“วิศัลย์” ตอกลิ่มต้องยกเลิกหลุมเจาะ STN-2 ใกล้โบราณสถานอายุ 1,300 ปีอย่างเดียว

นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์

“วิศัลย์”ตอกลิ่มต้องยกเลิกหลุมเจาะ STN-2 ใกล้โบราณสถานอายุ 1,300 ปีอย่างเดียว จวกกรมเชื้อเพลิงอย่าลอยตัว จี้ให้แสดงท่าทีชัดๆและรับผิดชอบจากเหตุการณ์นี้ ย้ำยังไม่ยกระดับการคัดค้านรอดูท่าทีกรมเชื้อเพลิงฯ พอใจเกิดเครือข่ายร่วม ทำให้เกิดพลังปกป้องโบราณสถานที่จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโก

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ในฐานะแกนนำเครือข่ายต่อต้านการขุดเจาะปิโตรเลียมใกล้โบราณสถานเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นพิธีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบูรณ์ว่า ณ เวลานี้จุดยืนของชาวเพชรบูรณ์ยืนยันต้องการให้มีการยกเลิกหลุมขุดเจาะ STN-2 อย่างถาวร โดยเฉพาะท่าทีหลังสุดของทางบริษัทฯที่บอกว่า จะชะลอการขุดเจาะเพื่อจะหาข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ชาวเพชรบูรณ์ยังคลางแคลงใจว่าทำไมไม่ประกาศให้ชัดเจนว่า จะไม่มีขุดเจาะบริเวณตรงนี้หรือยกเลิกหลุมขุดเจาะ STN-2 ใกล้โบราณสถานเขาคลังนอกอย่างเด็ดขาด การจะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหาจุดอื่นที่จะทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนก็ไปหารือกันในภายหลังก็ได้ เพื่อให้ชาวเพชรบูรณ์นักวิชาการและนักโบราณคดีหายครางแคลงใจ ฉะนั้นบริษัทฯต้องมีท่าทีให้ชัดเจนกว่านี้

“เวลานี้ท่าทีของบริษัทฯเชื่อว่ายังกั๊กไว้แน่นอน เพราะการชี้แจงของตัวแทนบริษัทก็ระบุว่า ถ้าทำได้โดยไม่กระทบกระเทือนมรดกโลกหรือโบราณสถานก็อาจจะกลับมาดำเนินการ ตรงนี้ถือว่ายังไม่สำนึกและไม่ให้เกียรติชาวเพชรบูรณ์ ณ เวลานี้ยังไงก็ต้องยกเลิกไปเลย ส่วนจะคงไว้ซึ่งชื่อหลุมเจาะ STN-2 ตรงบริเวณอื่นก็เป็นเรื่องของบริษัทฯทำงานร่วมกับทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แต่เฉพาะตรงบริเวณจุดใกล้แหล่งโบราณสถานเมืองศรีเทพ ทางบริษัทต้องมีท่าทีให้ชัดเจนกว่านี้” นายวิศัลย์กล่าว

ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า กรมเชื้อเพลิงเป็นหน่วยงานที่ให้สัมปทานกับบริษัทนี้ ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดหลุมขุดเจาะใกล้แหล่งโบราณสถานหรือไม่ตรงนี้ยังไม่ทราบ เพราะฉะนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะต้องมาออกพูดหรือแถลงให้ชัดเจนไม่ใช่ลอยตัวอย่างนี้ โดยจะต้องออกมาพูดชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้นตรงจุดนี้ ใครเป็นคนกำหนดซึ่งกรมเชื้อเพลิงหรือบริษัทฯเป็นผู้กำหนด แล้วกรมเชื้อเพลิงก็ต้องออกมาแสดงความรับผิดกันคนทั้งประเทศด้วยว่า ต่อไปจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้และมีมาตรการอย่างไร จะลอยตัวโดยให้ทางบริษัทฯตอบคำถามเองเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพื่อทางกรมเชื้อเพลิงฯจะได้สรุปบทเรียนร่วมกับทางบริษัทฯ ไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับโบราณสถานซึ่งไม่ใช่แค่เมืองศรีเทพเท่านั้น แต่เป็นโบราณสถานทั้งประเทศอีกด้วย

