มันอินทรีย์ ตอบโจทย์รัฐ ยกระดับ ‘อุบลราชธานี’ สู่ออร์แกนิคสากล

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่สนามกีฬา กลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ต.นาดี อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี นายอนันต์ ปรีชาวุฒิวงศ์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานเปิดงานวันสาธิตการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ “4 ดี : สุขภาพดีผลผลิตดี ระบบนิเวศดี รายได้ดี” ชูหลักตลาดนำการผลิตเกษตรอินทรีย์พร้อมสร้างฐานสาธิตเชิงปฏิบัติการแบบบูรณาการ ยกขบวนวิทยากรทั้งภาครัฐภาคเอกชน และเกษตรกรต้นแบบ ครบทีมติวเข้ม ประกอบด้วยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี กรมส่งเสริมการเกษตร /สำนักงานวิจัยพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ศูนย์วิจัยพืชไร่ศูนย์วิจัยวิศวกรรมขอนแก่น กรมวิชาการเกษตร /สถานีพัฒนาที่ดินอุบลราชธานี กรมพัฒนาที่ดิน /สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี / เกษตรกรต้นแบบรุ่น 1 – 2และกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ให้กับหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรจำนวน 400 รายตัวแทนจาก 15 อำเภอในจังหวัดอุบลราชธานี

การอบรมสาธิตมันอินทรีย์ในปีนี้ จัดทั้งหมด 10 ครั้ง ในพื้นที่ขยายจุดรับซื้อมันอินทรีย์นำร่องครั้งแรกบุกโรงแป้งมันแปรรูปมันอินทรีย์ปฐมฤกษ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกร ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ เกษตรกรจะได้รับการอบรมผ่านฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 8 ฐาน ดังนี้ ฐานที่ 1 รู้ดิน โดย สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานีฐานที่ 2 รู้ปุ๋ย โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 ฐานที่ 3 รู้พันธุ์ โดยศูนย์วิจัยพืชไร่อุบลราชธานี ฐานที่ 4 การจัดการแปลงในระบบอินทรีย์ โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 และกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ฐานที่ 5 อารักขาพืช โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี ฐานที่ 6 เครื่องจักรกลการเกษตร โดยศูนย์วิจัยวิศวกรรมขอนแก่น ฐานที่ 7 สุขภาพคนมันอินทรีย์ โดยสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ฐานที่ 8 เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ โดยกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล และเกษตรกรต้นแบบ

นายอนันต์ ปรีชาวุฒิวงศ์ กล่าวว่า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 ประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ ได้กำหนดจุดยืน (POSITIONING) ในการพัฒนาเป็น “ศูนย์กลางของนวัตกรรมเกษตรแปรรูปและเกษตรอินทรีย์” Hub Of InnovationFor Specialized And Organic Agriculture (HI-SO Agriculture) ตามนโยบายการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ของรัฐบาลเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้สูงขึ้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความยั่งยืนของอาชีพเกษตรในระยะยาว จังหวัดอุบลราชธานี มุ่งเป้าเป็น “อุบลราชธานีแห่งเกษตรอินทรีย์” ภายในปี 2564 ให้ได้
1,000,000 ไร่ ในทุกพืชโดยเฉพาะมันสำปะหลังอินทรีย์ที่มีตลาดรองรับแน่นอน พร้อมตอบโจทย์ 4 ดี :สุขภาพดี ผลผลิตดี ระบบนิเวศดี รายได้ดี” จากสโลแกนของปีนี้ “4 ดี :สุขภาพดี ผลผลิตดี ระบบนิเวศดี รายได้ดี”ถอดรหัสมาจากประสบการณ์ของเกษตรกรต้นแบบรุ่นพี่

นางสมพิศ บัญกาที เกษตรกรต้นแบบรุ่นที่ 2 อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี เล่าว่า ภายหลังจากเข้าร่วมโครงการฯ ไม่ใช่สารฆ่าหญ้า ทำให้มี “สุขภาพดี” ได้อบรมเรียนรู้วิธีการเพิ่มผลผลิตจากกรมวิชาการเกษตรไปปรับใช้ปีนี้ได้ผลผลิต 4 ตันต่อไร่ที่ 33 เปอร์เซ็นต์แป้งตามมาด้วย“ผลผลิตดี”

Advertisement

ด้านนายชุมพล เวชสิทธิ์ เกษตรกรต้นแบบรุ่นที่ 1 อ.นาเยีย จ.อุบลราชธานี อดีตข้าราชการครูที่ผันตัวมาเป็นเกษตรกร เล่าว่า การเพาะปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์สอดคล้องกับวิถีความชอบของตนเป็นทุนเดิมอยู่แล้วพื้นที่แนวกันชนเป็น 80 ไร่ เป็นแนวกันชนธรรมชาติใช้ปุ๋ยหมักจากอินทรีย์วัตถุดิบที่หาเองในสวน มีการบำรุงดินด้วยปอเทืองความสมดุลที่ทำสม่ำเสมอทำให้แปลงและสวนรอบบ้านมี “ระบบนิเวศดี” สามารถเจอพืชพรรณที่เกิดตามธรรมชาติ เห็ดป่า ฯลฯ มากมาย

