บึงกาฬเล็งเอ็มโอยูขายหมอน งานวันยางฯยังคึกคัก คนแห่อบรมอาชีพ

เผยพระจอมเกล้าพระนครเหนือเตรียมผลิตเครื่องกรีดยาง ลดต้นทุน ประหยัดเวลา งานวันที่ 5 คึกคัก อบจ.บึงกาฬเล็งเอ็มโอยูจีนผลิตหมอน

เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ 2559 จัดขึ้น โดยความร่วมมือของ จ.บึงกาฬ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) บึงกาฬ เหล่ากาชาดบึงกาฬ หอการค้าจังหวัดบึงกาฬ และองค์การหน่วยงานราชการ-เอกชนต่างๆ บรรยากาศในวันที่ 5 ของการจัดงานยังคงมีประชาชนทั้งใน จ.บึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงจาก สปป.ลาวมาร่วมชมงานและเลือกซื้อสินค้าอย่างเนืองแน่น

นายพิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การรับซื้อผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราจากชุมชนสหกรณ์กองทุนสวนยาง จ.บึงกาฬ ตอนนี้เหลือเเค่รอหมอนเเละที่นอนจากเรา พร้อมเมื่อไหร่ก็พร้อมจะนำไปจำหน่ายต่อทันที ตอนนี้มีบริษัท รับเบอร์วัลเลย์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท ไทยเบสท์ ลาเท็กซ์ จำกัด เเละบริษัท ไทยปาร์ค สเน็คฟาร์ม จำกัด ร่วมลงนามกัน พูดคุยกันมา 2 ปีเเล้ว การลงนามความร่วมมือเบื้องต้นจะรับหมอนจากเราไปขาย 2 บริษัท จากเชียงใหม่เเละภูเก็ตเปิดบริษัททัวร์รับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนวันละหลายพันคน ต้องการนำหมอนของเราไปขายให้นักท่องเที่ยวประเทศจีนเข้ามาเที่ยวที่ประเทศไทย

“เบื้องต้นทั้งสองบริษัทจะรับหมอนจากเราบริษัทละ 20,000 ใบต่อเดือน ส่วนบริษัท รับเบอร์วัลเลย์ กรุ๊ป จำกัด จะรับไปขายประเทศจีนไม่จำกัดจำนวน เราผลิตหมอนอย่างน้อยน่าจะได้เดือนละ 100,000 ใบ เเละน่าจะต้องเพิ่มการผลิตต่อเนื่องเดือนละ 200,000 ใบ เพราะมีนักท่องเที่ยวจีนไปหลายพื้นที่ ตอนนี้ก็มีนายกจากพังงาติดต่อมาเพราะมีนักท่องเที่ยวจีนเยอะ เดือนหนึ่งก็น่าจะหลายหมื่นใบ” นายพิพนธ์กล่าว

Advertisement

ตั้งโรงงาน-น้ำยางแลกที่นอน

นายนิพนธ์กล่าวว่า เงินทุนสร้างโรงงานที่ขอกู้ไว้ประมาณ 400 ล้านบาท รออย่างเดียวคืออนุมัติเงินกู้ วันที่ 26 มกราคมจะประชุมชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางบึงกาฬ เพื่อเรียกทุนมาตั้งโรงงานขนาดเล็กก่อน เพราะตอนนี้ตลาดมาเเล้ว กว่าจะอนุมัติเงินต้องรอสร้างโรงงานอีก 8 เดือน จะทำเป็นโรงงานเล็กก่อน ผลิตน่าจะอยู่ที่ 200-300 ใบ ใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน โรงงานขนาดเล็กเสร็จเริ่มผลิตหมอนออกมาจำหน่ายได้

“โรงงานเเห่งนี้ถือเป็นของเกษตรกรทั้งจังหวัด การทำหมอนเป็นการระบายยางอีกทางหนึ่ง ถ้าโรงงานเสร็จรับซื้อน้ำยาง ข้อดีอย่างเเรกคือ น้ำยางที่เราซื้อไม่ต้องหยอดกรด เกษตรกรประหยัดเงิน สารพิษตกค้างก็ไม่มี เกษตรกรได้เงินเพิ่มทันทีจากราคาวันนี้ ชุมชนสหกรณ์บวกเพิ่มได้กิโลกรัม (กก.) ละ 5 บาท ต่อไปคนบึงกาฬต้องได้ใช้หมอนเเละที่นอนคุณภาพดี จะทำโครงการเอาน้ำยางเเลกที่นอน ใช้น้ำยางพารามาผ่อนที่นอนเเทนเงินสดราคาพิเศษ เช่นสมมุติที่นอนราคา 30,000 บาท คนบึงกาฬซื้อในราคา 15,000 บาท ใช้น้ำยางเเทนโดยไม่มีดอกเบี้ยเเม้เเต่บาทเดียว” นายพิพนธ์กล่าว

