ชาวบ้านบุฮมบุกแจ้งความ กก.กองทุนออมวันละบาท พบ ไม่โปร่งใส ขาดสภาพคล่อง แต่เก็บเงินสมาชิกทุกปี

เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่หน้าบริเวณ สภ.เชียงคาน ได้มีชาวบ้านตำบลบุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย กว่า 100 คน ซึ่งเป็นตัวแทนสมาชิกกองทุนออมหมู่บ้านวันละบาท ทั้ง 11 หมู่บ้าน ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับเจ้าพนักงาน ให้ดำเนินคดีกับคณะกรรมการกองทุน เนื่องจากคณะกรรมการทำงานไม่โปร่งใส ไม่มีการประชุมชี้แจ้ง เงินกองทุนสูญหาย ทำงานล่าช้า ของให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจการบริหารการเงินของกองทุน

นางสาวเจนจิรา มังบัว แกนนำ เปิดเผยว่า ตนและชาวบ้านเดินทางมา สภ.เชียงคาน เพื่อมาขอดำเนินการแจ้งความกับคณะกองทุนเงินออมวันละบาท ในตำบลบุฮม ตนเคยเข้าร้องเรียนทั้งศูนย์ดำรงธรรม ทั้ง อบต.บุฮม และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเชียงคาน แต่เรื่องก็เงียบไป ไม่มีความคืบหน้า และไม่มีเจ้าหน้าเข้าตรวจสอบแต่อย่างใด มีแต่เรียกชาวบ้านเข้ามาไกล่เกลี่ยจนเวลาผ่านไปรวมปี ก็ไม่มีความคืบหน้า ซึ่งกองทุนเงินออมวันละบาทในตำบลบุฮมได้ตั้งเมื่อปี 2553 มีสมาชิกกองทุนมากว่า 2,000 คน เริ่มแรกต้องสมัครสมาชิกโดยจ่ายค่าหุ้นของกองทุนคนละ 200 บาท และเก็บค่าเงินออม 365 บาทต่อปี และมีเงินของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนช่วยเหลือตั้งกองทุนอีกประมาณ 300,000 บาท และเงินสนับสนุนของ อบต.บุฮม ช่วยเหลือตั้งกองทุนอีก 30,000 บาท ซึ่งมีคณะกรรมการกองทุนเป็นคนดำเนินการและดูแล มีอดีตกำนันเป็นสตรีคนหนึ่งเป็นประธาน โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์ให้ชาวบ้านออกมเงินเข้ากองทุนวันละบาท เพื่อจะนำไปเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิกกองทุน ในเรื่องการรักษาค่าพยาบาลในยามเจ็บป่วย ค่าคลอดลูก จนถึงค่าทำศพ

“ช่วงแรกก็ออกมาตามวัตถุประสงค์ พอมาช่วงหลัง ปัญหาเกิดประมาณช่วง 4-5 ปี เงินในกองทุนเริ่มขาดสภาพคล่องโดยไม่รู้สาเหตุ คณะกรรมการงุบงิบกันเอง ไม่เคยมีการประชุมชี้แจงเงินกองทุนคงเหลือเท่าไร แต่มีการเรียกเก็บเงินสมาชิกทุกปี และไม่ทราบว่าสถานะของสมาชิกมีอยู่เท่าไรในปัจจุบัน เวลาสมาชิกป่วยเข้าโรงพยาบาล บางครั้งก็เบิกได้ บางครั้งก็ได้ช้า ยิ่งมีสมาชิกตาย กว่าจะได้เงินก็ช้ามาก การทำงานของคณะกรรมการไม่โปร่งใส สมาชิกขอให้มีการเปิดประชุมก็เลี่ยง ไม่เปิดการประชุมมาร่วม 4-5 ปี จึงอยากเรียกร้องเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้”

ต่อมา นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ทราบเรื่องและให้ตัวแทนสมาชิกเข้าชี้แจง และได้เปิดเผยว่า ทั้งหมดที่ชาวบ้านเดือดร้อนในตำบลบุฮมมีทั้งหมด 7 กองทุน โดยสรุปให้ทางจังหวัดโดยพัฒนาการจังหวัดเข้าไปตรวจสอบ ติดตามคดี โดยให้รองผู้บังคับการดูและเรื่องคดี ในเรื่องการฉ้อโกงประชาชน และให้กองทุนยุติธรรมเข้าช่วยเหลือให้การสนับสนุน โดยทั้งหมดให้นายพรชัย ถมกระจ่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image