การยกระดับเกษตรกรไม่เพียงแต่งดสารเคมีแต่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “อินทรีย์”ไม่ใช่แค่ความสะอาด ไม่ใช้สารเคมี หรือมกระบวนการมาจากธรรมชาติเท่านั้นจะทำเกษตรอินทรีย์อย่างไรให้ขายได้เป็นราคา ยกระดับสู่สากลได้ต้องคำนึงถึงความหมายของอินทรีย์ให้ลึกซึ้ง กล่าวคือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมันสำปะหลังอินทรีย์ต้องผ่านกระบวนการควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนสามารถได้เอกสารรับรองทุกมาตรฐานที่ลูกค้าต้องการ ได้แก่ (1)มาตรฐานอินทรีย์ไทยแลนด์ มกษ 9000-2552 (THAILAND ORGANIC) (2) มาตรฐานอินทรีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา(USDA-NOP) (3) มาตรฐานอินทรีย์กลุ่มประเทศยุโรป (EU ORGANIC) (4) มาตรฐานอินทรีย์ ประเทศญี่ปุ่น(JAPANESE AGRICULTURAL ORGANIC STANDARD;JAS) (5) มาตรฐานอินทรีย์ประเทศเกาหลี (KOREAN ORGANIC STANDARD) และ (6) มาตรฐานอินทรีย์ประเทศจีน (CHINA ORGANIC) ซึ่งทุกมาตรฐานผ่านได้ถ้าเกษตรกรมีความตั้งใจซื่อสัตย์ ทางการตลาดก็พร้อมที่จะพาเกษตรกรไปสู่มาตรฐานสากล เข้าประเด็นWIN-WIN ปลูกได้ดีมีคุณภาพ ขายของได้มีคุณภาพเช่นกันซึ่งขอบอกว่างานดีไม่มีค่าใช้จ่าย ขอแค่มีเวลาและความตั้งใจจริง

ด้านการตลาด นางสาวกัณฑ์พร กรรณสูต ตัวแทนกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล กล่าวว่า ปัจจุบันแป้งมันออร์แกนิคเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างมากเพราะแป้งมันออร์แกนิคสามารถแปรรูปให้เป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food)และอาหารเพื่อสุขภาพได้หลากหลายสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในการเป็นส่วนผสมอาหารพรีเมียมในแต่ละเมนูได้เราควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำคือแปลงเกษตรกรไปจนถึงการผลิตไปจนถึงขนส่งถึงลูกค้า มีการประกันราคาที่สูงกว่าตลาดในปีนี้ในเกษตรกรที่มาส่งที่โรงงานถ้าผ่านมาตรฐานอินทรีย์แล้วเรารับซื้อที่กิโลกรัมละ4 บาท 30% เปอร์เซ็นต์แป้งหากมีเกษตรกรที่สนใจตอนนี้เราเปิดรับสมัครรุ่นที่ 4แล้วสามารถติดต่อมาที่โรงงานได้โดยตรงค่หมดเขต 31 มีนาคมนี้

Advertisement

กิจกรรมในครั้งนี้จัดเพื่อมุ่งเน้นให้เกษตรกรหันมาปรับเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีในแปลงมันมาสู่การทำอินทรีย์ แม้ว่าจะขับเคลื่อนตามนโยบายภาครัฐแต่สุดท้ายความยั่งยืนเกิดจากการทำอย่างจริงจังในพื้นที่มีคนปลูกก็ต้องมีคนซื้อ มีคนผลิตก็ต้องมีคนสนับสนุนจะเห็นว่าปีนี้ก้าวเข้าสู่การขยายพื้นที่แสดงผลถึงการทำได้จริงในพื้นที่ต้นแบบนำร่องตั้งแต่ปี 2558 เริ่มที่ 4 อำเภอ คือ อ.นาเยีย อ.สว่างวีระวงศ์ อ.วารินชำราบ และ อ.พิบูลมังสาหารขยายผลได้ไปถึงรวมกันเป็น 15 อำเภอ ได้แก่ อ.โขงเจียม อ.ศรีเมืองใหม่อ.สิรินธร อ.ตระการพืชผล อ.ดอนมดแดง อ.ตาลสุม อ.โพธิ์ไทร อ.เขมราฐ อ.กุดข้าวปุ้น อ.นาตาล อ.เหล่าเสือโก๊ก ซึ่งในระหว่างวันที่ 4 – 8 มีนาคม 2562 นี้ ทางโครงการฯมีการขยายผลอบรมให้ทั่วถึง พร้อมยกระดับเกษตรกรให้ได้ 50,000 ไร่ภายในปี 2565 นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image