Advertisement

เปิดวงเสวนาเลี้ยง3สัตว์ดำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เวทีปราชญ์ชาวบ้าน มีการเสวนาในหัวข้อ “รู้ สู้ อยู่รอดด้วย 3 ดำ (ไก่ดำ หมูดำ วัวดำ) โดย นสพ.วิศุทธิ์ เอื้อกิ่งเพชร หัวหน้างานศึกษาและพัฒนาด้านปศุสัตว์ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาโครงการตามพระราชดำริ อำเภอภูพาน จ.สกลนคร กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำปศุสัตว์รูปแบบใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาปศุสัตว์ระหว่างเสด็จฯมาเยือน มีใจความสำคัญ อาทิ พันธุ์สัตว์จะต้องเป็นสัตว์เลี้ยงง่าย ใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงแบบง่าย กินอาหารในท้องถิ่นได้ เหมาะกับสภาพอากาศและทนต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ และเมื่อเลี้ยงแล้วจะต้องไม่ขาดทุนขายแล้วมีกำไร พบว่าสัตว์ชนิดแรกนำมาพัฒนาได้คือ ไก่ดำ ใช้เวลาพัฒนา 4-5 ปี เช่นเดียวกับหมูพันธุ์เหมยซาน ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีน เป็นสายพันธุ์ดีมาก มีลูกดก แต่ไขมันเยอะ จึงนำมาปรับปรุงพันธุ์ผสมกับหมูพื้นเมืองสกลนครและหมูสายพันธุ์ของยุโรป ทำให้กลายเป็นหมูสายพันธุ์ภูพานมีลูกดกและไขมันน้อย เลี้ยงง่าย จึงเรียกว่าเป็นหมูดำภูพาน ส่วนการพัฒนาสายพันธุ์วัว ทางศูนย์ศึกษาวัวทาจิมะ เป็นวัวที่นำเนื้อไปทำเนื้อโกเบ แต่เมื่อนำมาเลี้ยงในสกลนครจะต้องมีวิธีขุนแบบใหม่ เช่น นวดตัวแบบแผนไทย ให้กินสาโท ปล่อยให้อยู่ในอากาศร้อน วิธีการแบบไทยก็ทำให้ได้เนื้ออร่อยไม่แพ้ญี่ปุ่น จนสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานชื่อเป็นโคเนื้อภูพาน” นสพ.วิศุทธิ์กล่าว

แนะนำเลี้ยงเสริมในสวน

น.สพ.วิสุทธิ์กล่าวว่า ในช่วงราคายางตกต่ำ ขอแนะนำให้เกษตรกรชาวสวนยางเลี้ยงวัวโคเนื้อภูพานเสริม แม่วัวสามารถขอสนับสนุนน้ำเชื้อจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานได้ หากประชาชนขอมาก็ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ใช้เวลาเพียง 8 เดือนก็สามารถจำหน่ายลูกได้ หรือหากต้องการขุนเพื่อผลิตเนื้อ ใช้เวลาเพียงไม่นานก็จะได้เนื้อคุณภาพดี ส่วนการเลี้ยงหมู ก็เหมาะกับเกษตรกรที่มีต้นทุนของอาหารหมูอยู่แล้ว เพราะต้องใช้ต้นทุนอาหารสูง เช่น การเลี้ยงหมูในโรงเรียน เพราะหมูจำเป็นต้องกินเศษอาหาร หรืออีกกรณีหนึ่งคือการเลี้ยงโดยการปล่อย หรือเลี้ยงในสภาพเปิด เติบโตช้าแต่คุณภาพดี เกษตรกรน่าจะเลี้ยงวัว เพราะมีต้นทุนไม่สูงมากและไม่จำเป็นต้องเสียค่าดูแลรักษามากนัก วัวที่เกิดจากสายพันธุ์ของวัวภูพาน เป็นวัวคุณภาพดี ตัวลูกจะขายได้มากกว่าตัวแม่แน่นอน ในระยะยาวมีกำไรมาก” น.สพ.วิสุทธิ์กล่าว

แห่ร่วมอบรมอาชีพเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องอบรมอาชีพ สอน 13 หลักสูตรคาวหวาน เครื่องดื่ม โดยเชฟชื่อดังจากมติชนอคาเดมี วันนี้เป็นการอบรมการทำติ่มซำจักรพรรดิ และสเต๊กสูตรเด็ด มีประชาชนให้ความสนใจร่วมอบรมอาชีพเป็นจำนวนมาก โดย น.ส.ปานบัว บุนปาน รองกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า งานประจำปีของจังหวัดบึงกาฬ เริ่มจัดครั้งแรกต้นปี 2555 ตอนนั้นเป็นงานยางพาราอย่างเดียว ทางคณะผู้จัดงาน ได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ อบจ.บึงกาฬ และนายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีมองว่า น่าจะพัฒนาเป็นงานระดับภูมิภาคได้ จึงมาคุยกันและก็เห็นตรงกัน จนร่วมจัดด้วยครั้งแรกในปลายปี 2555 เป็นงานวันยางพาราบึงกาฬเต็มรูปแบบ ช่วงนั้นราคายาพาราสูง คนมาชมงานจับจ่ายคึกคัก ต่อมาผนวกรวมงานกาชาดบึงกาฬ กลายเป็นงานใหญ่มาก คนเฝ้ารอประจำทุกปี ในส่วนการฝึกอบรมอาชีพที่มติชนอคาเดมี นำเชฟและหลักสูตรต่างๆ มาเปิดสอนนั้น เริ่มต้นเมื่อปีที่แล้ว ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการอย่างมาก