Advertisement

นายวิศัลย์ยังกล่าวอีกว่า ความพอใจขณะนี้เป็นแค่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้นโดยประการแรกคือพลังประชาชนในการร่วมกันปกป้องดูแลเมืองศรีเทพและเขาคลังนอก กลับเป็นปัจจัยบวกทำให้ทางยูเนสโกเห็นว่า คนเพชรบูรณ์ตื่นตัวสามารถรวมตัวกันจนเกิดพลังปกป้องโบราณสถานที่จะขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของยูเนสโกได้ ฉะนั้นจะเป็นปัจจัยให้ยูเนสโกได้เห็นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลก

นายวิศัลย์กล่าวอีกว่า ความพอใจอีกประการเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดเครือข่ายที่จะเฝ้าระวังในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นในจังหวัดเพชรบูรณ์หรือแม้กระทั่งในพื้นที่เขตอำเภอและตำบลศรีเทพเองก็เกิดเครือข่ายมากมาย ที่ทีคอยเฝ้าจับตาพร้อมส่งข้อมูลเบื้องลึกขึ้นมาถึงเครือข่ายหลัก จนทำให้เกิดความผูกพันและร่วมเป็นพันธมิตรในการปกป้องดูแลแหล่งโบราณสถานแงะโบราณคดีเหล่านี้

จากเดิมที่ไม่เคยรู้จักไม่เคยพูดคุยกัน แต่เวลานี้มีการจับมือเกิดเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังค่อนข้างใหญ่ ทั้งนักวิชาการในการขุดเจาะปิโตรเลียมก็มาให้ข้อมูล นักวิชาการด้านโบราณคดีอาทินายสุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการอาวุโสด้านโบราณคดีที่ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเองและถึงกับตอกย้ำด้วยว่าจะไม่ทนหลังศรีเทพถูกรุกรานไปมากแล้ว ถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายในระดับประเทศที่ช่วยปกป้องโบราณสถานแห่งนี้ขึ้นมาอีกระดับ

นายวิศัลย์กล่าวว่าอีก ส่วนการจะยกระดับการต่อต้านคัดค้านหรือไม่ว่า ตรงนี้คงต้องให้เกียรติซึ่งกันแงะกัน เป็นการวางยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมการยกระดับโดยยังไม่ถึงเวลาจะทำให้ขาดพลัง ขอเสียงสะท้อนและดูปฎิกิริยาจากกรมเชื้อเพลิง กรมศิลปากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆก่อน จากนั้นจะประชุมหารือร่วมกับเครือข่ายแนวร่วมว่า สมควรจะยกระดับการต่อต้านคัดค้านเมื่อไหร่และใช้มาตรการไหน จึงขอดูท่าทีความชัดเจนจากหน่วยราชการเหล่านี้ก่อน

นายวิศัลย์กล่าวว่า ในวันที่ 8 มีนาคมที่จะถึงซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยจะมีการหยิบยกเรื่องการขึ้นบัญชีชั่วคราวเมืองศรีเทพก่อนจะเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลกนั้น โดยวัตถุประสงค์ของการขึ้นทะเบียนมรดกโลกคือการอนุรักษ์ การบริหารจัดการที่ยั่งยืน ซึ่งในทางวิชาการทางกรมศิลปากรได้จัดทำไว้แล้ว ในเชิงการมีส่วนร่วมประชาชนและดูแลปกปักษ์รักษา ตรงนี้เป็นปัจจัยที่จะต้องนำเสนอเข้าไปด้วย เพื่อให้เห็นว่าชาวเพชรบูรณ์มีศักยภาพแล้ว พร้อมกันนั้นเรื่องการให้ความรู้ในพื้นที่ต่างๆก็จะมีประกอบไปด้วย

“เพราะฉะนั้นผมได้คุยกับทางกรมศิลปากรเพื่อให้ยกเหตุการณ์กรณีนี้ไปพูดในคณะกรรมการบอร์ดใหญ่ระดับประเทศว่า ต่อไปการส่งสัญญาณออกไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องการอนุมัติสัมปทานน้ำมันปิโตรเลียมก็ดีหรือเหมืองแร่ก็ดี หรือสิ่งใดๆที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้างจะต้องคำนึงถึงโบราณสถานสิ่งต่างๆเหล่านี้ด้วย” ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image