รับเหมาหญิงติดป้ายทวงหนี้ ผอ.เปิดใจ ถูกเบี้ยวค่าสร้าง รร. หนี้ 5 ล้าน ดอกเบี้ยบาน นาถูกยึด

“ยายแก้ว” รับเหมาหญิงติดป้ายทวงหนี้ ผอ.บนสะพานลอยกลางเมืองกาฬสินธุ์ เปิดใจหลังถูกเบี้ยวค่าจ้างก่อสร้างโรงเรียน 5.2 ล้านบาท ต้องกัดฟันดิ้นรนหาเงินจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารและดอกเบี้ยเงินกู้เดือนละกว่า 1 แสนบาทมานานกว่า 3 ปี เผยได้รับผ่อนส่งจ่ายเพียง 3 แสน จากหนี้ 5.2 ล้านบาท ทำให้ที่นาถูกยึด และต้องนำบ้านจำนอง แต่ไร้วี่แววหน่วยงานต้นสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาช่วยเหลือ

จากกรณีนางวิจิตรา บุญรัตน์ หรือยายแก้ว อายุ 51 ปี ผู้รับเหมาหญิง ชาว ต.ห้วยโพธิ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นำป้ายไวนิลขนาดใหญ่ ซึ่งมีข้อความคล้ายกับเป็นการทวงหนี้ระบุว่า “ผอ.สั่งทำงาน งานเสร็จ ไม่มีเงินจ่าย ใครจะรับผิดชอบ” และ “ผอ.เห็นพวกเราเป็นคนมั้ย สงสารพวกเราบ้างหรือเปล่า” มาติดไว้บนสะพานลอยบริเวณหน้าโรงเรียนกาฬสินธุ์พิทยาสรรพ์ ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองกาฬสินธุ์ เนื่องจากต้องการขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หลังจากถูกอดีต ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ว่าจ้างให้ก่อสร้างปรับปรุงโรงเรียนจนแล้วเสร็จหลายโครงการ แต่กลับไม่ยอมจ่ายเงินจำนวน 5,200,000 บาท จนทำให้ครอบครัวเป็นหนี้สินที่นาถูกยึดไม่มีเงินจ่ายค่าแรงคนงาน ซึ่งเวลาผ่านมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับเงิน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์  นางวิจิตรายังคงพาคนงานไปทำงานรับเหมาต่อเติมบ้านให้กับชาวบ้านในพื้นที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ เหมือนปกติอย่างเช่นทุกวัน เนื่องจากต้องเร่งหาเงิน เพื่อที่จะนำมาจ่ายค่าแรงให้กับคนงาน และเตรียมเงินไว้จ่ายค่าดอกเบี้ยให้กับธนาคารที่นำบ้านไปจำนอง และร้านวัสดุก่อสร้างต่างๆ ที่ไปเซ็นวัสดุก่อสร้างมาใช้ก่อน รวมทั้งดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบที่ไปกู้ยืมมา ซึ่งรวมแล้วกว่า 100,000 บาทต่อเดือน หลังจากถูกอดีต ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนแห่งหนึ่งในตัว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เบี้ยวค่าก่อสร้างเป็นจำนวนเงินกว่า 5,200,000 บาท

นางวิจิตรากล่าวว่า หลังจากได้รับการว่าจ้างให้ทำการปรับปรุงตกแต่งโรงเรียนกมลาไสย อ.กมลไสย จ.กาฬสินธุ์ ในช่วงปี 2558-2559 เช่น ย้ายหอพระ ปูตัวหนอน ทาสี ซ่อมแซมบ้านพักครูฯลฯ โดยมีการการทำสัญญาว่าจ้างทุกครั้ง เนื่องจาก ผอ.ขณะนั้นอ้างว่าตนสามารถประสานงานด้านงบประมาณจากส่วนกลางในการพัฒนาโรงเรียนได้ ตนจึงเชื่อใจและได้สำรองค่าใช้จ่าย พร้อมอุปกรณ์ทั้งหมด ซึ่งรวมแล้วประมาณ 5,200,000 บาท แต่หลังส่งมอบงานเสร็จทุกโครงการแล้ว ผอ.คนดังกล่าวกลับบอกว่าให้รอ ผอ.คนใหม่มารับตำแหน่งก่อนจึงจะจ่ายเงินได้ แต่เมื่อ ผอ.คนใหม่เข้ามากลับบอกว่าทางโรงเรียนเงินไม่เพียงพอในการจ่ายค่าจ้าง