“ปีแรกพบว่าร้านอาหารในจังหวัดไม่ค่อยมี จึงเน้นเรื่องการประกวดอาหารของแต่ละอำเภอ มีเชฟของมติชนอคาเดมีร่วมเป็นกรรมการตัดสิน เมื่อประกวดแล้วก็ได้เห็นข้อเด่นข้อด้อยต่างๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการสาธิตการทำอาหารให้ชมบนเวที แต่ยังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น ตั้งแต่ปีที่แล้วเป็นต้นมา จึงเปิดอบรมอาชีพ เดิมคิดว่าแต่ละคอร์สจะรับประมาณ 40 คน แต่กลายเป็นว่ามีผู้สนใจมาก บางคอร์สคนร่วมอบรมถึง 60 คน” น.ส.ปานบัวกล่าว

เชื่อยกระดับอาหารบึงกาฬ

น.ส.ปานบัวกล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ได้พัฒนาพื้นฐานทักษะการทำอาหาร อย่างปีแรก พวกอาหารจานเดียว อาทิ ข้าวมันไก่ ข้าวขาหมู หอยทอด ฯลฯ ปีนี้กลายเป็นเรื่องติ่มซำ เบเกอรี่ และเครื่องดื่มต่างๆ ทุกปีเราคุยกับทางจังหวัดและผู้ประกอบการในจังหวัดว่าอยากได้อะไร แล้วจะนำหลักสูตรมาเปิดสอนให้ ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ชาวบ้านบอกต่อกันเยอะมาก เพราะเหมือนยกมติชนอเคาเดมีมาไว้ที่งาน การอบรมก็มีแจกตำราหลักสูตรอาหารตามที่พัฒนามา แจกชุดผ้ากันเปื้อน รวมถึงประกาศนียบัตรว่าได้ผ่านหลักสูตร การเรียนพยายามให้ทุกคนลงมือทำจริง คนมาอบรมจึงชอบมาก วิทยากรของเราปลื้มมากที่เห็นคนบึงกาฬตื่นตัวขนาดนี้

“ในอนาคตอยากเห็นคนทั่วไปนำไปทำกินเอง กินเลี้ยง หรือทำอาหารถวายพระ ส่วนผู้ประกอบการก็จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวมาสู่จังหวัดบึงกาฬมากขึ้น ต่อไปใครมาบึงกาฬจะรู้ว่าอาหารจานเด็ดคืออะไร มาแล้วห้ามพลาดกินอะไร ไปกินร้านไหน เชื่อว่าปีหน้าเกิดแน่ มาเที่ยวจังหวัดบึงกาฬสามารถหากินของอร่อยได้แน่ ที่สำคัญได้เปรียบจังหวัดอื่นๆ เพราะมีวัตถุดิบเยอะมาก” น.ส.ปานบัวกล่าว

ชาวบึงกาฬคว้าแชมป์กรีดยาง

ด้านการแข่งขันกรีดยางในวันสุดท้าย เพื่อเฟ้นหาสุดยอดนักกรีดยางระดับจังหวัด เพื่อไปรอแข่งขันการกรีดยางระดับอาเซียนที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 มกราคมนี้ โดยมีผู้ให้ความสนใจสมัครรวมทั้งสิ้น 34 ราย โดยมาจาก จ.สกลนคร 4 ราย ขอนแก่น 2 ราย ปราจีนบุรี 1 ราย มหาสารคาม 1 ราย และจากกรุงเทพฯอีก 1 ราย ซึ่งหลังจากใช้เวลาแข่งขันไปกว่า 2 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า นายสมบูรณ์ แสนอาด จาก อ.เมืองบึงกาฬ เป็นผู้ชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัล 4,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายอดิศักดิ์ ตุ๋ยศักดา ชาว อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ รับเงินรางวัล 3,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ น.ส.ธนาพร พรหมผัน ชาว อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร รับเงินรางวัล 2,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 2 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาท ได้แก่ นายเทพคงคา สาขา ชาว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร และนายราวี ไชยสุข ชาวอ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ

น.ส.ธนาพรกล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วได้มาเข้าร่วมแข่งขันการกรีดยางพารา แต่ไม่ได้รับรางวัลอะไรเลย จึงกลับไปตั้งใจฝึกฝนการกรีดยาง โดยอาศัยช่วงเวลากลางคืนออกมากรีดยาง ช่วยสามีเป็นประจำทุกวัน ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 25 ไร่ และรับจ้างกรีดอีก 7 ไร่ ให้กับญาติพี่น้องที่รู้จักกัน ครั้งนี้ดีใจที่ได้รับรางวัลแม้จะไม่ใช้รางวัลที่ 1 ก็ตาม แต่หลังจากนี้กลับไปบ้าน จะใช้เวลาว่างฝึกซ้อมกรีดยาง เพื่อมาเข้าร่วมแข่งขันการกรีดยางระดับอาเซียนต่อไป

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image