พ่อเมืองพิษณุโลกรับมือภัยแล้ง จัดรอบเวรแบ่งจ่ายน้ำเขื่อนแควน้อย ลดปลูกนาปรัง

นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เปิดเผยถึงการเตรียมการรับมือกับปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ว่า ในปีนี้ทางจังหวัดพิษณุโลกได้เร่งสำรวจพื้นที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมกับมีการเตรียมพื้นที่สำหรับเก็บกักน้ำไว้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอนครไทย บางระกำ วัดโบสถ์ พรหมพิราม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ไม่ให้น้ำไหลออกไปจากพื้นที่ทั้งหมด เพื่อเกษตรกรจะได้มีน้ำใช้ทำการเกษตร มีการจัดสรรรอบเวรแบ่งจ่ายน้ำจากเขื่อนแควน้อยบำรุงแรง เพื่อใช้ทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา อย่างเหมาะสม พร้อมกันนี้ ยังได้มีการทำฝายชะลอน้ำ ฝายมีชีวิต ในหลายพื้นที่เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด จากการสำรวจทั้ง 9 อำเภอของจังหวัดพิษณุโลก พบพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งในเวลานี้แล้วจำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ และพื้นที่ตำบลทับยายเชียง ตำบลดงประคำ อำเภอพรหมพิราม

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของสำนักงานเกษตรจังหวัดพิษณุโลก พบว่ามีเกษตรกรปลูกข้าว จำนวน 553,909 ไร่แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 311,739 ไร่ นอกเขตชลประทาน 242,170 ไร่ การสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีจำนวนทั้งสิ้น 94,645.86 ไร่ แบ่งไปในเขตชลประทาน 23,839.51 ไร่ นอกเขตชลประทาน 70,806.35 ไร่ และมีการสำรวจพบพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ได้รับความเสียหายแล้ว จำนวน 3,500 ถึง 4,000 ไร่

นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้จังหวัดพิษณุโลกได้เตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้ง โดยได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง โดยปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพืชหลากหลาย ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วเขียว แตงโม พืชผัก ข้าวโพดหวาน เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังได้มีการแนะนำส่งเสริมให้มีการปลูกพืชที่เหมาะสมในเขตโซนนิ่งที่ทางเกษตรจังหวัดกำหนด มีการส่งเสริมให้เกษตรกรประกอบอาชีพอื่นในช่วงฤดูแล้ง เช่น เพาะเห็ด การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาจำนวนทั้งสิ้น 7,595 ราย พื้นที่ 73,913.5 ไร่ ประสานงานกับชลประทานจังหวัดพิษณุโลกเกี่ยวกับประสานงานข้อมูลเรื่องน้ำ เพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งนี้อย่างใกล้ชิด

โดยข้อมูลน้ำในเขื่อนแควน้อยบำรุงแดนวันที่ 22 ก.พ.62 มีน้ำเก็บกัก 481.39 ล้าน ลบ.ม (51.27%) ใช้การได้ 438.39 ล้าน ลบ.ม.(48.93%) น้ำไหลเข้า 0.14 ล้าน ลบ.ม ระบายน้ำ 3.02 ล้าน ลบ.ม.

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image