Advertisement

นางวิจิตรากล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวทำให้ตนเสียหายอย่างมากทำให้กิจการรับเหมาก่อสร้างขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินหมุนเวียน และไม่มีเงินไปจ่ายค่าแรงคนงานรวม 35 คน จำเป็นต้องนำบ้าน ที่ดิน ไปจำนองกับธนาคารกรสิกรไทย 1,200,000 บาท ธนาคารไทยพาณิชย์ 1,200,000 บาท กู้หนี้นอกระบบมาอีก 500,000 บาท นำที่นาไปจำนอง 450,000 บาท รวมทั้งหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างอีก 400,000 บาท อีกทั้งยังมีหนี้ไฟแนนซ์รถยนต์ ซึ่งรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 5,000,000 บาท เพื่อนำเงินมาหมุนเวียนจ่ายค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้าง ทำให้ปัจจุบันตนต้องด้นรนหาเงินเพื่อไปจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินที่กู้ยืมมาเดือนละกว่า 100,000 บาท ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ครอบครัวต้องขายทรัพย์สินเกือบทั้งหมดที่หามาทั้งชีวิตเพื่อไปใช้หนี้ จนทำให้ล่าสุดที่นาจำนวน 5 ไร่ที่นำไปจองนองถูกยึดแล้ว เพราะรอเงินจำนวนที่ทางโรงเรียนค้างจ่าย

นางวิจิตรากล่าวว่า อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวตนและผู้รับเหมารวมแล้วกว่า 10 คน พยายามติดตามทวงถามกับทางอดีต ผอ.และทางโรงเรียน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ก็ยังไม่วี่แววที่จะได้เงินจำนวนดังกล่าวครบ ซึ่งทาง ผอ.คนปัจจุบันนั้นได้ดำเนินการจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาปีละ 1,000,000 บาท แต่หากเฉลี่ยกันแล้ว 10 รายจะได้เงินคืนรายละ 100,000-200,000 บาทต่อปีเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้รับการผ่อนจ่ายจากทางโรงเรียนครั้งแรกในปี 2560 จำนวน 200,000 บาท และในปี 2561 จำนวน 1 แสนกว่าบาท รวมแล้วจำนวน 3 แสนกว่าบาท จากเงินที่ค้าง 5,200,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้หนี้ที่กู้ยืมมา โดยเฉพาะดอกเบี้ย ซึ่งต้องจ่ายเป็นรายเดือน

นางวิจิตรากล่าวอีกว่า ทั้งนี้ที่ผ่านมาตนได้ดำเนินการทางกฎหมาย โดยการแจ้งความกับตำรวจ แต่เนื่องจากสัญญาการว่าจ้างทำงานก่อสร้างนั้นมีอายุความเพียง 2 ปี จึงไม่สามารถแจ้งความได้ ต้องนำเรื่องเข้าไปขอความเป็นธรรมและช่วยเหลือจากศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานยุติธรรม และผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งก็ได้รับการช่วยเหลือในด้านทนายความและการประสานงานเพื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพราะมีอายุความ 3 ปี ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวนั้นจะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งค่าทนายความและวางมัดจำศาลรวมแล้วกว่า 4 แสนบาท อีกทั้งกว่าจะดำเนินการฟ้องร้องกันต้องใช้เวลานานกว่า 3 ปี แต่หากทางโรงเรียนยื่นอุทธรณ์ก็จะใช้เวลานานไปอีก 10 ปี ซึ่งตนจะต้องหาเงินมาจ่ายค่าดอกเบี้ยอีกจำนวนมาก และเกรงว่าจะไม่สามารถจ่ายไหว จนทำให้บ้าน ที่ดิน รถยนต์ถูกยึดไปเหมือนที่นา จึงต้องการให้หน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียนกมลาไสย และหน่วยงานต้นสังกัด ผอ.คนดังกล่าว โดยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตลอดจน สพม.24 เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ด้วย เพราะไม่ใช่เป็นความเดือดร้อนของตนคนเดียว แต่เป็นความเดือดร้อนของคนงานด้วย ซึ่งหากครั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ดำเนินการให้ตนก็จะเข้าไปยื่นเรื่องถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเดินหน้าขอความเป็นอย่างถึงที่สุด

Advertisement

ด้านนายเกตร์ ต้าวคำตัน อายุ 49 ปี คนงานรับเหมาก่อสร้างของนางวิจิตรา กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในคนงานก่อสร้างที่เข้าไปทำงานในโรงเรียนกมลาไสย ซึ่งช่วงนั้นก็ทำงานอย่างเต็มที่เนื่องจากเป็นสถานศึกษา เพื่อให้ลูกหลานมาเรียนหนังสือ แต่เมื่อทำงานเสร็จแล้วกลับไม่ได้รับค่าจ้าง ทำให้คนงานต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่าใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ และส่งลูกเรียนหนังสือ ยอมรับว่าลำบากมาก แต่โชคดีที่นางวิจิตรา ที่เป็นนายจ้างเห็นใจนำที่นา ที่บ้านไปจำนอง เพื่อนำเงินมาจ่ายค่าแรง ดังนั้น อยากเรียกร้องให้ผู้ที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับนางวิจิตราด้วย เพราะเราทำงานอย่างใจซื่อ สุจริต แต่กลับถูกรังแก ไม่ยอมจ่ายเงินจึงเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image