี้ไป ดักแด้ก็จะโตเป็นผีเสื้อ ถามว่ารับประทานได้ไหม แน่นอนอร่อยมาก คนเฒ่าคนแก่รับประทานมาแต่โบราณ เป็นภูมิปัญาชาวบ้านวิธีการง่ายๆ แค่เดินถือตะกร้าไปตามริมถนน สังเกตต้นไม้ต้นไหนเริ่มแตกยอดอ่อนโดยเฉพาะต้นขี้เหล็ก เราก็ใช้มือเปล่าพลิกใบไม้ขึ้นมา ก็จะเห็นตัวดักแด้หนอนผีเสื้อเกาะตัวอยู่ จากนั้นก็หยิบเอาใส่ลงตะกร้า ระวังแต่หนอนอื่นๆ ที่เป็นหนอนมีขนอาจทำให้คันหรือแพ้ได้ เมื่อหาได้ในปริมาณมากๆ ก็นำไปรับประทาน ลดรายจ่ายในครัวเรือน หรือนำไปขาย ตอนนี้ราคาขายพุ่งไปกิโลกรัมละ 400 บาทแล้ว
ส่วนวิธีการรับประทาน นำดักแด้หนอนผีเสื้อล้างให้สะอาด ต้มในน้ำร้อนพอสุก ตักออกพักไว้ให้แห้ง จากนั้นตั้งไฟอ่อนๆ คั่วไปเรื่อยๆ จนหอม ใส่น้ำมันพืชไปนิดนึง เพื่อให้ดักแด้เกิดความมัน ปรุงน้ำปลานิดนึง และตักใส่จานรับประทานกับข้าวเหนียวร้อนๆ โดยดักแด้หนอนผีเสื้อมีรสชาติหอมมัน อร่อยเหมือนกับดักแด้หนอนไหม นับได้ว่าเป็นของหากินยาก 1 ปีมีครั้ง ไม่แพ้กับของป่าอย่างอื่น ที่นอกจากจะหามากินในครัวเรือนแล้วยังเอาไปขายได้ราคาดีอีกด้วย